อธิบายเรื่อง Credit Term ให้เวลาลูกค้าจ่ายหนี้ นานเกินไป เราจะหมุนเงินไม่ทัน

อธิบายเรื่อง Credit Term ให้เวลาลูกค้าจ่ายหนี้ นานเกินไป เราจะหมุนเงินไม่ทัน

17 เม.ย. 2024
Credit Term อธิบายง่าย ๆ คือ การที่ฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขายตกลงกันว่า เมื่อทำการซื้อขายสินค้าและบริการแล้ว จะจ่ายเงินให้ภายในจำนวนวันที่กำหนด 
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ฝั่งผู้ซื้อขอนำวัตถุดิบ หรือบริการไปใช้ก่อน แล้วค่อยนำเงินมาจ่ายทีหลัง 
ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ ที่นำเอาสินค้าเข้ามาขายก่อน 
แล้วค่อยชำระเงินให้กับโรงงานผลิตสินค้าทีหลัง
ทีนี้ลองหลับตานึกภาพ ว่าจากดีลนี้ ใครจะเสียเปรียบ 
คำตอบก็คือ “โรงงานผลิตสินค้า”
การทำแบบนี้ คือการที่โรงงานผลิตสินค้า ให้ “Credit Term” กับร้านสะดวกซื้อ
แล้วความเสี่ยงของการให้ Credit Term นานเกินไป คืออะไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
สมมติว่าเราทำธุรกิจเปิดร้านสะดวกซื้อสักร้านหนึ่ง
แน่นอนว่าต้นทุนหลัก ๆ ของเรา ก็จะมาจากสินค้าที่เราสั่งมาจากซัปพลายเออร์ต่าง ๆ 
เช่น ร้านค้าส่ง หรือผู้ผลิตสินค้า
เพื่อนำมาขายต่อให้กับลูกค้า ที่เดินเข้ามาซื้อของในร้าน
ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า เจ้าของร้านสะดวกซื้อ จะต้องจ่ายเงินให้กับซัปพลายเออร์เหล่านี้ หลังจากที่ซื้อสินค้าเสร็จทันที
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลาย ๆ เจ้า ไม่ได้ทำแบบนั้น 
เพราะถึงแม้ว่า ร้านสะดวกซื้อ ได้ตกลงซื้อสินค้ากับทางซัปพลายเออร์ และได้รับสินค้านั้นมาขายต่อแล้ว
แต่ทางร้านยังสามารถขอ Credit Term กับคู่ค้า อย่างซัปพลายเออร์ เพื่อขอชำระเงินในภายหลัง
ซึ่งระยะเวลาการชำระเงิน ก็อาจเป็น 15 วัน, 30 วัน, 45 วัน, 60 วัน หรือมากกว่านั้น
ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ระหว่างร้านสะดวกซื้อและคู่ค้า
แล้ว Credit Term สำคัญอย่างไร ? ระยะเวลาในการจ่ายเงินสดที่ดี ควรเป็นกี่วัน ?
