อธิบายเรื่อง “ค่าโสหุ้ย” Overhead Cost ไว้เป็นไอเดียจัดการ ต้นทุนทางอ้อมของธุรกิจ
17 ก.ย. 2024
Overhead Cost หรือ “ค่าโสหุ้ย”
นิยามง่าย ๆ คือค่าใช้จ่ายที่ “ไม่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการโดยตรง”
แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายสม่ำเสมอ เพื่อให้ธุรกิจสามารถรันต่อไปได้
ดีเทลเรื่องนี้เป็นอย่างไร สำคัญอย่างไรกับธุรกิจ
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
สมมติว่าถ้าเราเปิดร้านขายไก่ทอด ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายอย่างเช่น
- ค่าใช้จ่ายวัตถุดิบอย่าง ไก่ดิบ แป้ง และน้ำมันทอดไก่
- เงินเดือนพนักงานทอดไก่ (ถ้าเราไม่ได้ทอดขายเอง)
2 ต้นทุนข้างบนนี้ คือตัวอย่างของ ต้นทุนทางตรง
แต่แน่นอนว่าการทำร้านไก่ทอดขึ้นมา เราต้องมีต้นทุนทางอ้อมอย่างอื่นด้วย
ตัวอย่างเช่น
- ค่าวัสดุสิ้นเปลืองในร้าน อย่างเช่น ค่ากระดาษทิชชู, ช้อนส้อมพลาสติก
- ค่าสาธารณูปโภค อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ
- ค่าเช่าที่ ค่าตกแต่งร้านให้สวยงาม
- ค่าโปรโมตทำการตลาด
- ค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ หรือค่าประกันหน้าร้าน
ค่าใช้จ่ายรวม ๆ เหล่านี้ ที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าโดยตรง เราจะเรียกว่า “ค่าโสหุ้ย” หรือ Overhead Cost
เพื่อให้เข้าใจโมเดลธุรกิจ และโครงสร้างต้นทุนมากขึ้น
เราไปดูค่าโสหุ้ย หรือ Overhead Cost จากธุรกิจอื่น ๆ นอกจากเคสร้านอาหารดูบ้าง
1. ธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า
มีต้นทุนทางตรง เช่น
- ค่า Raw Material หรือ ค่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิต
- ค่าแรงทางตรง หรือ Direct Labor ซึ่งเป็นค่าแรงของพนักงานที่อยู่หน้างาน หรืออยู่ในไลน์การผลิต
ส่วนต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost เช่น
- ค่าเช่าที่
- ค่าเสื่อมราคาของโรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์
- ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ที่ใช้ในการผลิต
- ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร
- เงินเดือนพนักงานออฟฟิศ อย่างเช่น วิศวกร ฝ่ายบัญชี ฝ่ายจัดซื้อ หรือผู้จัดการ
ที่คอยสนับสนุนฝ่ายผลิตอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้มีผลต่อสินค้าโดยตรง
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าประกัน
2. ธุรกิจห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต
มีต้นทุนทางตรง เช่น
- ค่าสินค้าที่สั่งซื้อเข้ามาวางขายในร้าน
- เงินเดือนพนักงานแคชเชียร์ พนักงานจัดเรียงสินค้า เพราะพนักงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าโดยตรง
ส่วนต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost ก็อย่างเช่น
- ค่าเช่าที่
- ค่าน้ำ ค่าไฟ
- ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ เช่น เครื่องชงกาแฟ ตู้เย็น
- เงินเดือนพนักงานรักษาความปลอดภัย
- ค่าทำการตลาดและโปรโมชัน
3. ธุรกิจโรงแรม
มีต้นทุนทางตรง เช่น
- เงินเดือนพนักงานบริการ พนักงานต้อนรับ พนักงานทำความสะอาดที่เกี่ยวข้องกับงานบริการลูกค้าโดยตรง
- ต้นทุนค่าอาหารภายในโรงแรม
ต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost ก็อย่างเช่น
- ค่าเสื่อมราคาของอาคาร และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในโรงแรม
- เงินเดือนผู้จัดการโรงแรม พนักงานบัญชี พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่คอยสนับสนุนงานบริการต่าง ๆ
- ค่าทำการตลาด โฆษณาโรงแรม และโปรโมตโรงแรมผ่านเว็บจองห้อง
4. ธุรกิจบริษัทรถตู้ รถทัวร์
มีต้นทุนทางตรง เช่น
- เงินเดือนพนักงานขับรถ
