สรุป 9 ข้อ ทริกเขียนนิยาย แนวสืบสวนสอบสวน จากนักเขียนญี่ปุ่น ปรับใช้ได้กับทุกงานเขียน หรือเอาไปใช้กับงานอื่น ๆ นอกเหนืองานเขียนก็ได้

สรุป 9 ข้อ ทริกเขียนนิยาย แนวสืบสวนสอบสวน จากนักเขียนญี่ปุ่น ปรับใช้ได้กับทุกงานเขียน หรือเอาไปใช้กับงานอื่น ๆ นอกเหนืองานเขียนก็ได้

16 ต.ค. 2024
ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 มีเวิร์กช็อปน่าสนใจมากห้องหนึ่ง ชื่อว่า “เทคนิคการเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน”
ที่บอกว่าน่าสนใจมาก เพราะว่าคนที่มาถ่ายทอด คือ “มิกิโตะ ชิเน็น” คุณหมอนักเขียนชาวญี่ปุ่น เจ้าของหนังสือนิยายชื่อดัง อย่างเช่น คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว, คดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก
และเทคนิคทั้งหมดนี้ ไม่ได้ใช้ได้แค่กับการเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน
แต่ประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายประเภทงานเขียน และอีกหลาย ๆ งานที่ไม่ใช่งานเขียนก็ได้
BrandCase สรุปให้เป็น 9 ประเด็นสำคัญ แชร์เก็บไว้กันได้เลย..
1. กฎเหล็กในการเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน รวมถึงคนที่อยากทำอาชีพนักเขียน ในมุมคุณชิเน็น
-คนเป็นนักเขียน นอกจากต้องเน้นเรื่อง “คุณภาพ” ของงานแล้ว ต้องเน้นเรื่อง “ปริมาณ” ด้วย
พูดง่าย ๆ ว่าทุกวันต้องพยายามเขียนออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีวินัยในการเขียน
-ทริกคือ กำหนดเวลาไปเลยว่าเราจะเริ่มเขียนกี่โมงถึงกี่โมงในแต่ละวัน ไม่เช่นนั้นเราจะคุมตัวเองให้เขียนต่อเนื่องเป็นนิสัยไม่ได้
2. เทคนิคการวางพล็อตเรื่อง แบบคุณชิเน็น
-Step1: กำหนดแก่น คิดทริก กลไกของเรื่อง
เช่น ลองฝึกอธิบายให้ได้ใน 1 นาที ว่ากลไกเรื่องนี้เป็นอย่างไร
ซึ่ง Step นี้เหมือนแก่นก้างปลา ที่เป็นแกนหลักที่สุดของตัวปลา ทำให้ทั้งเรื่อง ทั้งตัว ออกมาแข็งแรง
-Step2: คิดส่วน Prologue หรือการเกริ่นนำหัวปลา ซึ่งเปรียบเป็นส่วน หัวปลา
พอมีแก่นหลักของเรื่องหรือแก่นก้างปลาแล้ว ค่อยมาคิดส่วนเกริ่นนำ บทนำเรื่อง หรือ Prologue
เช่น เทคนิคการเขียนแนวสืบสวนสอบสวนของคุณชิเน็น คือเปิดเรื่องมาด้วยการดึงด้วยรูปคดีแปลก ๆ ที่เป็นไฮไลต์ของเรื่อง ให้คนสนใจทันทีที่อ่านบทแรก
-Step3: คิดส่วน Epilogue หรือบทส่งท้าย ซึ่งเปรียบเป็นส่วน หางปลา
ตรงนี้ไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่ว่าอยากจะทิ้งปิดจบเรื่องให้คนอ่านไม่ลืมแบบไหน จะจบแบบให้คนกลัวก็ได้ ให้คนเซอร์ไพรซ์ก็ได้ หรือทิ้งให้คนกลับไปคิดอะไรก็ได้
พอครบ 3 Step นี้แล้ว ก็ค่อย ๆ ไปเติมก้างย่อย ๆ คือหมายถึง การคิดเขียนดีเทลแต่ละบทย่อย ให้ทั้งเรื่องออกมากลมกล่อม
3. เทคนิคการออกแบบตัวละคร เล่าแต่ละฉากให้ผู้อ่านอินและมีอารมณ์ร่วม เหมือนผู้อ่านได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น
-การสร้างตัวละคร การออกแบบพฤติกรรม ต้องลึก มีเหตุมีผล ให้คิดว่าเขามีตัวตนอยู่จริง
ลงลึกไปจนถึงตัวละครมีภูมิหลังอย่างไร ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในเรื่อง เหมือนตัวละครนั้นเป็นคนคนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจอยู่จริง ๆ
-เช่น ถ้าพูดถึงตัวละครที่เป็นแพทย์ ซึ่งยิ่งเป็นตัวหลัก ต้องเข้าใจความเป็นแพทย์มาก ๆ
ไอเดียคือ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาชีพนั้น หรือเข้าไปคุยกับคนอาชีพนั้นโดยตรงให้เข้าใจให้มากที่สุด
4. ทริกสำคัญในเรื่อง “จำนวนตัวละคร”
คุณชิเน็นบอกว่า เพราะนิยายมีแต่ตัวอักษร ไม่มีรูปให้เห็นเหมือนการ์ตูนหรือมังงะ ที่มีรูปประกอบตลอดทั้งเล่ม
ทำให้ข้อจำกัดคือ ผู้อ่านนิยายจะจำตัวละครได้อยู่ที่ประมาณ 5-10 ตัว แค่นี้ก็เยอะแล้ว
และตัวละครที่มีบทเด่น ๆ จริง ๆ ไม่ควรเกิน 5-6 ตัวละคร
และ 5-6 ตัวนี้ ให้ระบุจุดเด่น คาแรกเตอร์ให้ชัดเจนมากที่สุด ไม่เช่นนั้นคนอ่านจะสับสน อ่านแล้วหลง ๆ ลืม ๆ และไม่สนุกกับเรื่องของเรา
5. เทคนิคการเล่าดีเทลฉากคดี ให้น่าสนใจและสมจริง
-ฉากที่เกิดคดี ต้องแปลก คนเอะใจว่าทำไมเป็นแบบนี้
เช่น ในเรื่องฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว ที่เล่าคดีด้วยคนตายมีตัวอักษรสลักอยู่ในกระเพาะอาหาร
-แปลก แต่ต้องมีตรรกะถูกต้อง เป็นไปได้จริง
เช่น ฉากตัวอย่างเมื่อสักครู่ ที่มีตัวอักษรสลักในกระเพาะอาหาร ในทางการแพทย์มันเป็นไปได้ ทำได้จริง และอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ การแพทย์
6. เทคนิคการเล่าคดี เล่าปริศนา ใช้ตรรกะการเล่าเรื่องแบบเบสิก คือ
เจอปริศนา > หาข้อมูล > เฉลยความจริง
แต่อย่าเล่าแบบทื่อ ๆ ง่าย ๆ
-ถ้าเล่าแบบทื่อ ๆ เนิบ ๆ มันก็ไม่สนุก ทริกสำคัญคือ “การทดลอง”
-คิดเรื่องให้ตัวละครต้องทดลองตลอดเวลา ทุก ๆ 10 หน้า 20 หน้า ต้องมีการทดลองสมมติฐานตลอด จนกว่าจะไขความจริงได้ และอย่าเล่าอะไรที่คนเดาออกแต่แรก
-คุณชิเน็น ยกตัวอย่าง พลอตเรื่องที่น่าเบื่อ เดาง่าย
เช่น ตำรวจไปสืบคดี เจอพยานคนที่ 1, 2, 3, 4 ทุกคนมายืนเรียงกันเล่าความจริงทีละคน จับมาชนกันแล้วเฉลยคดี
-ถ้าเป็นคุณชิเน็น จะพลิกพล็อตเป็น..
ตำรวจไปหาพยานที่บ้าน แต่พยานปากเอกคนนั้นตายก่อนแล้ว ทำแบบนี้เพื่อเพิ่มความยากลำบากในการไขคดี
-โดยทริกสำคัญคือ ต้องแกล้งตัวละครเอกไปเรื่อย ๆ อย่าให้ไขอะไรได้ง่าย ๆ แล้วสร้างสถานการณ์ให้เขาได้ทดลองอะไรไปเรื่อย ๆ
7.ทริกการเฉลยหรือคลี่คลาย คดี / ปมปริศนา
-สไตล์คุณชิเน็น คือคลี่คลายปมที่ผูกมาให้กระชับ ไม่ยืดเยื้อ
-ทริกการสร้างโครงเรื่องที่พลิกจบแบบกระชับมาก ๆ คือ การคิดพล็อตให้แอบซ่อนดีเทลที่คลายปมทุกอย่างได้ ไว้ในช่วงระหว่างเรื่อง แล้วเอาช่วงนั้นมาพูดซ้ำอีกที
-ทริกนี้จะทำให้คนอ่านรู้สึกเซอร์ไพรซ์ ว่าจริง ๆ เราแอบมีซ่อนเฉลยไว้แล้วตั้งแต่แรก แต่ทำไมเขาคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป
8.เทคนิคการเขียนให้สนุก ในแบบของตัวเอง
-เอาเรื่องที่ตัวเองอิน ถนัดมาก ๆ มาเขียน แล้วจะไม่ฝืน
เช่น คุณชิเน็นที่เป็นหมอ ก็เอาความรู้ทางการแพทย์มาเสริมงานเขียน ทำให้งานเขียนดูสนุก ลึก สมจริง
-เรียนรู้สิ่งใหม่เรื่อย ๆ นอกจากสิ่งที่เราถนัดเฉพาะทาง แล้วเอามาพัฒนางานเขียน
จะทำให้งานเขียนของเรามีเสน่ห์ ไม่เหมือนใคร
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.