บทเรียนธุรกิจ ของคุณเบียร์ ใบหยก ทำร้าน PABLO Cheesetart รายได้ วันละล้าน แต่ไม่มีกำไร

บทเรียนธุรกิจ ของคุณเบียร์ ใบหยก ทำร้าน PABLO Cheesetart รายได้ วันละล้าน แต่ไม่มีกำไร

27 มี.ค. 2025
PABLO Cheesetart เป็นแบรนด์ร้านขนมชื่อดังจากญี่ปุ่น โดยคนที่เอาแฟรนไชส์ร้านนี้เข้ามาในไทยในตอนแรก คือ คุณเบียร์ ใบหยก หรือ คุณปิยะเลิศ ใบหยก
-เมื่อวานนี้คุณเบียร์ ได้ออกมาเขียนเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยเบื้องหลังการทำธุรกิจขนมหวาน PABLO Cheesetart ที่เคยเอาเข้ามาเปิดในไทย
-ใจความที่น่าสนใจคือ ในช่วงหนึ่ง PABLO Cheesetart สามารถทำรายได้ใน 1 สาขา มากถึงวันละล้าน ซึ่งเป็นยอดขายต่อ 1 สาขาที่เยอะที่สุดในชีวิตของคุณเบียร์
แต่ปัญหาที่เจอคือ ยอดขายเยอะมาก แต่กลับไม่มีกำไรเลย
-ย้อนกลับไปในปี 2554 คุณเบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทตระกูลใบหยก ได้ก่อตั้งบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด (PDS) ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจด้านอาหารและขนมญี่ปุ่น โดยเน้นกลยุทธ์การนำเข้าแฟรนไชส์ชื่อดังเข้ามาเปิดในไทย
-ในปี 2559 คุณเบียร์ ได้เดินทางไปถึงโอซากา เพื่อเจรจากับ CEO ของ PABLO Cheesetart โดยตรง ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ขนมที่ดังที่สุดของที่นั่น
-หลังจากเซ็นสัญญา คุณเบียร์ ก็เลือกทำเลเปิดร้านแรกที่ Siam Paragon และได้ทำเลที่ดีที่สุดของห้าง นั่นคือ เปิดประตูห้างมาเจอร้าน PABLO Cheesetart ทันที
-แต่กว่าจะเปิดร้านได้ ก็ต้องเจออุปสรรคใหญ่ 2 อย่าง คือ
1. วัตถุดิบแทบทั้งหมดเกือบ 100% ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น เพราะ PABLO Cheesetart สาขาในไทย คือสาขาแรกที่เปิดนอกญี่ปุ่น ทำให้ต้นทุนสูงกว่าที่คาดไว้มาก เลยทำให้ต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะตัดสินใจตั้งราคา
สุดท้ายก็ตั้งราคาทาร์ตขนาดใหญ่ไว้ที่ 370 บาท และขนาดเล็กที่ 75 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาขนมที่ค่อนข้างสูงในตอนนั้น
2. ช่วงก่อนเปิดร้านเพียง 14 วัน เกิดเหตุการณ์สำคัญคือการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ทั้งประเทศอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ไม่มีใครทำการตลาดหรือโปรโมตอะไรเลย แผนการตลาดทั้งหมดที่วางไว้จึงต้องหยุดชะงักไปหมด
-แต่หลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไป คนเริ่มกลับมาใช้งานโซเชียลมีเดียอีกครั้ง
และแบรนด์ PABLO Cheesetart ก็กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แรก ๆ ที่ดารา เซเลบ และอินฟลูเอนเซอร์ เริ่มกลับมาลงรูปกันเต็มฟีด
-แม้เปิดร้านท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ผลตอบรับกลับถล่มทลาย จนเกิดเป็นกระแสชีสทาร์ตในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง
วันแรกขายได้ 600,000 บาท และช่วงพีกที่สุด ขายได้สูงสุดถึง 1.3 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป็นยอดขายต่อ 1 สาขา ที่เยอะที่สุดในชีวิตของคุณเบียร์ แต่ปัญหาคือ ไม่มีกำไรเลย
-ที่เป็นแบบนี้ คุณเบียร์เล่าว่า เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบแบบ Air Freight คือขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ทันความต้องการ ทำให้ต้นทุนพุ่งกระฉูด
นอกจากนี้ยังมีค่าเช่าร้านที่สูงถึงหลักล้านบาทต่อเดือน บวกกับค่าโอทีของพนักงานที่มีเกือบ 40 คน
รวมไปถึง ค่าก่อสร้างร้าน และอุปกรณ์ในร้าน เช่น เครื่องอบ ที่ราคาแพงกว่ารถ Porsche Cayenne (ประมาณ 7 ล้านบาท+) ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นต้นทุนที่กินส่วนแบ่งจากยอดขาย
-อีกทั้งเงื่อนไขของทางผู้ให้เช่าที่ มีกฎว่าทางศูนย์การค้าจะเป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้าก่อนทั้งหมด แล้วค่อยโอนกลับมาให้ร้านในภายหลัง ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1 เดือนเต็ม
นั่นหมายความว่า ต้องเตรียมเงินสดไว้หมุนเวียน อย่างน้อย 2 เดือน
-สรุปคือขายได้ เกือบ 30 ล้านบาทในเดือนเดียว แต่ไม่เหลือกำไรเลย
-​​หลังจากนั้น คุณเบียร์ จึงเริ่มหาทางจัดการต้นทุนใหม่ เช่น การวางแผนการนำเข้า และการกระจายต้นทุนจากการขยายสาขา จนทำให้ธุรกิจเริ่มมีกำไร
-​​แต่ในที่สุด ปี 2562 คุณเบียร์ ก็ตัดสินใจขายกิจการ PDS Holding ที่เป็นเจ้าของ PABLO Cheesetart ให้กับบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA
อย่างไรก็ตาม ต่อมา PABLO Cheesetart ก็ปิดกิจการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
-​​คุณเบียร์ ได้ฝากข้อคิดสำคัญถึงทุกคนที่ทำธุรกิจไว้ว่า “อย่าลงทุนเยอะเกินไป อย่าคิดแต่ในแง่ดี ให้เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วย ที่สำคัญคือ ต้องมีเงินสดสำรองไว้เสมอ ลงทุนน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยขยับขยายเมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี”
-สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจไม่ใช่แค่ยอดขาย แต่ต้องควบคุมต้นทุน และกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้ได้ดีด้วย..
© 2025 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.