รู้จัก คาโรชิ โรคทำงานหนักจนตาย ของคนญี่ปุ่น

รู้จัก คาโรชิ โรคทำงานหนักจนตาย ของคนญี่ปุ่น

26 ก.ค. 2021
รู้จัก คาโรชิ โรคทำงานหนักจนตาย ของคนญี่ปุ่น | THE BRIEFCASE
ถ้าถามว่า คนชาติไหนทำงานหนักมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก ? หลายคนน่าจะนึกถึงคนญี่ปุ่น
และการทำงานหนักของชาวญี่ปุ่นนี่เอง ที่นำไปสู่โรคที่เรียกว่า “Karoshi” ซึ่งเกิดจาก ภาวะการทำงานหนักจนตาย
คำว่า Karoshi อ่านว่า “คาโรชิ” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นหาวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ?
ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย มักมีความคิดว่า เมื่อพวกเขาได้ทำงานแล้ว พวกเขามักจะทุ่มเททำงานอย่างหนัก จนหลายครั้ง สามารถใช้คำว่าทำงานอย่างไม่คิดชีวิต หรือทำงานแบบถวายชีวิตให้บริษัทเลยก็ว่าได้
ที่คนญี่ปุ่นชอบทำงานหนักมาตั้งแต่ในอดีต เพราะด้วยความที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ญี่ปุ่นจึงไม่ได้มีทรัพยากรเพียบพร้อมเหมือนประเทศมหาอำนาจทั้งสอง หรือประเทศอื่น ๆ
แต่ความไม่อุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรนี่เอง ที่กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ให้ผู้คนในดินแดนอาทิตย์อุทัยมีจิตวิญญาณแห่งการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และต่อยอดมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องใส่พลังให้เต็มที่เสมอ
ยิ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า การทำงานหนักจะทำให้ประเทศกลับมาเจริญรุ่งเรืองได้อีกครั้ง และการทำงานหนัก ถือเป็นหนทางที่จะทำให้ตนเองมีชีวิตที่รุ่งเรืองได้
ในญี่ปุ่นจะมีคำว่า “อิชโชเก็มเม” ซึ่งมีความหมายว่า การทุ่มเทกับสิ่งที่กำลังทำอย่างสุดชีวิต
ถ้าใครที่ได้ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นหรือได้รู้จักกับคนญี่ปุ่น จะสังเกตได้ว่าคนญี่ปุ่นจะทุ่มเทกับการทำงานมาก มากถึงขนาดที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานก่อนเวลา และเลิกงานหลังเวลางานเป็นประจำ
ซึ่งหลายครั้ง การทำงานหนักของคนญี่ปุ่น ส่งผลให้พนักงานเสียชีวิตทั้งจากการเกิดโรค หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย
ข้อมูลของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ระบุว่า ในปัจจุบัน ชั่วโมงการทำงานตามมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือสูงสุดประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า หลายประเทศอาจมีระยะเวลาในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2016 มีคนงาน 10% ของแรงงานทั่วโลก ที่ต้องทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์
ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 745,000 คนในปีนั้น จากการเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหนักเป็นเวลานาน
สำหรับประเทศญี่ปุ่น ในปี 1988 ผลการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า แรงงานเพศชายในญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 4 ทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีคนญี่ปุ่นที่ทำงานหนักเช่นนี้อยู่จำนวนมาก
ที่น่าตกใจคือ ชาวญี่ปุ่นยังไม่ค่อยได้ใช้วันลาหยุดประจำปี
ซึ่งข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2018 มีเพียง 52.4% ของแรงงานที่ใช้สิทธิ์ลาพักร้อน
โดยเหตุผลของคนที่ไม่ใช้สิทธิ์ลานั้น ก็เพราะว่า พวกเขา “รู้สึกผิดที่จะใช้สิทธิ์ลาหยุด”
ขณะที่บางส่วนใช้สิทธิ์ลา ก็เป็นเพียงการลาพักร้อนไม่กี่วันเท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนวันลาคงเหลืออยู่มาก โดยให้เหตุผลว่า สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ไม่เอื้ออำนวยให้ลาพักร้อนได้นาน ๆ
แล้ว “การทำงานหนัก” พาเราไปสู่ “การตาย” ได้อย่างไร ?
การทำงานที่หนักมากเกินไปส่งผลกระทบหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ร่างกายอ่อนล้า จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
หรือกระทั่งส่งผลให้เกิดความเครียดจนกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือแม้แต่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ จนบางครั้งนำไปสู่การเสียชีวิต
ที่เป็นแบบนี้เพราะ เวลาที่คนเราเครียดมาก ๆ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า “คอร์ติซอล” (Cortisol)
ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ มีผลต่อกระบวนการทำงานของระบบหัวใจ เสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในสมองแตกได้
ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกการทำงานอย่างหนักจนตายนี้ว่า โรค “คาโรชิ”
โรคคาโรชิ ถูกพบและเรียกชื่อนี้เป็นครั้งแรก ในปี 1969
โดยมีพนักงานชายอายุ 29 ปี ที่ทำงานในแผนกจัดส่งของในบริษัทหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบว่ามีสาเหตุมาจากความเครียดจากการทำงานหนัก
เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาความเครียดจากการทำงานหนักของแรงงาน
ถึงขนาดจัดตั้ง “Karoshi Hotlines” โทรศัพท์สายตรงที่จัดไว้ให้คำปรึกษา สำหรับแรงงานญี่ปุ่นที่อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคาโรชิ
แม้ในวันนี้ชาวญี่ปุ่นจะมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีภาวะ Workaholism หรือภาวะที่เรียกว่า บ้างาน ซึ่งถือเป็นปัญหารุนแรงต่อสังคมญี่ปุ่น จนนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
แล้วตอนนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น หาวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ?
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด
เช่น การปฏิรูปรูปแบบการทำงานด้วยการลดชั่วโมงการทำงาน อย่างในแผนพัฒนานโยบายเศรษฐกิจฉบับใหม่ของญี่ปุ่นในปี 2021 ได้เสนอให้มีการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยให้ชีวิตการทำงานของชาวญี่ปุ่นมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น
โดยแนวทางการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่า จะช่วยให้ผู้คนมีเวลาทำงานพาร์ตไทม์ งานเสริม ไปเรียนเสริม ไปทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ เมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น
และเชื่อว่า นี่จะเป็นหนทางที่ช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะความเครียด จากการทำงานหนัก จนนำไปสู่ความตาย แบบที่พวกเขาเรียกว่า “โรคคาโรชิ” ได้นั่นเอง..
References:
-https://www.ilo.org/global/standards/subjects-covered-by-international-labour-standards/working-time/lang--en/index.htm
-https://en.wikipedia.org/wiki/Working_time
-https://hrmasia.com/asia-has-longest-working-hours-but-least-productive-and-healthy/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_asset_price_bubble
-https://www.bbc.com/worklife/article/20200114-how-the-japanese-are-putting-an-end-to-death-from-overwork
-https://www.moneycontrol.com/news/world/japan-proposes-four-day-workweek-for-better-work-life-balance-7084271.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.