สรุป 4 แนวทางการสร้างแบรนด์ ฉบับ Philip Kotler จากซีรีส์เรื่อง สาธุ ใน Netflix

สรุป 4 แนวทางการสร้างแบรนด์ ฉบับ Philip Kotler จากซีรีส์เรื่อง สาธุ ใน Netflix

5 เม.ย. 2024
สรุป 4 แนวทางการสร้างแบรนด์ ฉบับ Philip Kotler จากซีรีส์เรื่อง สาธุ ใน Netflix | BrandCase
คำเตือน: บทความนี้ มีการสปอยล์เนื้อหาซีรีส์เรื่อง สาธุ
ตอนนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหน ร้อนแรงไปกว่าเรื่อง “สาธุ” ที่กำลังสตรีมอยู่บน Netflix ตอนนี้
โดยตัวซีรีส์จะเล่าเรื่องราวของเพื่อนสนิท 3 คน ได้แก่ เกม วิน เดียร์ ที่กู้เงินมาทำธุรกิจแต่ดันเจ๊ง
เลยต้องหาเงินก้อนโตมาใช้หนี้ ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ด้วยการ "หากินกับวัด"
ซึ่งความแปลกใหม่ของเรื่องนี้ คือการหยิบกลยุทธ์การตลาด การสร้างแบรนด์ และเรื่องพื้นฐานของการทำธุรกิจ มาโยงเข้ากับวัดที่เป็นสถานที่ทำบุญของคนไทยได้อย่างแสบสันไม่น้อย
โดยในเรื่องมีประเด็นเกี่ยวกับการพยายามจะสร้างแบรนด์ให้กับ “วัดภุมราม” ที่เป็นวัดเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีคนมาทำบุญ จนกลายมาเป็นวัดที่มีคนทำบุญ และบริจาคเงินเป็นล้าน ๆ บาท ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบเจ๋ง ๆ
ซึ่งในบทความนี้ BrandCase จะชวนทุกคนมาวิเคราะห์ความสำเร็จของวัดภุมราม ในมุมของการสร้างแบรนด์แบบเข้าใจง่าย ๆ
Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดสมัยใหม่ เคยบอกไว้ว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งจะประกอบไปด้วย องค์ประกอบหลัก ๆ ทั้งหมด 4 อย่าง คือ
Brand PurposeBrand PositioningBrand DifferentiationBrand Identity
ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้ว เราจะสามารถเห็นองค์ประกอบทั้ง 4 ได้ในซีรีส์เรื่องสาธุ
Brand Purpose คือ จุดตั้งต้นของแบรนด์ ว่าแบรนด์จะสร้างประโยชน์อะไรให้กับลูกค้า และช่วยให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ?
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Volvo ต้องการให้รถยนต์ของตัวเองเป็นมาตรฐาน สำหรับความปลอดภัยให้กับรถยนต์ เลยเน้นพัฒนาเรื่องของความปลอดภัยในการขับขี่มากเป็นพิเศษ
เหมือนกับในเนื้อเรื่องที่ทั้ง 3 คน คิดจะเปลี่ยนวัดภุมราม ให้เป็นสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมทางศาสนา และรวบรวมชาวพุทธ “ทุกเพศทุกวัย” เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านสินค้าที่เรียกว่า “ความสบายใจ” นั่นเอง
Brand Positioning คือการหาที่ยืนในใจลูกค้า ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Dentiste' แบรนด์ยาสีฟันอยากวางตัวเองให้เป็น
แบรนด์ของคนรุ่นใหม่
ทางแบรนด์จึงเลือกใช้ ลิซ่า เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์
ช่วยทำให้ฐานผู้ติดตามมหาศาลของ ลิซ่า รู้จัก Dentiste' มากขึ้น
ถ้าเทียบกับในซีรีส์ มันคือฉากที่ทั้ง 3 คน มีจุดประสงค์ว่าต้องการให้วัดภุมราม
เป็นวัดสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
เลยเลือกใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งในที่นี้คือ “พระดล” ที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว
มาใช้ในการดึงคนเข้าวัด และกระตุ้นให้คนนึกถึงวัดภุมรามเป็นวัดแรก ๆ ถ้าอยากฟังธรรม
Brand Differentiation การสร้างความแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งในตลาด
เพราะสินค้าชนิดเดียวกัน อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราซื้อกาแฟ Starbucks เราจะไม่ได้รับแค่กาแฟทั่ว ๆ ไป แต่ได้ประสบการณ์ดี ๆ
จากการตกแต่งร้าน เสียงเพลง และการบริการดี ๆ จากพนักงาน
ทำให้กาแฟ Starbucks สามารถขายความพรีเมียมต่างจากร้านกาแฟทั่ว ๆ ไปได้
ถ้าเทียบกับในซีรีส์ มันคือตอนที่ทั้ง 3 คนได้เพิ่มช่องทางในการสื่อสารธรรมะ ผ่านการทำ Content Marketing
ที่ให้พระดลทำ Podcast การแสดงธรรมเทศนา ทำให้วัดดูมีความร่วมสมัย เข้าถึงคนได้ทุก Gen ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่าง ชนิดที่ว่าไม่มีวัดไหนทำ..
Brand Identity อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของแบรนด์
เป็นสิ่งที่แบรนด์สร้างขึ้น เพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนของตัวเอง
เหมือนกับที่เราเห็นสีของธนาคาร แล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นธนาคารอะไรโดยที่ไม่ต้องเห็นโลโกหรือชื่อแบรนด์เลย
ทีนี้เมื่อทั้ง 3 คนรู้ว่า คนสามารถจำวัดภุมรามได้เพราะพระดล เนื่องจากมีหน้าตาที่ดี เทศนาดี และยังไม่มีอายุมากนัก
ทั้ง 3 คนเลย เลือกนำภาพของพระดลมาใส่ไว้ตามสื่อต่าง ๆ ของวัด เช่น โปสเตอร์รูปของพระดล มาช่วยให้คนจำแบรนด์ได้ดีขึ้น..
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่วัดที่ดูจะห่างไกลกับโลกธุรกิจ และการตลาดมาก ๆ
แต่ก็สามารถกลายเป็นสถานที่ที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
และประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ
ซึ่งก็น่าสนใจว่า ในโลกจริง ๆ ก็มีวัดที่มีแบรนด์ที่โดดเด่นกว่าวัดอื่น ๆ แบบชัดเจนมาก ๆ อยู่หลายวัดเลย
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเรานึกถึงวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของความรัก เราก็อาจนึกถึง “วัดแขก”
ถ้าเรานึกถึงวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของโชคลาภ ก็อาจนึกถึง “วัดดอนเจดีย์” (ไอ้ไข่)
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี่แหละ คือพลังของสิ่งที่เรียกว่า “การตลาด”..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.