กรณีศึกษา NITMX บริษัททำ ระบบพร้อมเพย์ ที่คนใช้ทั้งประเทศ

กรณีศึกษา NITMX บริษัททำ ระบบพร้อมเพย์ ที่คนใช้ทั้งประเทศ

27 ก.ย. 2023
กรณีศึกษา NITMX บริษัททำ ระบบพร้อมเพย์ ที่คนใช้ทั้งประเทศ | BrandCase
รู้ไหมว่าระบบพร้อมเพย์ที่เราใช้ ๆ กัน มีบริษัทที่พัฒนาและดูแลระบบนี้โดยเฉพาะ
โดยบริษัทที่ว่านี้ชื่อว่า บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX
ปีที่แล้ว NITMX มีรายได้ 2,885 ล้านบาท กำไร 1,609 ล้านบาท
ซึ่งเจ้าของบริษัทนี้ ก็คือบรรดาธนาคารพาณิชย์ในไทย
โมเดลของบริษัทนี้ เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการชำระเงินให้กับธนาคารต่าง ๆ
เช่น
-ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay)
-ระบบการชำระเงินผ่าน QR Code
-ระบบโอนเงินระหว่างประเทศ Cross-Border Remittance
พูดง่าย ๆ ก็คือ NITMX คือผู้ดูแลระบบหลังบ้านในเรื่องระบบพร้อมเพย์, ระบบจ่ายเงินผ่าน QR Code ที่คนไทยใช้กันทุกวัน
แล้วบริษัท NITMX มีจุดเริ่มต้นเมื่อไร ?
แต่เดิมบริษัท NITMX ก็เคยเป็นผู้พัฒนาระบบการถอน และโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มข้ามธนาคาร
ซึ่งก่อนหน้านี้ ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท เอทีเอ็ม พูล จำกัด
โดยบริษัท เอทีเอ็ม พูล จำกัด ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัทชื่อ ATM Pool ขึ้นมา
เพื่อทลายข้อจำกัดในการกดถอนเงินจากตู้ ATM
ที่จากเดิม เราสามารถทำได้เพียงแค่ กดเงินจากตู้ ATM ของธนาคารเดียวกันเท่านั้น
จนกระทั่งบริษัท ATM Pool สามารถพัฒนาระบบการถอนและโอนเงิน ผ่านตู้ ATM ข้ามธนาคารได้สำเร็จ
ทำให้เราสามารถใช้บัตร ATM เพียง 1 ใบ ในการถอนและโอนเงินจากตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร
ต่อมาในปี 2548 บริษัท ATM Pool ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด
เพื่อเริ่มพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งโปรเจกต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการชำระเงิน NITMX ก็ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนา เช่น
-ระบบ Single Payment ซึ่งเป็นระบบโอนเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทีละรายการ
ซึ่งต่อมาระบบ Single Payment ก็เป็นต้นแบบของระบบพร้อมเพย์ในปัจจุบัน
-ระบบ Bulk Payment เป็นบริการโอนเงินเข้าบัญชีรายย่อยอัตโนมัติ ครั้งละหลายรายการ
ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ในเวลาต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแบบระบบชิปการ์ดมาตรฐาน สำหรับบัตรเดบิต
-จึงทำให้บริษัท NITMX ได้ออกแบบระบบ Prompt Card เพื่อรองรับชิปการ์ดแบบมาตรฐานบนบัตรเดบิต
เพื่อให้บัตรเดบิต สามารถใช้งานกับเครื่องรูดบัตรได้ทั่วประเทศ
ต่อมาในปี 2559 บริษัท NITMX ได้เริ่มคิดค้นระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา
แล้วเริ่มเปิดให้บริการกับประชาชนในปี 2560
เมื่อพร้อมเพย์ เริ่มเป็นที่นิยมใช้งานสำหรับคนทั่วไป
ทำให้ต่อมาปี 2561 บริษัท NITMX ก็ได้ต่อยอดระบบชำระเงิน ระหว่างบุคคลกับนิติบุคคลได้อีก
ปี 2562 บริษัท NITMX ได้คิดค้นระบบพร้อมเพย์ รูปแบบใหม่ หรือ MyPromptQR กับร้านค้าต่าง ๆ
ทำให้ตั้งแต่ตอนนั้น เวลาไปรับประทานอาหาร หรือช็อปปิงที่ไหน ก็สามารถสแกน QR Code เพื่อจ่ายเงินได้ทันที
ซึ่งต้องบอกว่า สำหรับกลไกการโอนเงิน ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
