อธิบาย โมเดลธุรกิจ CP AXTRA บริษัทแม่ makro กับ Lotus’s ของเครือซีพี

อธิบาย โมเดลธุรกิจ CP AXTRA บริษัทแม่ makro กับ Lotus’s ของเครือซีพี

14 มิ.ย. 2024
รู้หรือไม่ ? ว่าห้าง makro และ Lotus’s ถ้าตามโครงสร้างบริษัทแล้วจะอยู่ใต้บริษัทเดียวกัน
คือ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CP AXTRA 
ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกและค้าส่ง ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่ม CP
โดยในปี 2566 CP AXTRA มีรายได้ 489,949 ล้านบาท กำไร 8,640 ล้านบาท
แล้วรายได้ของ CP AXTRA เกือบ 5 แสนล้านบาทนี้ มาจากอะไรบ้าง
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
CP AXTRA เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า 2 แบบคือ 
- ห้างค้าส่ง (Wholesale) อย่างห้าง makro
- ห้างค้าปลีก (Retail) อย่างห้าง Lotus’s
หลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ CP AXTRA เท่าไรนัก
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ CP AXTRA เป็นชื่อบริษัท ที่เพิ่งรีแบรนด์มาใหม่มาจาก บมจ.สยามแม็คโคร เจ้าของห้าง makro เดิมนั่นเอง
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 36 ปีก่อน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อบุกเบิกห้างค้าส่งแบบทันสมัย 
โดยเน้นขายให้กับคนหรือธุรกิจที่เอาไปขายต่อ อย่างเช่น ร้านโชห่วย ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย
ต่อมาในปี 2537 กลุ่ม CP ได้ขยายอาณาจักรไปยังห้างค้าปลีก โดยก่อตั้ง Lotus Supercenter ขึ้น
ซึ่งห้าง Lotus Supercenter ได้นำเสนอรูปแบบห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทันสมัย และครบครัน เป็นเจ้าแรก ๆ ของประเทศไทยเช่นกัน
ต่อมาทั้งห้าง makro และห้าง Lotus ก็ได้ขยายสาขามากขึ้นเรื่อย ๆ
จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่ของกลุ่ม CP 
จำเป็นต้องขายกิจการห้าง makro และห้าง Lotus ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ เพื่อรักษาธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ
หลังจากที่ห้าง Lotus และ makro อยู่ในมือของกลุ่มทุนต่างชาติ 
Lotus ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus ตามชื่อกลุ่มทุน Tesco จากประเทศอังกฤษ
โดยทั้งห้าง Tesco Lotus และห้าง makro ก็ได้ขยายสาขาออกไปเรื่อย ๆ จนมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศไทย
จนกระทั่ง 15 ปีต่อมา กลุ่ม CP ที่ฟื้นกลับมาแข็งแกร่ง ก็ซื้อห้างทั้ง 2 แห่ง กลับมาได้สำเร็จ
โดยซื้อ บมจ.สยามแม็คโคร เจ้าของกิจการห้าง makro จากกลุ่มทุนต่างชาติ กลับมาได้ในปี 2556 ด้วยมูลค่ากว่า 188,000 ล้านบาท
และซื้อกิจการห้าง Tesco Lotus จากกลุ่ม Tesco กลับมาในปี 2563 ด้วยมูลค่ากว่า 338,000 ล้านบาท
หลังจากที่กลุ่ม CP ได้ซื้อห้าง Tesco Lotus กลับมา 
กลุ่ม CP ก็ได้รีแบรนด์ห้าง Tesco Lotus ให้เป็น Lotus’s 
(ตัดคำว่า Tesco ออก แล้วเติม ’s ไว้ด้านท้ายคำว่า Lotus)
พร้อมกับปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยโยกห้าง Lotus’s ให้ไปอยู่ภายใต้ บมจ.สยามแม็คโคร ที่เป็นเจ้าของห้าง makro 
หลังจากนั้น ก็ได้รีแบรนด์ บมจ.สยามแม็คโคร 
