ผู้นำ 6 แบบ ที่พนักงานอเมริกัน ไม่ชื่นชอบ

ผู้นำ 6 แบบ ที่พนักงานอเมริกัน ไม่ชื่นชอบ

22 เม.ย. 2021
ผู้นำ 6 แบบ ที่พนักงานอเมริกัน ไม่ชื่นชอบ | THE BRIEFCASE
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งของ Barna Group ร่วมกับ Leadercast พบว่า
40% ของชาวอเมริกัน ทำงานให้กับคนที่พวกเขาคิดว่า “เป็นผู้นำที่ไม่ดี”
คำถามคือ คำว่า “ไม่ดี” สำหรับพวกเขานั้นมีอะไรบ้าง
และหากเราเป็นหัวหน้า เราควรแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะมาสรุปให้ฟังเป็น 6 ข้อต่อไปนี้..
1. ผู้นำที่ทำตัวเป็นเพื่อนสนิท (The Buddy)
แม้ว่าการเป็นมิตรจะเป็นสิ่งที่ดีและดูจะไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย แต่ผู้นำที่พยายามเป็นเพื่อนกับทุกคนมากเกินไป จนไม่มีระยะห่างเลย อาจทำให้ทีมงานไม่เคารพ และอาจทำให้ทีมงานสับสนว่าอันไหนที่เรากำลังพูดเล่น หรือพูดจริง
ซึ่งผู้นำรูปแบบ The Buddy มักจะพบในกลุ่มคนที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
และอดีตเพื่อนร่วมงานก็ต้องมาอยู่ภายใต้การควบคุม
วิธีหลีกเลี่ยง : เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว ควรชี้แจงเรื่องความสัมพันธ์ หรือกำหนดเส้นแบ่งความสัมพันธ์ในที่ทำงานให้ชัดเจน
2. ผู้นำที่อยากให้คนชอบใจ (The Pleaser)
ผู้นำบางคนอยากเป็นที่รักของทุกคนอยู่ตลอดเวลา และพยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเลย
เช่น จะไม่ยอมพูดคำว่า “ไม่” หรือโต้แย้งในเรื่องสำคัญระหว่างการดำเนินงาน
วิธีหลีกเลี่ยง : ผู้นำควรมองไปที่ผลประโยชน์ส่วนรวมของทีมและองค์กร และให้คิดว่า การปฏิเสธ การโต้แย้ง หรือการพูดคำว่า “ไม่” ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดเป็นจุดจบของชีวิตการทำงาน
และในโลกของความเป็นจริง ผู้นำที่กล้าตัดสินใจ จะได้รับความเคารพจากทีมงานมากขึ้น
เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังตัดสินใจอย่างยากลำบาก
3. ผู้นำที่ทำตัวเผด็จการ (The Dictator)
การเป็นผู้นำที่ชอบไล่เบี้ยพนักงาน และขู่เรื่องการลงโทษบ่อย ๆ อาจทำให้พนักงานทำตามเป้าหมายให้ลุล่วงได้ แต่รูปแบบการบริหารเช่นนี้จะไม่ได้ประสิทธิภาพในระยะยาว และอาจส่งผลให้อัตราการลาออกของพนักงานมีมากขึ้นได้
วิธีหลีกเลี่ยง : ผู้นำต้องฝึกการตระหนักและทบทวนเรื่องการสร้างแรงกดดัน หรือการออกคำสั่งที่เข้มงวด และต้องฝึกเลือกออกคำสั่งเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น หรือเร่งด่วน ไม่บงการทุกเรื่องจนทุกคนอึดอัด
4. ผู้นำที่ทำตัวหลับใหล (The Sleeper)
ผู้นำบางคนมักจะกลัวการผิดพลาด จนไม่ลงมือทำอะไรเลย เอาแต่นั่งดู ชื่นชมความสำเร็จ หรือกล่าวโทษแบบไม่เคยลงมือทำ
เพราะผู้นำแบบนี้จะรู้สึกว่า หากลงมือเข้าไปยุ่งหรือลงไปปฏิบัติงาน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ก็อาจจะมากระทบกับตำแหน่งในการทำงาน ประเด็นนี้จึงส่งผลให้เกิดผู้นำแบบ The Sleeper ขึ้นมานั่นเอง
วิธีหลีกเลี่ยง : แม้ว่างานหรือสิ่งต่าง ๆ ภายในองค์กร จะดูเหมือนดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่การเป็นผู้นำที่ดี ต้องคอยสังเกตและมองหาจุดที่เป็นปัญหาให้เจอ
หรือพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น สอนวิธีการทำงานให้กับทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
และช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงาน
ที่สำคัญคือ ผู้นำที่ดี ควรลงไปสัมผัสเนื้องาน หรือลงไปมีส่วนร่วมในการทำงานบ้างในบางครั้ง เพื่อจะได้รับรู้ปัญหาที่คนในทีมอาจมองไม่เห็น อีกทั้งยังทำให้คนในทีมเห็นว่าผู้นำคือคนที่พึ่งพาได้อีกด้วย
5. ผู้นำที่คุมทุกอย่างจนล้นมือ (The Administrator)
ถ้า The Sleeper คือหัวหน้าที่พยายามไม่เอามือเข้าไปยุ่งกับงาน The Administrator ก็คือฝั่งตรงข้าม..
