วิธีตั้งราคา แบบ Cost Plus Pricing บวกกำไร ขึ้นไปจากต้นทุน พร้อมตัวอย่างใช้จริง

วิธีตั้งราคา แบบ Cost Plus Pricing บวกกำไร ขึ้นไปจากต้นทุน พร้อมตัวอย่างใช้จริง

17 ส.ค. 2024
Cost Plus Pricing อธิบายง่าย ๆ คือ 
เป็นการตั้งราคาขาย โดยการบวกกำไรที่เราอยากจะได้ เพิ่มจากต้นทุน เพื่อให้ได้ราคาขายสุดท้าย
โดยใช้สูตรง่าย ๆ คือ
ราคาขาย = ต้นทุนทั้งหมด + กำไรของสินค้า
โดยต้นทุนทั้งหมดที่ว่า ก็คือ
- ต้นทุนคงที่ คือต้นทุนที่ไม่ว่าจะขายของได้สักกี่ชิ้น ต้นทุนส่วนนี้ก็ยังต้องจ่ายออกไป
อย่างเช่น ต้นทุนค่าแรง, ค่าเช่าที่, ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเสื่อมราคา
- ต้นทุนผันแปร คือต้นทุนที่แปรผัน ไปตามสินค้าที่เราขายได้ 
อย่างเช่น ต้นทุนค่าวัตถุดิบ, ค่าบรรจุภัณฑ์
ซึ่งก่อนที่เราจะรู้ ว่าจะต้องตั้งราคาขายเท่าไร เราจำเป็นต้องคิดต้นทุนทั้งหมดในการผลิต ที่กล่าวมาให้ได้ก่อน 
แล้วจึงเอาต้นทุนตรงนั้น มาคิดเป็นต้นทุนสินค้าเฉลี่ยต่อหน่วย
เมื่อได้ต้นทุนสินค้าต่อหน่วยที่แท้จริงแล้ว เราก็จะเอาต้นทุนสินค้าต่อหน่วยมาบวกกับกำไรที่เราต้องการ แล้วจึงได้เป็นราคาขายต่อหน่วยนั่นเอง
ซึ่งวิธีการบวกกำไร โดยปกติแล้ว จะนิยมบวกกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์
มาดูตัวอย่างการคำนวณให้เห็นภาพ
ยกตัวอย่างเช่น เราเปิดร้านอาหารแล้วมีต้นทุนตามนี้
ต้นทุนคงที่
- เป็นค่าแรงรายวัน หารด้วยจำนวนอาหารที่คาดว่าขายได้เฉลี่ยต่อวัน 15 บาท/จาน
- เป็นค่าเช่าที่ หารด้วยจำนวนอาหารที่คาดว่าขายได้เฉลี่ยต่อวัน 10 บาท/จาน
- เป็นต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่น ๆ เฉลี่ย 5 บาท/จาน
ต้นทุนผันแปร 
- เป็นต้นทุนวัตถุดิบเท่ากับ 70 บาท/จาน
หมายความว่า ถ้ารวมต้นทุนตามสมมติฐานนี้ ต้นทุนต่อจานได้ทั้งหมดจะเท่ากับ 100 บาท 
ทีนี้ถ้าเราต้องการกำไร 20% ก็เท่ากับว่า เราต้องขายอาหารให้ได้ เฉลี่ยจานละ 120 บาท นั่นเอง
ซึ่งนี่คือหลักการคำนวณตามสมมติฐานที่บอกข้างต้น แต่ความยากก็คือ เราต้องประเมินให้ดี ๆ ว่าในแต่ละวัน เราจะมียอดขายประมาณไหน
ยิ่งทำได้แม่น การประเมินต้นทุนต่อหน่วยสินค้าที่เราขาย ก็จะยิ่งทำได้ถูกต้องแม่นยำ
นอกจากนี้ การตั้งราคาขายแบบ Cost Plus Pricing ก็ยังถูกนำมาใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมด้วย
ซึ่งเราเอาตัวอย่างบริษัทหนึ่งมาให้ดู คือ KJL หรือ บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค 
บริษัทนี้เป็นบริษัททำตู้ไฟ หรือกล่องไฟ ให้กับบ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ 
ด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้ เราก็พอจะแยกโครงสร้างต้นทุน ของโรงงานผลิตตู้ไฟและกล่องไฟได้ดังนี้
ต้นทุนคงที่ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยอดขาย อย่าง
- ค่าเสื่อมราคาที่ดิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ 
- ค่าจ้างพนักงานทั้งรายวัน และรายเดือน
- ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร
ต้นทุนผันแปร ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยอดขาย อย่าง
- ต้นทุนวัสดุ หรือ Raw material ที่ใช้สำหรับการผลิตตู้ไฟ เช่น โลหะแผ่น สีผง นอต-สกรู
- ต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ขึ้นอยู่กับกำลังผลิตของเครื่องจักร
- ต้นทุนค่าล่วงเวลา หรือ OT ซึ่งแปรผันไปตามยอดสั่งซื้อจากลูกค้า
- ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า
ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ ก็ต้องนำมารวมกัน แล้วคิดถัวเฉลี่ยเป็นต้นทุนต่อหน่วย แล้วบวกเปอร์เซ็นต์กำไรที่เราต้องการ
สมมติว่า KJL ทำตู้ไฟขึ้นมา 1 ตู้ มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยทั้งหมดอยู่ที่ 2,000 บาท
และ KJL ต้องการขายโดยการบวกกำไรไปอีกสัก 15% 
ก็เท่ากับว่า KJL จะต้องขายตู้ไฟนี้ที่ราคา 2,300 บาท นั่นเอง
References
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค 
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.