ให้เป็น บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ กลุ่ม CP AXTRA ในปัจจุบัน
ทีนี้เราลองมาไล่ดูธุรกิจของกลุ่ม CP AXTRA ทีละส่วนกัน
1. makro (ธุรกิจค้าส่ง)
ณ สิ้นเดือน มีนาคม ปี 2567 ธุรกิจค้าส่ง makro มีสาขาทั้งหมดกว่า 169 สาขา แบ่งเป็น
ในประเทศไทย 
- ห้าง makro และ makro Food Service ทั้งหมด 160 สาขา 
และมีศูนย์ค้าส่งในต่างประเทศ 
อย่างในประเทศอินเดีย 5 สาขา กัมพูชา 3 สาขา และเมียนมาอีก 1 สาขา
นอกจากนี้ makro ยังมีธุรกิจเพิ่มเติม
นั่นคือธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจฟูดเซอร์วิซ ซึ่งเป็นธุรกิจ นำเข้า และส่งออก อาหารพรีเมียมในต่างประเทศถึง 7 ประเทศ อย่างเช่น กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2. Lotus’s (ธุรกิจค้าปลีก)
ณ สิ้นเดือน มีนาคม ปี 2567 ธุรกิจค้าปลีก Lotus’s มีสาขาทั้งหมดกว่า 2,517 สาขา แบ่งเป็น
ในประเทศไทย
- ห้าง Lotus’s ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ทั้งหมด 225 สาขา
- ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s Go Fresh ทั้งหมด 178 สาขา
- มินิซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s Go Fresh ทั้งหมด 2,045 สาขา
ในประเทศมาเลเซีย
- ห้าง Lotus’s หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ทั้งหมด 43 สาขา
- ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s Go Fresh ทั้งหมด 26 สาขา
ทีนี้ เราลองมาดูผลประกอบการของ CP AXTRA กันบ้าง
ปี 2566 มีรายได้ 489,949 ล้านบาท กำไร 8,640 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้ 127,020 ล้านบาท กำไร 2,481 ล้านบาท
สัดส่วนรายได้ของ CP AXTRA ในปี 2566 มาจาก
- ยอดขายห้าง makro 53%
- ยอดขายห้าง Lotus’s 42%
- ค่าเช่าพื้นที่ Lotus’s Mall และ makro 3%
- รายได้อื่น ๆ 2%
ซึ่งถ้าเราเอาแว่นขยาย ส่องลงไปที่ธุรกิจแต่ละประเภท เราก็จะเห็นสถิติที่น่าสนใจ โดยเริ่มจาก
1. ฝั่ง makro (ธุรกิจค้าส่ง)
ถ้าแบ่งตามกลุ่มลูกค้า รายได้ทุก ๆ 100 บาท ในปี 2566 มาจาก
- ร้านค้าปลีกรายย่อย อย่างร้านโชห่วย หรือร้านค้ามินิมาร์ต 23 บาท
- ร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่จัดเลี้ยง 29 บาท
- ธุรกิจบริการ 6 บาท
- ร้านค้าส่ง 7 บาท
- ลูกค้าอื่น ๆ 35 บาท
ถ้าแบ่งตามประเภทของสินค้า รายได้ทุก ๆ 100 บาท ในปี 2566 มาจาก
- อาหารแห้ง และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน 53 บาท
- อาหารสด 40 บาท
- สินค้าทั่วไป เช่น สินค้าสำหรับบ้าน เครื่องเขียน และอุปกรณ์ต่าง ๆ 7 บาท
2. ฝั่ง Lotus’s (ธุรกิจค้าปลีก)
ถ้าแบ่งตามรูปแบบร้านค้า รายได้ทุก ๆ 100 บาท ในปี 2566 มาจาก  
- ห้าง Lotus’s 55 บาท
- ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s Go Fresh 10 บาท
- มินิซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s Go Fresh 29 บาท
- ช่องทางออนไลน์ 6 บาท
ถ้าแบ่งตามประเภทของสินค้า รายได้ทุก ๆ 100 บาท ในปี 2566 มาจาก
- อาหารแห้ง และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน  53 บาท
- อาหารสด 25 บาท
- สินค้าทั่วไป เช่น สินค้าสำหรับบ้าน เครื่องเขียน และอุปกรณ์ต่าง ๆ 22 บาท
ซึ่งต้องหมายเหตุไว้ว่า สถิติของห้าง Lotus’s นับเฉพาะสาขาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