- ค่าน้ำมัน
ต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost ก็อย่างเช่น
- ค่าประกันรถ ค่าตรวจเช็ก และซ่อมบำรุงรถ
- เงินเดือนพนักงานออฟฟิศ อย่างเช่น พนักงานขายตั๋ว พนักงานทำบัญชี
5. ธุรกิจโรงพยาบาล
มีต้นทุนทางตรง เช่น
- เงินเดือนค่าจ้างหมอ และพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง
- ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่ายารักษาโรค
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
ต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost ก็อย่างเช่น
- ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร อุปกรณ์
- เงินเดือนพนักงานฝ่ายการเงิน และฝ่ายบัญชี
ทีนี้มาดูตัวอย่างเคสจริง ของโรงงานผลิตชาเขียว อิชิตัน
ถ้าเราไปดูรายได้ และโครงสร้างต้นทุนของ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป เราก็จะเห็นว่า
ทุก ๆ รายได้ 100 บาท
จะหักต้นทุนทางตรง
- ต้นทุนค่าวัตถุดิบ 47 บาท
- ต้นทุนค่าแรงทางตรง ในไลน์ผลิต 2 บาท
เมื่อหักต้นทุนทางตรงแล้ว ก็จะเหลือเป็นกำไรทั้งหมด 51 บาท
ซึ่งตรงนี้ก็จะดูเหมือนว่าเยอะมาก ๆ
แต่ถ้าเราลองเอากำไรที่ได้ ไปหักค่าโสหุ้ย หรือต้นทุนทางอ้อม อย่างเช่น
- ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ 7 บาท
- ค่าสาธารณูปโภค อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าแก๊ส 4 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต 16 บาท
- ค่าโฆษณา และโปรโมตสินค้า 5 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการ นั่นคือ
เงินเดือนพนักงานออฟฟิศ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับออฟฟิศ และค่าที่ปรึกษา 2 บาท
จะเห็นว่าเครืออิชิตัน มี Overhead Cost หรือต้นทุนทางอ้อม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย
ที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการรันธุรกิจอีก 34 บาท
เมื่อหักลบกันแล้ว เครืออิชิตัน ก็จะมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 51 บาท - 34 บาท = 17 บาท
และเมื่อนำกำไรจากการดำเนินงาน ไปหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและภาษีเงินได้แล้ว
รายได้ทุก ๆ 100 บาท จะคิดเป็น Net Profit หรือกำไรขั้นสุดท้าย = 13.6 บาท
จากเคสของเครืออิชิตัน เราจะเห็นว่า รายได้ทุก ๆ 100 บาท
จะมีต้นทุนทางตรง อย่างค่าวัตถุดิบ และค่าแรงทางตรงอยู่ที่ 49 บาท
และมี Overhead Cost หรือ ต้นทุนทางอ้อม อย่างค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ และค่าโปรโมตสินค้าอยู่ที่ 34 บาท
ซึ่งถึงแม้ว่าต้นทุน Overhead Cost จะไม่เยอะเท่ากับต้นทุนทางตรง
แต่ Overhead Cost ก็ถือว่ามากพอ ที่จะมีผลต่อกำไรขั้นสุดท้ายของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
จากเคสนี้ ทำให้เราเห็นว่าการทำธุรกิจสักอย่าง
เราจะต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นจากการรันธุรกิจ
ให้ครอบคลุมทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านต้นทุนทางตรง หรือต้นทุนทางอ้อมอย่าง Overhead Cost
เหมือนกับเคสร้านไก่ทอด ที่เวลาเราบริหารร้าน เราก็ต้องดูต้นทุนทั้งหมด ที่ไม่ใช่แค่ต้นทุนทางตรง
อย่างต้นทุนวัตถุดิบ หรือต้นทุนพนักงานเพียงอย่างเดียว
เราก็จำเป็นต้องควบคุมต้นทุนยิบย่อยต่าง ๆ
อย่างต้นทุนทางอ้อม หรือ Overhead Cost ด้วย เช่น ค่าวัสดุสิ้นเปลือง หรือค่าโปรโมตร้าน
เพื่อให้ร้านอาหารหรือธุรกิจของเรา สามารถทำกำไรได้ และมีเงินสดเข้ากระเป๋าจริง ๆ
โดยไม่มีต้นทุนที่จมไปกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากเกินไป
References
- 56-1 One Report บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป