สรุป 6 ข้อ “แอบฟัง CEO คุยกัน” เซสชันทีเด็ด จากเวที CTC 2024
15 มิ.ย. 2024
หนึ่งในเซสชันน่าสนใจของงาน AP Thailand Presents Creative Talk Conference 2024
ที่จัดไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือ เซสชัน “แอบฟัง CEO คุยกัน: เคล็ดลับบริหารงานของ CEO ที่ไม่เคยบอกใคร”
ที่บอกว่าเซสชันนี้มีทีเด็ด เพราะเป็นการเอา CEO มากประสบการณ์ในไทย 2 คน มานั่งคุยกัน
คือคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน CEO, AP Thailand
และคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO, Srichand & Mission To The Moon Media
เนื้อหาที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง BrandCase สรุปให้เป็น 6 ข้อสำคัญ ๆ
1. การบริหารงาน เหมือนกับการเป็นโค้ชฟุตบอล
ทั้งคุณอนุพงษ์และคุณรวิศให้ความเห็นตรงกันว่า การบริหารก็เหมือนกับการที่เราเป็นโค้ชทีมฟุตบอล
โดยคุณอนุพงษ์บอกว่า เขาเองจะแบ่ง การบริหารง่าย ๆ เป็น 3 Stage ด้วยกันนั่นก็คือ
-Stage 1. ช่วงที่ยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ
โค้ชใกล้ชิดกับนักเตะ คนเป็นโค้ชหรือผู้นำต้องลงไปทำเอง บทบาทจะวางไว้หลวม ๆ เพราะการทำบริษัทเล็ก คนหนึ่งต้องทำได้หลายอย่าง
Stage 2. เมื่อบริษัทโตขึ้น
เราจะเปลี่ยนวิธีคิดทันที Process + Structure เป็นสิ่งสำคัญในการหาคน คือการรู้ว่าอะไรเติบโต เราจะวางพนักงานแบบไหน
Stage 3. เมื่อบริษัทเริ่มเติบโตมากขึ้น
สิ่งที่ต้องโฟกัสก็จะเริ่มเปลี่ยน กลายเป็น Culture มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ จะเป็นตัวชี้วัด และเป็นเรื่องของผู้นำ
ส่วนคุณรวิศเองก็ให้ความเห็นว่า การบริหารงานนั้น เรามีหน้าที่เป็นโค้ช คอยไกด์ ถ้าเขาต้องการอะไรเพิ่ม เราก็จะคอยช่วย และในช่วงวิกฤติ เราจะลงไปทำงานมากขึ้น
โดยเทคนิคที่คุณรวิศใช้ก็คือ Tight-Loose-Tight
ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ก็คือ
Tight: คือการตั้งเป้าหมายต้องชัด เปรียบเทียบเป็นทีมฟุตบอล เราต้องรู้ว่าเราเล่นอยู่ในเกมไหน และต้องเข้าใจกติการ่วมกัน
Loose: วิธีการทำงาน ในสนามจริงต้องปล่อยให้คนทำงาน ส่วนเราเป็นโค้ชคอยแนะนำข้างสนาม
Tight: การวัดผล แมตช์ไหนเราต้องถอย, แมตช์ไหนควรตัดเชือก ต้องวิเคราะห์ให้ได้ ถ้าเป้าหมายแรกดี การวัดผลก็จะดี
2. ให้อำนาจคนในองค์กรตัดสินใจ ส่วนผู้นำเวลาตัดสินใจอย่าเอาแค่ความชอบของตัวเอง
คุณอนุพงษ์บอกว่า ที่บริษัท AP Thailand ตัว CEO ไม่ค่อยได้ตัดสินใจแล้ว เพราะคุณอนุพงษ์มองว่า คนที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุดคือ คนที่ใกล้ลูกค้าที่สุด และคนที่รู้จักลูกค้าดีที่สุดตัดสินใจแทน เขาจึงให้อำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่
แต่ทั้งนี้หน้าที่ของ CEO ก็ต้องกำหนด ขอบเขตให้ชัด รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ
คือถ้าสิ่งที่ทำสำเร็จ คุณจะได้รับสิ่งนั้น แต่ถ้ามันผิดพลาด คุณก็ต้องรับผิดเช่นกัน
คุณอนุพงษ์อยากให้รูปแบบการทำงานในองค์กรเป็นแบบ Work Smart เน้นผลลัพธ์ โดยให้อำนาจคนทำในการตัดสินใจเองว่าแบบไหนดีที่สุด
ส่วนคุณรวิศก็พูดถึงการตัดสินใจในมุมของผู้บริหารว่า การตัดสินใจ ต้องรู้จักกระจายน้ำหนักให้ถูกด้วย
ถูกในที่นี้คือถูกตามหลักการ และถูกต้องตามธุรกิจ
ถ้าเราไม่ให้น้ำหนักการตัดสินใจที่ถูกต้อง จะกลายเป็นเราเอาความชอบของตัวเองไปตัดสินใจ
แล้วเกิด Bias หรืออคติขึ้นในการตัดสินใจ
หรือถ้าอยากรู้จริง ๆ ว่าควรตัดสินใจแบบไหนก็ให้ลองทำสินค้าต้นแบบออกไปเลย แล้วเราจะรู้เองว่า สิ่ง ๆ นั้นลูกค้าชอบหรือไม่ชอบ