ผู้นำแบบ The Administrator จะยุ่งกับการจัดแจงทุกอย่างจนล้นมือ
ตั้งแต่เรื่องการวางแผนไปจนถึงเรื่องเอกสารเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะกลัวว่างานจะมีโอกาสผิดพลาด
ซึ่งผลร้ายของผู้นำแบบนี้คือ ผู้นำจะทำงานหนักเกินไปจนอาจละเลยการมองภาพรวมของงาน หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพนักงาน
วิธีหลีกเลี่ยง : งานบางอย่างแน่นอนว่าผู้นำอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามสร้างสมดุลให้กับงานของตัวเอง
โดยการมอบหมายงานบางอย่างให้กับคนอื่น ๆ ที่ไว้ใจได้และมีความสามารถเพียงพอ ไม่กอดงานไว้ที่ตัวเองคนเดียว
และอย่าลืมว่าการที่องค์กรจะเดินหน้าได้ ไม่ใช่มีแค่การนั่งมอนิเตอร์ หรือดูตัวเลขยอดขายทั้งวัน
แต่เราต้องพูดคุยกับทีมงาน และพยายามสร้างการสื่อสารให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วย
6. ผู้นำที่เป็นเหมือนกระต่ายตื่นตูม (The Alarmist)
ผู้นำแบบ The Alarmist คือผู้นำที่มีอาการเหมือนคนที่ตื่นตระหนกอยู่ตลอดเวลา
มองทุกอย่างเป็นเรื่องฉุกเฉินและเร่งด่วน ซึ่งแน่นอนว่าผู้นำแบบนี้จะทำให้ทีมงานจมอยู่แต่กับความเครียด
และความกดดัน ในท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องเร่งด่วนมาตลอด
ซึ่งถ้าผู้นำคนไหนเป็นแบบนี้ ก็อาจทำให้ทีมงานรู้สึกชินชา และไม่รู้สึกว่าอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน “จริง ๆ” ก็ได้
วิธีหลีกเลี่ยง : การเป็นผู้นำที่เคร่งเครียดระดับหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี
แต่มันไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีในระยะยาวเท่าไรนัก ผู้นำควรต้องรู้ว่าเรื่องไหนที่ควร “ตื่นตระหนก” ออกมาจริง ๆ และเรื่องไหนที่ไม่ควรไปให้ความสำคัญกับมันมากเกินไป
นอกจากนั้นแล้ว การตั้งเป้าหมาย การคาดการณ์เหตุการณ์ และการเตรียมแผนไว้ล่วงหน้ากับทีมงานอยู่เสมอ จะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียด ทั้งกับตัวหัวหน้าเองและทีมงานคนอื่น ๆ
ทั้งหมดนี้เป็น 6 คุณลักษณะ “ไม่ดี” ของหัวหน้า
ที่เราได้เรียนรู้จากการสำรวจความเห็นของคนอเมริกันบางส่วน
สุดท้ายนี้ ผู้นำแต่ละคนหรือแม้กระทั่งเราเอง
อาจจะไม่ใช่คนที่สมบูรณ์ที่สุด และอาจจะมีคุณลักษณะเหล่านี้ผสมปนเปอยู่
แต่การเรียนรู้และทบทวนตัวเองอยู่เสมอ และพยายามมองหาแนวทางพัฒนาความเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับตัวเองและคนในทีมอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยให้เราเป็นผู้นำที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน..
Reference:
-https://www.ej4.com/blog/6-traits-you-dont-want-in-managers
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.