อธิบายเรื่อง Service Charge เราจ่ายเพิ่ม 10% เงินเข้ากระเป๋าใคร ?
31 พ.ค. 2024
เรื่องร้อนแรงบนโลกออนไลน์วันสองวันนี้คือ Bonchon ร้านไก่ทอดเกาหลีชื่อดัง เพิ่งโพสต์ผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊ก
ว่า จะเลิกเก็บ Service Charge หรือค่าบริการเพิ่มเติม ที่ปกติแล้วจะเก็บ 10% จากค่าอาหาร
คิดแบบเร็ว ๆ การทำแบบนี้ ในมุมผู้บริโภค ราคาอาหารท้ายบิลของร้าน Bonchon จะถูกลงทันที
จริง ๆ แล้วประเด็นเรื่อง Service Charge มีอะไรให้ชวนคุย ชวนวิเคราะห์กันเยอะ
ซึ่งเรามาดูกันไป ทีละประเด็น..
1. Service Charge คืออะไร ทำไมต้องเก็บ ?
Service Charge คือค่าบริการที่ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจบริการ สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้
ตามกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ซึ่งสามารถเก็บได้ในเพดานสูงสุดไม่เกิน 10% ของค่าอาหาร ถ้าเก็บมากกว่านี้จะมีโทษตามกฎหมาย
โดยร้านอาหารที่เก็บ Service Charge นั้นจะต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน
เช่น แจ้งในเมนูอาหาร หรือป้ายหน้าร้าน โดยความจริงแล้วลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายได้ หากไม่พอใจในการบริการของพนักงาน
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเก็บ Service Charge คือเพื่อช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนพนักงานหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ
เช่น บางกิจการเก็บ Service Charge ไปแล้วนำไปแจกจ่าย หารแบ่งให้พนักงานทั้งหมด
โดยเคสของ Bonchon ก็เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่มีการเก็บ Service Charge ในอัตรา 10% เหมือนกับร้านอาหารหลาย ๆ ร้านในไทย
2. Service Charge ร้านเก็บแล้วเงินไปไหน ? นับเป็นรายได้ของร้านหรือเปล่า ?
อย่างที่บอกในข้อ 1 ว่า Service Charge ร้านเก็บจากเราแล้ว ก็ไปแจกจ่ายให้พนักงานที่บริการเราต่อ
ซึ่งโดยทั่วไป การเก็บ Service Charge เป็นเรื่องสากลที่ทำกันในหลายประเทศทั่วโลก ในธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร
โดยที่ในทางบัญชี กิจการนั้นสามารถบันทึกรายการจาก Service Charge ได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการและนโยบายบัญชีของร้านนั้น ๆ
2 แบบที่ว่าคือ
-บันทึกรวมเป็นรายได้
กรณีที่ Service Charge เป็นส่วนหนึ่งของรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ร้านอาหารสามารถนับ Service Charge เป็นรายได้ตามปกติ
ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ ก็เท่ากับว่าค่า Service Charge ที่เก็บมา จะถูกรวมเป็นรายได้ที่ต้องนำไปยื่นจ่ายภาษีด้วย
-ไม่บันทึกรวมเป็นรายได้
กรณีที่ Service Charge ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานโดยตรง เงินที่ได้รับตรงนี้อาจถูกนับเป็นการเก็บเงินผ่านไป (Pass-through) และไม่นับรวมเป็นรายได้ของร้านอาหาร
พอไม่นับเป็นรายได้ บริษัทก็อาจจะใช้วิธีนับเงินสดที่ได้มา โดยบันทึกรายการเป็นหนี้สินแทน (เช่น เงินเดือนค้างจ่าย)
เพื่อรอนำไปจ่ายให้พนักงานเป็นรอบ ๆ เช่น ทุกสัปดาห์ หรือ จ่ายทบเข้าไปกับเงินเดือนของพนักงานของทางร้าน
ซึ่งข้อดีของการทำแบบนี้ คือร้านไม่ต้องเอาค่า Service Charge มาคำนวณเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี และสามารถส่งต่อให้พนักงานบริการได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ถ้าเป็นตามกฏหมายของไทย อ้างอิงตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร บอกไว้ว่า
ถ้าร้านอาหารในไทยมีการเก็บ Service Charge จะต้องบันทึกลงเป็น “รายได้” เพื่อนำไปเรียกเก็บ VAT และคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
หมายความว่าถ้า Bonchon ซึ่งเป็นร้านอาหารในไทย เลิกคิดค่า Service Charge
การทำแบบนี้ จะกระทบกับรายได้ของบริษัทแน่นอน
ภายใต้สมมติฐานว่า ขายสินค้าทุกอย่างราคาเท่าเดิม ได้จำนวนเท่าเดิม
หมายความว่า Service Charge ที่เราถูกเก็บไป 10% ถ้าเป็นกิจการร้านอาหารในไทย จะต้องบันทึกเข้ากระเป๋าบริษัทหรือเจ้าของกิจการก่อน
แล้วค่อยแจกจ่ายให้พนักงาน ต่อไป
3. ลองคิดเล่น ๆ ถ้า Bonchon ไม่คิดค่า Service Charge รายได้จะหายไปแค่ไหน ?
ปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด ผู้จัดจำหน่ายอาหารแบรนด์ Bonchon ในประเทศไทย
มีรายได้ 1,423 ล้านบาท กำไร 81 ล้านบาท
ถ้าสมมติว่ารายได้ทั้งหมดของบริษัท มาจากการขายอาหารเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่า Bonchon ไม่เก็บ Service Charge ในปีที่ผ่านมา
รายได้จะเหลือ (1,423 x 100) / 110 = 1,294 ล้านบาท
หรือก็คือ ลดลงไป 129 ล้านบาท นั่นเอง
สรุปอีกทีคือ ค่า Service Charge ที่กิจการร้านอาหารในไทยเก็บจากเราไป 10%
ตามหลักแล้ว ต้องถูกบันทึกบัญชีเข้ากระเป๋าเจ้าของกิจการหรือบริษัทก่อน
แล้วค่อยแจกจ่ายให้พนักงานอีกที..
#BonChon
#ServiceCharge
References
-กรมพัฒนาธุรกิจ