อธิบายเรื่อง ทำไมสินค้ารักษ์โลก มักจะมีราคาแพง ในมุมเศรษฐศาสตร์
28 ก.ค. 2024
ในยุคที่ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรง ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับสินค้ารักษ์โลกมากขึ้น
สินค้าเหล่านี้จะผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามเราจะสังเกตได้ว่าสินค้ารักษ์โลกนั้น ก็มีข้อจำกัดสำคัญ คือมักมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป
แล้วทำไมสินค้ารักษ์โลก ถึงมักจะมีราคาแพง ?
เรื่องนี้อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ผ่านเรื่องของต้นทุน และอุปสงค์ อุปทาน
BrandCase จะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ
- ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าปกติ (High Manufacturing Costs)
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สินค้ารักษ์โลกนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น
แต่มันจะเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำในการผลิตจนถึงปลายน้ำ
โดยสินค้ารักษ์โลกจะใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งบางทีอาจจะมีราคาแพงกว่าวัตถุดิบทั่วไปตามท้องตลาด
ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้อย่างขวดพลาสติก
ที่มีวัตถุดิบตั้งต้นเป็นพลาสติกหรือวัสดุรีไซเคิล ที่จะมีราคาแพงกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป
ซึ่งการที่เรานำวัสดุดังกล่าวมาใช้ก็จะหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย
และนอกจากจะต้องหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว การหาซัปพลายเออร์ที่จะผลิตสินค้าให้กับเราก็สำคัญเช่นกัน
เพราะหลายบริษัทที่ทำสินค้ารักษ์โลก ดูไปถึงเบื้องหลังจริยธรรมของซัปพลายเออร์ด้วย
อย่างเช่น บริษัทซัปพลายเออร์ ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติไหม
หรือมีกระบวนการจัดการขยะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากพอไหม
นอกจากนี้สินค้ารักษ์โลกบางชนิดต้องขอใบรับรองสินค้าออร์แกนิกอีกด้วย
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองนั้นก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน
หมายความว่า บริษัทที่เป็นซัปพลายเออร์อาจมีต้นทุนทางอ้อมที่สูงขึ้น
ซึ่งหมายความว่าราคาวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์เหล่านี้ ก็จะสูงขึ้นด้วยนั่นเอง
- Demand หรือ ความต้องการสินค้าในตลาด ยังมีน้อย
เรื่องนี้ก็เป็นผลพวงต่อมาจากข้อแรก คือพอต้นทุนสินค้ารักษ์โลก สูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันทั่วไป
อุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการของผู้บริโภค เลยไม่ค่อยเกิด..
แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังกันเพิ่มมากขึ้น
โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยจำนวน 37.6%
มีความตั้งใจที่จะทำทุกอย่างและยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
แต่ถ้าลองสมมติเหตุการณ์ง่าย ๆ ว่า
เราไปซื้อข้าวกล่อง ที่ข้างในเป็นเมนูกะเพราหมูสับไข่ดาวเหมือนกัน
- กล่องแรก ใส่กล่องโฟม ราคา 50 บาท
- กล่องที่สอง ใส่กล่องที่ทำจากวัสดุรักษ์โลก ย่อยสลายได้เอง ราคา 53 บาท
เชื่อว่าคนที่เลือกกล่องที่สอง คงมีไม่เยอะเท่ากล่องแรกแน่นอน
พอเป็นแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรต่อ ?
มันก็จะวนกลับไปเป็นเหตุให้เกิดปัญหาข้อแรก คือ ไม่สามารถกดต้นทุนต่อหน่วยการผลิตให้ต่ำลงได้ เพราะไม่เกิดการผลิตในระดับ Mass Production มากพอ ..
เรื่องนี้จะไปเกี่ยวกับอีกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ได้ยินกันบ่อย ๆ คือ Economies of scale หรือการประหยัดต่อขนาด
คอนเซปต์ของคำนี้อธิบายง่าย ๆ คือ การที่ “ต้นทุนต่อหน่วยลดลง จากการผลิตสินค้าที่มากขึ้น”
โดยต้นทุนของการทำธุรกิจ แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
- ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือ ต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อย ก็ยังต้องจ่ายเท่าเดิม เช่น ค่าเครื่องจักร ค่าจ้างพนักงาน
- ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือ ต้นทุนที่แปรผันไป ตามจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น ค่าวัตถุดิบตั้งต้น
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ก็อย่างเช่น
ถ้าเราผลิตน้ำ 100,000 ขวดต่อวัน มีต้นทุนรวม 300,000 บาท แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 200,000 บาท และเป็นต้นทุนคงที่ 100,000 บาท
หมายความว่า ต้นทุนรวมต่อขวด คือ 3 บาท
คือเป็นต้นทุนคงที่ต่อขวด เท่ากับ 1 บาท
และต้นทุนผันแปรต่อขวด เท่ากับ 2 บาท
ต่อมาเราผลิตน้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 200,000 ขวด ต่อวัน
ทำให้ต้นทุนผันแปรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเช่นกัน เป็น 400,000 บาท
ขณะที่ต้นทุนคงที่เท่าเดิม ที่ 100,000 บาท
หมายความว่า ตอนนี้ น้ำดื่มที่เราผลิต จะมีต้นทุนรวมเท่ากับ 500,000 บาท
แต่ต้นทุนรวมต่อขวด ลดลงเหลือเท่ากับ 2.5 บาท
ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรต่อขวดที่ 2 บาท
และต้นทุนคงที่ต่อขวดที่ 0.5 บาท
เราจะเห็นว่า ต้นทุนคงที่ต่อขวดนั้น ลดลง เมื่อเราเพิ่มการผลิตน้ำดื่มมากขึ้น
เพราะรายจ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ ถูกกระจายไปยังน้ำดื่มแต่ละขวดได้มากขึ้น
ซึ่งนี่ก็คือ ความหมายของการเกิด Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดนั่นเอง
สรุปคือ สินค้ารักษ์โลก ที่หลายอย่างต้องขายแพง เรื่องสำคัญเพราะเจอปัญหาเรื่องกดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ยาก
ทั้งจากราคาตัววัตถุดิบตั้งต้นเอง และทั้งจากฝั่ง Demand ที่มีน้อยเพราะไม่อยากซื้อของแพง
ซึ่งสุดท้ายก็วนเป็นลูปที่ขายถูกไม่ได้ไปแบบนี้เรื่อย ๆ
แล้วทางแก้คืออะไร ?
ก็ยกตัวอย่างเชิงนโยบาย เช่น รัฐบาลหลายประเทศที่อยากให้คนใช้รถ EV ที่รักษ์โลกกว่ารถสันดาป ก็ใช้วิธีให้เงินอุดหนุนคนซื้อรถ EV หรือให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
ซึ่งการทำแบบนี้ ก็ช่วยดึงคนมาซื้อสินค้าเหล่านี้ได้
พอมี Demand มีความต้องการซื้อเข้ามา จนเกิดการผลิตระดับ Mass มาก ๆ สุดท้าย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็จะค่อย ๆ ลดลง
และพอต้นทุนต่อหน่วยผลิตลดลง สินค้ารักษ์โลกเหล่านี้ ก็จะขายถูกลงได้ และน่าจะแข่งขันในตลาดได้ ในที่สุด..
References