รู้จัก Triple Bottom Line แนวคิดที่บอกว่า ความสำเร็จของการทำธุรกิจ ไม่ควรวัดที่กำไร เพียงอย่างเดียว
11 ธ.ค. 2024
Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดเคยเน้นย้ำไปในปี 2019 ว่า ธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ ถ้าสังคมหรือโลกไปต่อไม่ได้ ธุรกิจก็ไม่สามารถไปต่อได้เช่นกัน
การทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ในปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ผู้ถือหุ้น พนักงาน ชุมชน ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งความเห็นของ Philip Kotler นี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Triple Bottom Line
แล้วแนวคิด Triple Bottom Line คืออะไร ? และสำคัญอย่างไรกับการทำธุรกิจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Triple Bottom Line คือแนวคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่พัฒนาขึ้นโดย John Elkington ในปี 1994
โดยเขาบอกว่า การประเมินความสำเร็จขององค์กรไม่ควรมองมิติทางการเงินหรือผลกำไร (Profit) ขององค์กรเพียงอย่างเดียว
แต่ควรประเมินเพิ่มอีก 2 มิติเข้าไปด้วย ได้แก่ มิติทางสิ่งแวดล้อม (Planet) และมิติทางสังคม (People) เพื่อให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเกิดความสมดุลและความยั่งยืนในระยะยาว
โดยแต่ละมิติมีรายละเอียดดังนี้
1. มิติด้านการเงิน (Profit)
ในอดีตธุรกิจที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การวัดความสำเร็จของธุรกิจคงหนีไม่พ้นเรื่องของผลกำไรและการเติบโตของบริษัท
โดยบริษัทต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเลขกำไรสูงสุด ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงของบริษัทที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจที่มุ่งหวังแต่ผลกำไรระยะสั้น กลับไม่ใช่แนวคิดที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน เพราะสังคมต้องการให้ธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น
ดังนั้น แนวคิดการทำธุรกิจในปัจจุบัน จึงหันมาให้ความสนใจการสร้างกำไรควบคู่ไปกับมิติทางด้านอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงผลกำไรที่มีความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า ตัวอย่างแนวทางปฏิบัติ เช่น
- จัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและความสูญเสียที่ไม่จำเป็น
- สนับสนุนนวัตกรรมหรือธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
- สร้างรายได้ให้ธุรกิจผ่านการคิดค้นสินค้าหรือวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกำไรควบคู่ไปกับมิติอื่น ๆ เช่น
Tesla ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพาการใช้น้ำมัน รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า และช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับธุรกิจในระยะยาว
2. มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น
- การทำเกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมี หรือการทำปศุสัตว์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
- การทำประมงที่ทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศในน้ำ
- มลพิษจากโรงงานผลิตสินค้า เช่น การปล่อยควันเสียและน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
- มลพิษจากการขนส่งสินค้าและการเดินทาง
กิจกรรมทางธุรกิจเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และผลกระทบของมันก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบไปทั้งโลก
ดังนั้นการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะต้องคำนึงถึงกำไรแล้ว จึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องลดการทำลายหรือการสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย เช่น
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle)
ตัวอย่างแบรนด์ที่มุ่งมั่นต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น
LEGO วางแผนจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2030
โดยในอดีต LEGO ได้ลดขนาดกล่องบรรจุภัณฑ์ลง 14% ทำให้ประหยัดกระดาษลงได้ถึง 7,000 ตัน และมีการเปิดตัวชิ้นส่วนบล็อกพลาสติกแบบ Polyethylene ที่ทำมาจากอ้อย
ซึ่งเป็นวัสดุที่ยั่งยืน และลดการใช้พลาสติกที่ทำมาจากปิโตรเลียมได้จำนวนมาก
3. มิติด้านสังคม (People)
ในมิติสุดท้าย ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น พนักงานขององค์กร ชุมชนโดยรอบ และคนในสังคม เช่น
- สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
- มอบสวัสดิการและเสริมสร้างภาวะการทำงานที่ดี ปลอดภัยให้กับพนักงานในองค์กร
- ส่งเสริมความเท่าเทียม ความหลากหลาย และความเป็นธรรมในองค์กร
- รับผิดชอบต่อชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน เช่น ดูแลสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความปลอดภัยของคนในชุมชน
ตัวอย่างแบรนด์ที่คำนึงถึงมิติทางสังคม เช่น
Starbucks ก่อตั้งมูลนิธิสตาร์บัคส์ให้กับชุมชนทั้งโลก และจัดตั้งศูนย์การสนับสนุนชาวไร่กาแฟ เพื่อสนับสนุนความรู้ความเชี่ยวชาญ และเป็นแหล่งข้อมูลให้กับชาวไร่กาแฟในท้องถิ่น
รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนและความเข้มแข็งของชุมชนชาวไร่กาแฟอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็คือ แนวคิดเรื่อง Triple Bottom Line แนวคิดที่บอกว่าความสำเร็จของการทำธุรกิจ ไม่ได้วัดกันที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงมิติอื่น ๆ ด้วย และยิ่งบริษัทไหนที่สามารถคำนึงถึงทั้ง 3 มิติไปพร้อม ๆ กันได้ ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
References