อธิบายเรื่อง LEED มาตรฐานอาคาร ที่โครงการดัง ๆ ในไทย อยากได้รับการรับรอง

อธิบายเรื่อง LEED มาตรฐานอาคาร ที่โครงการดัง ๆ ในไทย อยากได้รับการรับรอง

27 ก.ค. 2024
รู้ไหมว่าโครงการอย่าง
-ONE BANGKOK เมกะโปรเจกต์ย่านถนนพระราม 4 
-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ย่านสีลม 
-สินธร วิลเลจ ย่านหลังสวน 
-True Digital Park 101 ย่านปุณณวิถี 
และโครงการอีกหลายแห่งรวมกว่า 400 โครงการทั่วประเทศ ต่างก็ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคาร ชื่อว่า LEED 
LEED เป็นมาตรฐานอาคารสีเขียว จากสหรัฐอเมริกา 
ซึ่งมาตรฐานสีเขียวนี้ไม่ได้คำนึงแค่กระบวนการและผลกระทบจากการก่อสร้าง แต่ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ และสภาพแวดล้อมของผู้อยู่อาศัยในโครงการนั้น ๆ ด้วย  
มาตรฐาน LEED มีรายละเอียดอะไรที่ต้องรู้บ้าง ?
ทำไมหลายบริษัทตอนนี้กำลังให้ความสำคัญ 
BrandCase สรุปให้แบบเข้าใจง่าย ๆ 
-LEED ย่อมาจากคำว่า Leadership in Energy and Environmental Design 
ซึ่งเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร 
โดยระบบการประเมินของ LEED นั้นแทบจะรองรับรูปแบบอาคารทุกประเภท 
ไม่ว่าจะเป็น บ้านพักส่วนตัว มหาวิทยาลัย โรงแรม หรืออาคารสำนักงาน ทั้งเก่าและใหม่สามารถใช้ LEED ในการประเมินได้หมด 
โดยหลัก ๆ LEED จะแบ่งเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มด้วยกัน นั่นก็คือ 
1. Building Design and Construction (BD+C) 
หมายถึง ระบบประเมินโครงการสร้างใหม่ หรือโครงการที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ 
2. Interior Design and Construction (ID+C) 
หมายถึง ระบบประเมินโครงการเก่าที่มีการออกแบบภายในใหม่ 
3. Building Operations and Maintenance (O+M) 
หมายถึง ระบบประเมินโครงการเก่า ที่มีการปรับปรุงเล็กน้อย แทบไม่มีการก่อสร้างอะไรใหม่เลย 
4. Neighborhood Development (ND) 
หมายถึง ระบบประเมินระดับเมืองหรือหมู่บ้าน เช่น แคมปัส มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือ รัฐเท็กซัส 
5. Homes 
หมายถึง ระบบประเมินสำหรับบ้านครอบครัวเดี่ยวไม่เกิน 3 ชั้น หรือบ้านสำหรับหลายครอบครัว แต่ไม่เกิน 3 ชั้น หรือบ้านหลายครอบครัวมากกว่า 4 ชั้นขึ้นไป 
ซึ่งถ้าจำนวนชั้นนั้นสูงกว่า 4 ชั้น ก็สามารถไปอยู่ในหมวดของ BD+C ได้เช่นกัน  
และถ้าใครอยากรู้ว่าที่อยู่อาศัย หรือโครงการของเรานั้นอยู่ในการประเมิน LEED กลุ่มไหน ก็สามารถเข้าไปทดลองทำแบบทดสอบได้ ที่เว็บไซต์ https://www.usgbc.org/discoverleed/ 
ส่วนการให้คะแนน LEED หรือ LEED Scores นั้น จะแบ่งเป็นเกณฑ์การให้คะแนนจาก 7 หมวดหลัก ๆ คือ 
1. การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน 
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- การเพิ่มพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว ลดการเกิดน้ำท่วมล้น ลดการก่อมลภาวะทางแสง
- การประเมิน ก่อนและหลังการก่อสร้างอาคาร ว่ามีผลต่อสัตว์ พืช ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นอย่างไรบ้าง
2. ที่ตั้งและการคมนาคมขนส่ง 
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- ลดการใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทาง การบริหารจัดการที่จอดรถอย่างมีประสิทธิภาพ
- ที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นคอมมิวนิตี สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ซื้อของ ออกกำลังกาย ไปธนาคาร โดยใช้การคมนาคมน้อยที่สุด
3. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- การลดปริมาณความต้องการน้ำสะอาดให้น้อยที่สุดที่ใช้ในส่วนต่าง ๆ ของโครงการ 
- การปลูกต้นไม้หรือพืชที่ลดการรดน้ำ หรือไม่ต้องรดน้ำเลย 
4. พลังงานและบรรยากาศ 
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- ลดปริมาณการใช้พลังงาน สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทน 
- การใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองว่าผลิตจากพลังงานทดแทน
5. วัสดุและทรัพยากร
ตัวอย่างการประเมิน เช่น
- เลือกใช้วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง มีการเตรียมพื้นที่คัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล 
- การลดขยะจากการก่อสร้าง การใช้วัสดุรีไซเคิล การใช้วัสดุพื้นถิ่น 
6. คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- ควบคุมสภาวะอากาศภายในอาคารเพื่อสภาวะอยู่สบายและสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยพิจารณาในเรื่องการระบายอากาศ
-การใช้แสงธรรมชาติและการออกแบบอาคารให้มองเห็นบรรยากาศภายนอก รวมถึงการป้องกันการเกิดเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้น
7. Innovation Design 
ตัวอย่างการประเมิน เช่น 
- นำวิธีการหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีกำหนดในมาตรฐานมาใช้ รวมถึงการทำได้มากกว่าที่เกณฑ์กำหนด
- การแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าในทุกมิติของการให้คะแนนนั้น จะคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนในโครงการ ชุมชนโดยรอบ และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก 
นั่นทำให้โครงการที่ได้รับการรับรองจาก LEED นั้น ถือเป็นโครงการที่ยืนยันได้ว่า ให้ความสำคัญกับการออกแบบและการใช้งานที่คิดมาเยอะ
ซึ่งเรื่องนี้ก็สำคัญในมุมของนักพัฒนา คนทำธุรกิจ หรือแม้แต่คนที่ทำที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ด้วย..
 References 
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.