กรณีศึกษา WHAUP บริษัทขายน้ำ ขายไฟ ให้โรงงาน ในนิคมฯ ของตัวเอง

กรณีศึกษา WHAUP บริษัทขายน้ำ ขายไฟ ให้โรงงาน ในนิคมฯ ของตัวเอง

5 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา WHAUP บริษัทขายน้ำ ขายไฟ ให้โรงงาน ในนิคมฯ ของตัวเอง | BrandCase
WHAUP เป็นบริษัทในเครือ WHA Group ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้าให้เช่า และเครือข่ายโลจิสติกส์รายใหญ่ในไทย
ธุรกิจหลักของ WHAUP คือ ขายน้ำ ขายไฟ โดยมีลูกค้าหลักคือ บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมของเครือ WHA
รวมถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
นอกจากธุรกิจหลักที่ว่านี้แล้ว WHAUP ยังมีการไปลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำ ผลิตไฟฟ้า ร่วมกับบริษัทอื่น
แล้วก็ได้ผลตอบแทนมาเป็นรายได้ของบริษัท
โมเดลของ WHAUP เป็นอย่างไร ? ทำรายได้ขนาดไหน ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
WHAUP ชื่อเต็ม ๆ คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
เป็นบริษัทในเครือ WHA Group ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้าให้เช่า และเครือข่ายโลจิสติกส์รายใหญ่ในไทย
แรกเริ่มเดิมที WHA Group เริ่มต้นจากการเป็นผู้พัฒนาโรงงาน คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า
จุดเปลี่ยนก็คือปี 2558 หลังจากที่ WHA ได้เข้าซื้อกิจการ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน
เจ้าของนิคมอุตสาหกรรม 8 แห่ง ในไทย
ซึ่งรวมถึงบริษัทที่บริการจ่ายน้ำและไฟฟ้า ให้กับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 8 แห่งด้วย
ต้องบอกว่า ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ไม่ได้ทำเพียงแค่นำที่ดินมาพัฒนา
แล้วขายให้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำเป็นโรงงานเท่านั้น
แต่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ยังต้องมีการจัดการระบบสาธารณูปโภค อย่างเช่น น้ำและไฟฟ้า
เมื่อเห็นโอกาสนี้ WHA จึงได้นำบริษัท ที่เคยส่งน้ำและไฟฟ้าให้กับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเหมราช
มามัดรวมกัน กลายเป็นบริษัทใหม่
ซึ่งก็คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP
แล้วนำ WHAUP มา IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2560
โดยปัจจุบันเครือ WHA มีนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ในประเทศไทย และอีก 1 แห่งในเวียดนาม
ยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่
อย่างเช่น Great Wall Motor, AutoAlliance (Thailand) (บริษัทร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า)
นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1
เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์ Suzuki Motor (Thailand)
และโรงงานผลิตรถยนต์ Ford Motor Company (Thailand)
เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี
เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตยางรถยนต์ Michelin Siam
และล่าสุดทาง BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
ก็ได้มาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ BYD ภายในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยองอีกด้วย
พอจะเห็นได้ว่า นิคมอุตสาหกรรม WHA กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีกแห่ง
ที่เป็นแหล่งรายได้ของคนในพื้นที่ และคนที่ทำงานสายโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน WHAUP ได้สิทธิในการให้บริการระบบสาธารณูปโภค
ให้กับโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งหมด 12 แห่งที่ว่านี้ แต่เพียงผู้เดียว
โดยโมเดลธุรกิจของ WHAUP แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
1.ธุรกิจบริหารจัดการน้ำในนิคมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น
-ขายน้ำดิบ ให้กับโรงงานปิโตรเคมี โรงงานเหล็ก และโรงไฟฟ้า
-ขายน้ำสะอาด ที่มีคุณภาพสูง สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป
-เป็นส่วนกลางให้กับนิคมอุตสาหกรรม ในการบำบัดน้ำเสีย
-ร่วมทุนกับบริษัทอื่น เพื่อขายน้ำ สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในไทย และเวียดนาม
2.ธุรกิจโรงไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์
-เป็นเจ้าของแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับติดตั้งบนดาดฟ้า หรือ Rooftop ของสถานที่ต่าง ๆ
เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ Ford ไปจนถึงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่าง เมกาบางนา
-เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยร่วมทุนกับกลุ่มโรงไฟฟ้าเจ้าใหญ่ในประเทศไทย
อย่าง GULF, GPSC และ BGRIM
สำหรับธุรกิจน้ำ แน่นอนว่า กลุ่มลูกค้าหลัก คือ โรงงานอุตสาหกรรมในนิคม WHA
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ลูกค้าหลักคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT
โดย WHAUP ขายไฟฟ้าให้กับ EGAT คิดเป็นสัดส่วน 66%
ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 34%
หากเราไปดูสัดส่วนรายได้ของ WHAUP ของปี 2565 ทุก ๆ 100 บาทเป็นดังนี้
ธุรกิจน้ำ
-รายได้จากการขายน้ำ และบริหารจัดการน้ำเสีย ทั้งหมด 76 บาท
-รายได้จากส่วนแบ่งกำไร ของธุรกิจน้ำ -8 บาท
ธุรกิจไฟฟ้า
-รายได้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 12 บาท
-ส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผล จากการลงทุนในโรงไฟฟ้า 19 บาท
และรายได้อื่น ๆ อีก 1 บาท
และล่าสุด ครึ่งปีแรกของ 2566
WHAUP มีรายได้ทั้งหมด 1,555 ล้านบาท กำไร 738 ล้านบาท
แล้วทำไมธุรกิจ ขายน้ำและไฟฟ้า ของ WHAUP จึงมีอัตรากำไรมากขนาดนี้ ? เรามาดูแยกรายธุรกิจกัน
1.ธุรกิจผลิตและขายน้ำ ของ WHAUP
จะมีต้นทุนหลัก ๆ มาจาก “ต้นทุนน้ำดิบ” สำหรับนำมาใช้ผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม
ซึ่งต้นทุนนี้ คิดเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับ รายได้จากการขายน้ำของ WHAUP
โดยปี 2564 WHAUP มีรายได้จากธุรกิจขายน้ำทั้งหมด 1,926 ล้านบาท
แต่มีต้นทุนค่าน้ำดิบเพียง 764 ล้านบาท
ปี 2565 WHAUP มีรายได้จากธุรกิจขายน้ำทั้งหมด 2,111 ล้านบาท
แต่มีต้นทุนค่าน้ำดิบเพียง 808 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ต้นทุนน้ำดิบ คิดเป็น 40% ของรายได้จากการขายน้ำทั้งหมด
ส่วนที่เหลือ ก็เป็นต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร, ค่าจ้างพนักงาน, ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและโรงผลิตน้ำ
2.ธุรกิจโรงไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์
WHAUP มีรายได้หลัก มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ตั้งอยู่บน Rooftop หรือหลังคาของสถานที่ต่าง ๆ
ซึ่งต้นทุนของธุรกิจแผงโซลาร์เซลล์ ก็จะมีแต่ต้นทุนคงที่ นั่นก็คือ ค่าเสื่อมราคา ค่าติดตั้ง และค่าบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ WHAUP ทำเองแล้ว ก็ยังได้ไปร่วมทุน กับผู้ผลิตโรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย
อย่าง GULF, GPSC และ BGRIM
ตัวอย่างโครงการ เช่น
-ร่วมทุนกับ GPSC ในโครงการโรงไฟฟ้า เก็คโค่-วัน โรงไฟฟ้าถ่านหินในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
โดย WHAUP ถือหุ้นในสัดส่วน 35%
-ร่วมทุนกับ GULF ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)
และโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ โดย WHAUP ถือหุ้นในสัดส่วน 25%
ซึ่งสำหรับโรงไฟฟ้าที่ WHAUP มีการร่วมลงทุนในสัดส่วน 20-50%
จะบันทึก ส่วนแบ่งกำไร ตามสัดส่วนการถือหุ้น มาลงในรายได้ของ WHAUP
ส่วนโรงไฟฟ้าที่ WHAUP ลงทุนในสัดส่วนน้อยกว่า 20%
WHAUP จะบันทึกเงินปันผลที่ได้ จากการลงทุนในบริษัทนั้น เป็นรายได้ของ WHAUP
เราลองมาดู ผลประกอบการของ WHAUP ช่วงที่ผ่านมา
-ครึ่งปีแรกของปี 2565 รายได้ 1,389 ล้านบาท กำไร 283 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร 20%
-ครึ่งปีแรกของปี 2566 รายได้ 1,555 ล้านบาท กำไร 738 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร 47%
ซึ่งถ้าดูแค่เฉพาะส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผลที่ WHAUP ได้
-ครึ่งปีแรกของปี 2565 มีส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผล 253 ล้านบาท
-ครึ่งปีแรกของปี 2566 มีส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผล 447 ล้านบาท
โมเดลแบบนี้ ทำให้ WHAUP มีอัตรากำไรสูง
ถ้าบริษัทได้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผล มาเยอะ ๆ นั่นเอง..
References
-WHAUP Opportunity Day Q2/2566
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/whaup/factsheet
-https://www.wha-up.com/th/about-us/milestones
-เอกสารคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ (แบบ 250-2) บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน
-https://www.longtunman.com/44328
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.