สรุป 3 กลยุทธ์ของ OR ในวันที่ก้าวไปไกลกว่า ธุรกิจน้ำมัน

สรุป 3 กลยุทธ์ของ OR ในวันที่ก้าวไปไกลกว่า ธุรกิจน้ำมัน

1 พ.ย. 2021
สรุป 3 กลยุทธ์ของ OR ในวันที่ก้าวไปไกลกว่า ธุรกิจน้ำมัน | THE BRIEFCASE
“ความท้าทายของ OR คือเรื่องของการแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เน้นความสะดวก และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
OR พัฒนาธุรกิจปรับกระบวนการทำงานโดยยึดผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง
เรามีประโยคที่ใช้กับทีมงานก็คือ Speed For Execution หรือ ความเร็วในการทำให้แผนงานสำเร็จ”
นี่คือภาพรวมกลยุทธ์ของธุรกิจ ที่คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้เล่าให้ฟัง
ซึ่งดูเหมือนว่า ความท้าทายของธุรกิจ OR จะไม่ต่างไปจากธุรกิจในยุคนี้ที่กำลังปรับตัวครั้งใหญ่จากคลื่น Disruption
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจ OR สามารถดึงดูดความสนใจจากคนไทยได้อยู่เสมอ
หากใครยังจำได้ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา หุ้น IPO ของ OR มียอดจองซื้อจากนักลงทุนรายย่อย 530,000 รายการ มูลค่าซื้อขายภายในวันแรก 47,000 ล้านบาท
ถือว่าเป็น ยอดซื้อขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์ไทยเลยทีเดียว
คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้วกลยุทธ์ธุรกิจของ OR
ในวันที่ก้าวไปไกลกว่า ธุรกิจน้ำมันอย่างในวันนี้ เป็นอย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. สถานีบริการน้ำมัน PTT Station จะเป็นแพลตฟอร์มให้ธุรกิจ “Non-Oil” เข้ามาเกาะ
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน PTT Station, คาเฟ่ อเมซอน และร้านค้าอื่น ๆ ในสถานีบริการน้ำมัน มีค่าเฉลี่ยผู้เข้าใช้บริการกว่า 3 ล้านคนต่อวัน
สิ่งที่ OR กำลังทำจะเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “เราเป็นยิ่งกว่าสถานีบริการน้ำมัน”
อย่างธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 3,100 แห่ง และจะขยายไปสู่ 5,000 แห่งในอีก 5 ปี
ถ้าสังเกตในแง่ของตัวเลขงบการเงิน ในอนาคตตัวเลขกำไร EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ของ OR จะมาจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เกิน 50%
และยังตั้งเป้าว่าจะขยับ EBITDA ของธุรกิจ Non-Oil จาก 25% ไปสู่ 33% ตามแผนลงทุน 5 ปี พ.ศ. 2564-2568 อีกด้วย
พูดง่าย ๆ ว่า OR ต้องการสร้างตัวเลขกำไร ที่มาจากธุรกิจ Non-Oil เป็นหลักนั่นเอง
ส่วนเรื่องการมาของรถ EV ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล
ปัจจุบัน PTT Station มีการนำร่องลงทุน EV Charger ไปแล้วกว่า 25 สาขา รองรับรถ EV ได้ทุกประเภท
ที่น่าสนใจก็คือ PTT Station จะเป็น Living Community
เพราะในขณะที่ลูกค้ารอการชาร์จ ก็สามารถเข้าไปนั่งเล่น กิน ดื่ม ภายในสถานีบริการได้
เท่ากับว่า OR จะมีรายได้จากธุรกิจ Non-Oil เข้ามาเพิ่มเติม นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจหากจะเห็น OR รุกลงทุนในธุรกิจอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
อย่างการเข้าไปลงทุนและถือหุ้นโอ้กะจู๋เมื่อต้นปี และล่าสุดก็คือ ร้านอาหารญี่ปุ่น โคเอ็น ซูชิ บาร์
2. ลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นแบรนด์สากล
ปัจจุบัน OR มีการลงทุนในต่างประเทศ 10 ประเทศ ทั้งในรูปแบบของบริษัทย่อย และบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เช่น สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในลาวและกัมพูชา
ซึ่งลูกค้าเชื่อมั่นในตัวแบรนด์และคุณภาพสินค้า จึงมองว่าโอกาสขยายไปต่างประเทศยังเปิดกว้างอีกมาก
ที่น่าสนใจก็คือ ในแผนลงทุน 5 ปี มูลค่า 74,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วน 22% จะเป็นการลงทุนด้านต่างประเทศ
ตัวอย่างดีลที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น
- การร่วมทุนกับเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ทำธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ที่ประเทศเวียดนาม
- การร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ในพม่า ทำธุรกิจการค้าน้ำมัน และการค้า LPG ครบวงจร
- การตั้งบริษัทย่อยในประเทศจีน ทำธุรกิจ PTT Lubricants และธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน
3. การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดล Retailing Beyond Fuel
สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ สัดส่วน 80% จะเป็นของ SMEs
เราจึงถือว่า บริษัทอยู่ได้ สังคม ชุมชนต้องอยู่ได้ด้วย ด้วยโมเดล Retailing Beyond Fuel
อย่างในเรื่องของสังคม ไม่ว่าธุรกิจ OR จะไปตั้งอยู่ที่ไหน สังคมโดยรอบจะต้องได้รับโอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับ OR ด้วย
เช่น เมื่อ 2 ปีก่อน OR ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “ไทยเด็ด”
ประกอบด้วย ผัดไทยภูเขาไฟ จากบุรีรัมย์, กระเทียมดำ จากลำพูน, ผลิตภัณฑ์กระจูด จากนครศรีธรรมราช
สะท้อนได้ว่า OR ให้ความสำคัญกับชุมชนจริง ๆ
และปัจจุบันก็มี SMEs กว่า 200 ราย ที่นำผลิตภัณฑ์มาขายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เป็นที่เรียบร้อยแล้ว..
References
-บทสัมภาษณ์คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
โดย ลงทุนแมน
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.