เรามาลองดูมุมมองของทั้งสองฝั่งกัน 
- ฝั่งผู้ซื้อ อย่างกรณีนี้ก็คือ ร้านสะดวกซื้อ
แน่นอนว่า เวลาเราเป็นผู้ซื้อ เราก็อยากได้ Credit Term ยาว ๆ
เพราะจะช่วยยืดระยะเวลาการชำระเงินของเรา ออกไปนาน ๆ เพื่อให้มีเงินสดนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการมากขึ้น
พูดง่าย ๆ เวลาทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
ก็ไม่ได้มีแค่ต้นทุนค่าสั่งซื้อสินค้า ที่เราต้องจ่ายเพียงอย่างเดียว 
แต่ยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีกมากมายที่เราต้องจ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่ และค่าพนักงาน
ดังนั้น การขอ Credit Term ก็คือการผ่อนผัน การชำระเงินค่าสินค้าของเราออกไป
เพื่อช่วยให้เราสามารถหมุนเงินมาจ่าย ในเรื่องที่สำคัญก่อนได้ 
หรือสามารถบริหารจัดการเงินสดได้ง่ายขึ้น 
- ฝั่งผู้ขาย อย่างกรณีนี้ก็คือ ผู้ค้าส่งหรือโรงงานผู้ผลิต ที่ขายสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้อ
ข้อดีของการให้ Credit Term กับลูกค้า คือทำให้เกิดการทำสัญญาซื้อของของเราไปได้เลย 
โดยทางฝั่งผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินเต็มจำนวนก่อน
แต่อีกมุมหนึ่ง Credit Term ที่ยืดระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีกหลาย ๆ วัน ก็ไม่ใช่ผลดีกับผู้ขายมากนัก
เพราะในมุมผู้ขาย ก็ต้องการเงินสด ไปหมุนเวียนในกิจการเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อเราขายสินค้าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เงินคืน เป็นระยะเวลานาน ๆ 
ก็จะทำให้ธุรกิจไม่มีเงินไปซื้อสินค้า หรือผลิตสินค้าเพิ่มเติม หรือใช้จ่ายในกิจการ
ซึ่งสุดท้าย ทั้งสองฝั่งก็ต้องมาคุยตกลงกัน เพื่อหาระยะตรงกลางที่โอเคกันทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนร้านสะดวกซื้อจะสามารถขอ Credit Term จากผู้ผลิตสินค้า หรือซัปพลายเออร์ ได้ยาวนานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- อำนาจต่อรองของฝั่งผู้ซื้อ 
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ 7-Eleven 
สามารถขอ Credit Term หรือยืดระยะเวลาการจ่ายเงิน ให้กับซัปพลายเออร์ได้นาน
เราลองมาดู Credit Term หรือ ระยะเวลาชำระหนี้ ของ CPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven 
ในปี 2566 ที่มี Credit Term มากถึง 64 วัน
นั่นหมายความว่า CPALL เจ้าของ 7-Eleven สามารถเลื่อนระยะเวลาการจ่ายเงินให้กับซัปพลายเออร์ได้นานถึง 64 วัน หรือยาวนานถึง 2 เดือนกว่า ๆ
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ 7-Eleven สามารถขอ Credit Term ได้ยาวนานขนาดนี้ 
เพราะ 7-Eleven นั้นมีอำนาจต่อรองสูงมาก เนื่องจากเป็นเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ที่มีสาขานับหมื่นสาขาทั่วประเทศ 
ทำให้ 7-Eleven สามารถขอเลื่อนชำระเงิน กับบริษัทซัปพลายเออร์ได้เป็นระยะเวลายาวนาน
- ระยะเวลาที่ผู้ขายรับได้ 
อย่างผู้ค้าส่งหรือโรงงานผู้ผลิต อาจต้องเจรจากับลูกค้าอย่าง 7-Eleven 
เพื่อขอให้ชำระเงินเร็วขึ้น เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องหรือหมุนเงินได้ทัน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของ Credit Term ซึ่งก็คือ
ซึ่งถ้าผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองสูง ก็สามารถต่อรองกับซัปพลายเออร์ 
เพื่อขอ Credit Term หรือเลื่อนระยะเวลาการชำระเงินได้ยาวนาน
ทำให้ผู้ประกอบการ มีระยะเวลา ในการใช้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการยาวนาน
หรือถ้าหากผู้ประกอบการ มีอำนาจต่อรองไม่สูงมาก ก็จะขอ Credit Term ได้น้อย
ทำให้ผู้ประกอบการ มีระยะเวลา ในการใช้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการน้อยลง
หรือถ้าผู้ประกอบการ ไม่สามารถขอ Credit Term ได้เลย หรือเท่ากับว่า Credit Term เป็น 0
นั่นหมายความว่า เวลาผู้ประกอบการจะซื้อวัตถุดิบ จะต้องซื้อแล้วจ่ายเงินเลยทันที
ไม่มีการขอเลื่อนจ่ายเงินกับซัปพลายเออร์
ซึ่งผู้ประกอบการ พ่อค้า หรือแม่ค้าที่เจอเคสแบบนี้ 
จะต้องบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่ให้ดี
เพื่อไม่ให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง จนกิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในที่สุด..
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.