แล้วถ้าหากพูดถึงคู่แข่ง แน่นอนว่า 
- ห้าง Lotus’s ก็จะเจอคู่แข่ง ที่เป็นห้างสรรพสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตเหมือนกัน อย่าง Big C
- ห้าง makro ก็เจอคู่แข่งหน้าใหม่ อย่าง GO Wholesale ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เพิ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดห้างค้าส่งเมื่อปีที่ผ่านมา
ทีนี้ เราลองไปดูกำไรของธุรกิจแต่ละธุรกิจกันบ้าง
ไตรมาส 1 ปี 2567
- ฝั่ง makro มีรายได้ 69,433 ล้านบาท และกำไร 1,568 ล้านบาท
- ฝั่ง Lotus’s มีรายได้ 57,587 ล้านบาท และกำไร 913 ล้านบาท
นั่นเท่ากับว่า ในไตรมาส 1 ปี 2567
รายได้จากฝั่ง makro ทุก ๆ 100 บาท คิดเป็นกำไร 2.2 บาท
และรายได้จากฝั่ง Lotus’s ทุก ๆ 100 บาท คิดเป็นกำไร 1.6 บาท
จะเห็นได้ว่าห้าง makro มีอัตรากำไรมากกว่า Lotus’s 
ทั้ง ๆ ที่ห้าง makro เน้นขายสินค้าในราคาขายส่ง ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า
แล้วมันเพราะอะไรกัน ?
BrandCase ก็จะขอแจกแจงรายได้ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2567 ให้เห็นทีละส่วน
เริ่มจากฝั่ง makro 
- รายได้ จากการขายของทุก ๆ 100 บาท
- หักค่าใช้จ่าย ที่รับสินค้ามาขายทั้งหมด 89 บาท
จะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น 11 บาท
ส่วนฝั่ง Lotus’s 
- รายได้ จากการขายของทุก ๆ 100 บาท
- หักค่าใช้จ่าย ที่รับสินค้ามาขายทั้งหมด 82 บาท
จะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น 18 บาท
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันชัด ๆ ก็จะเห็นได้ว่า 
ห้าง Lotus’s ที่ขายของเป็นชิ้น ๆ ในราคาแพงกว่า 
จะมีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่าห้าง makro ที่ขายของเป็นแพ็ก ๆ ในราคาขายส่ง
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่ซื้อมาและขายไปนั้น ไม่ได้มีแค่ต้นทุนค่าสั่งซื้อสินค้า มาวางขายในเชลฟ์เพียงอย่างเดียว
แต่จะมีต้นทุน ที่เป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ ด้วย
ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ก็อย่างเช่น 
-ต้นทุนในการทำการตลาด ทำโปรโมชันสินค้า 
-ค่าใช้จ่ายพนักงาน 
-ต้นทุนโลจิสติกส์ 
-ต้นทุนค่าเสื่อมราคา
ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขที่เหลือลงมาเป็นกำไรแล้ว makro ที่เป็นธุรกิจค้าส่ง สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางอ้อมเหล่านี้ ได้ดีกว่า Lotus’s ที่เป็นธุรกิจค้าปลีก..
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
CP AXTRA มีผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 35% คือบริษัท CPALL 
หรือ บมจ.ซีพี ออลล์ เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งก็เป็นบริษัทเรือธงของเครือซีพี เหมือนกัน..
References
- รายงานประจำปี บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า ปี 2566
- งานนำเสนอนักลงทุน บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า มีนาคม 2567
- คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า ไตรมาส 1 ปี 2567 
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.