3. การทำงานบางทีก็เบื่อคน แต่เราต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
คุณอนุพงษ์บอกว่า การทำงานบางทีปัจจัยที่ทำให้เราไม่อยากทำก็คือเรื่องของคน
แต่บางครั้งเราอาจจะตัดสินคนคนนั้น ด้วยมุมมองของเราเพียงด้านเดียว
หากเราลอง เอางานเป็นที่ตั้ง และหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ฟังอีกฝ่ายมากขึ้นเพื่อหา “Needs Objective Challenge”
คือเราไม่ได้เอาสถานการณ์ของเขามาประเมิน เราต้องดูความต้องการ เพื่อดูว่าความท้าทายหรือความต้องการของเขาจริง ๆ มันคืออะไร
4. ความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับ การควบคุมอารมณ์ของ CEO มากกว่า การบริหารงาน
เวลาเราโกรธ เราอารมณ์เสีย ไม่ได้ช่วยให้งานดีได้ และส่งผลเสียต่อองค์กร
คุณรวิศบอกว่า การ Burnout ของ CEO อย่างคุณรวิศ ส่วนหนึ่งมาจากที่ร่างกายเราไม่พร้อม นอนไม่พอ เพราะถ้ายิ่งเรานอนพอ IQ จะดี และ EQ จะดีตามไปด้วย
และในมุมมองคุณรวิศ บอกว่างานเยอะไม่ได้ทำให้ CEO Burnout หรือหมดไฟ แต่ถ้าไม่ดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี ก็ Burnout ได้เหมือนกัน
5. ถ้าให้พูดถึงเรื่อง AI ตอนนี้มองว่าต้องรู้ว่า AI คืออะไร แล้วใช้มัน อย่าไปกลัว
“AI มา ทองคำอาจจะกลายเป็นขี้” คุณอนุพงษ์บอกว่าเขาเคยได้ยินประโยคนี้มาจากคนคนหนึ่ง
และยกตัวอย่างประกอบอีกว่า คนเขียนโคดอาจจะโดน AI แทนที่ ตอนนี้ AI มา เริ่มมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น
ดังนั้น AI จะเก่งได้เราต้องตั้งคำถามให้ถูก สิ่งสำคัญคือเราต้องเป็น Specialist เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตั้งคำถามเพื่อให้ AI ทำงาน
AI ยังไม่มี Creativity มันยังทำสิ่งใหม่ได้ไม่ดี เพราะ AI ในตอนนี้กำลังทำงานที่เราเคยทำในอดีต
ดังนั้นเราอย่าไปกลัว เราต้องรู้ว่า AI คืออะไร เราต้องควบคุมให้ได้ซึ่งสำคัญมาก เป็นหนึ่งในทักษะของยุคนี้
หัวใจสำคัญคือคนต้องรู้ว่า AI คืออะไร แล้วใช้มัน อย่าไปกลัว
ส่วนคุณรวิศก็มองว่า การปฏิวัติ 6 ครั้งในโลกที่ผ่านมา มันมีแต่ใช้แรง แต่กลับกันมันไม่มีของที่ฉลาดกว่าเรา ดังนั้นครั้งนี้ถึงน่าตื่นตัว เพราะ AI อาจจะฉลาดกว่าเราก็ได้
6. ผู้นำมีหน้าที่สานต่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจ และเห็นถึง Thinking กระบวนการคิด และเรื่องราวที่สำคัญของการมีอยู่ในวันนี้ และอนาคตขององค์กร
Culture องค์กร = Storytelling หรือการเล่าเรื่องราวความเป็นมาขององค์กรเสมือนเป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งและยั่งยืนได้
และสานต่อคุณค่าที่มีมาอย่างยาวนาน ให้คนรุ่นสู่รุ่นได้รับรู้ถึงคุณค่าและเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน
การรับรู้ว่าองค์กรเคยผ่านอะไรมา และกำลังดำเนินงานเพื่อส่งมอบอะไรให้กับลูกค้าและสังคม จึงเป็นที่มาของการบันทึกเรื่องราวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
เพราะฉะนั้น ผู้นำมีหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญ
คือสานต่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจ และเห็นถึง Thinking กระบวนการคิด และเรื่องราวที่สำคัญของการมีอยู่ในวันนี้และอนาคตขององค์กร
ทั้งหมดนี้ก็คือเคล็ดลับการบริหารงานแบบฉบับ CEO
ของคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน CEO, AP Thailand และคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO, Srichand & Mission To The Moon Media
จากเซสชัน “แอบฟัง CEO คุยกัน” ในงาน CTC 2024