บริษัท NITMX จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการบันทึกข้อมูลการโอนเงิน ระหว่างยอดเงินเข้า และยอดเงินออกของทั้ง 2 ธนาคาร
แต่ถ้าหาก โอนเงินภายในธนาคารเดียวกัน ก็สามารถบันทึกข้อมูล ผ่านระบบของธนาคารนั้นได้เลย
นอกจากระบบพร้อมเพย์แล้ว
บริษัท NITMX ยังเป็นตัวกลางในการให้บริการอื่น ๆ อีก
อย่างเช่น
-บริการระบบ Cross-Border Remittance
ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-Time ผ่านช่องทาง Mobile Banking
-บริการระบบ Digital Supply Chain Finance
เป็นบริการที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ผ่านระบบ PromptBiz
โดยบริษัทเปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2565 มียอดธุรกรรมโอนเงินและชำระเงิน ผ่านบริการพร้อมเพย์ รวมทั้งหมด 13,705 ล้านรายการ เลยทีเดียว
สำหรับกรณีที่โอนเงินข้ามธนาคาร ข้อมูลการโอนเงินดังกล่าว
จะต้องไปผ่านระบบตัวกลางของบริษัท NITMX ก่อนที่ยอดเงินจะไปเข้าบัญชีอีกบัญชีหนึ่ง
นั่นทำให้ธนาคารทุกแห่ง จำเป็นต้องใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท
เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับลูกค้าของตัวเอง
ดังนั้นถ้าถามว่าลูกค้าของ NITMX นั้นเป็นใคร ?
คำตอบก็คือ ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทย นั่นเอง
ปัจจุบัน บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX มีลูกค้าเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กว่า 19 แห่ง
ซึ่งธนาคารทั้ง 19 แห่งนี้ เป็นธนาคารสมาชิก ที่ต้องใช้บริการระบบของบริษัท NITMX
โดยรายได้หลัก ๆ ของ NITMX ก็คือค่าธรรมเนียมตามสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ทำไว้กับ NITMX สำหรับใช้บริการ อย่างเช่น พร้อมเพย์
ถ้าเราไปดูรายได้และกำไรของ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ในแต่ละปี
ปี 2564 มีรายได้ 2,107 ล้านบาท กำไร 1,080 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 2,885 ล้านบาท กำไร 1,609 ล้านบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า กำไรของบริษัทนั้น ก็ไม่ได้หายไปไหน
นอกจากจะเก็บไว้ไปลงทุนเพื่อต่อยอด และพัฒนาเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงินต่อ
หรือเอาไปจ่ายปันผล ให้กับบริษัทผู้ถือหุ้น
ซึ่งผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีก นอกจาก ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
โดยผู้ถือหุ้นของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ก็ได้แก่
1.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ถือหุ้น 26.73%
2.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถือหุ้น 22.85%
3.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ถือหุ้น 19.97%
4.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถือหุ้น 12.55%
5.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ถือหุ้น 11.26%
6.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ถือหุ้น 5.86%
7.ธนาคารยูโอบี (UOB) ถือหุ้น 0.44%
8.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ถือหุ้น 0.35%
และกรรมการของบริษัท NITMX ก็คือบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิจากธนาคารต่าง ๆ
โดยมีประธานกรรมการของบริษัท คือ คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.