รู้จัก Hackathon กิจกรรมสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่บริษัทเทค ทั่วโลกนิยมใช้

รู้จัก Hackathon กิจกรรมสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่บริษัทเทค ทั่วโลกนิยมใช้

5 ก.ค. 2021
รู้จัก Hackathon กิจกรรมสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่บริษัทเทค ทั่วโลกนิยมใช้ | THE BRIEFCASE
เคยสงสัยไหมว่า เวลาที่บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก เขาต้องระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เขามีวิธีการกันแบบไหน ?
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกใช้และเป็นที่ยอมรับคือ การจัดกิจกรรมที่ชื่อว่า Hackathon
Hackathon เกิดจากคำว่า Hack กับ Marathon
ซึ่ง Hack มาจาก Hacker ซึ่งเปรียบเปรยเหมือนกับกลุ่มคนที่ชอบทดลองและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ
และ Marathon เป็นคำที่สื่อถึงการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ เหมือนกับการแข่งวิ่งมาราธอน
ดังนั้น Hackathon ก็คืออีเวนต์รวมตัวผู้คนที่หลากหลาย สายงานที่แตกต่างกัน
เพื่อมาร่วมกันสร้างไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ตามโจทย์ที่ได้รับภายในระยะเวลาที่จำกัด
โดยทั่วไปจะใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงหรือใช้ช่วงเวลาสุดสัปดาห์เท่านั้น
ซึ่งปกติแล้วจะจัดขึ้นโดยบริษัทหรือองค์กรด้านเทคโนโลยี
โดยแต่ละทีมจะมีสมาชิกประมาณ 2-5 คน
ประกอบไปด้วยพนักงานในสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักออกแบบ นักคิด และนักพัฒนา
จุดประสงค์หลักของการจัดการแข่งขัน Hackathon
คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้สิ่งใหม่
โดยไม่ต้องคำนึงว่า สิ่งที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้ จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ทันที
แต่มีเป้าหมายก็เพื่อฝึกฝนให้ผู้เข้าร่วมได้เตรียมพร้อม สำหรับการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้ ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความคิดสตาร์ตอัป
ก็มักนิยมใช้ Hackathon เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างความสนุก แต่ยังสร้างการเรียนรู้มหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย
ตัวอย่างกิจกรรม Hackathon ที่จัดขึ้นโดยบริษัทชื่อดัง
- Facebook เคยร่วมมือกับ Nintendo จัดกิจกรรม Hackathon ขึ้นโดยให้พนักงานแข่งขันกันเอง
เพื่อสร้างด่านใหม่สำหรับเกม Super Mario
- Dropbox จัดกิจกรรม Hackathon ขึ้นในบริษัท จนเกิดโปรเจกต์ใหม่ที่ชื่อว่า Pied Piper
ซึ่งเป็นอัลกอริทึมบีบอัดไฟล์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากซีรีส์ชื่อดังอย่าง Silicon Valley
ถ้าหากเราอยากจัด Hackathon จะมีวิธีอย่างไร ?
อย่างแรกสุดคือ กติกาในงาน Hackathon ต้องมีลักษณะดังนี้
1. โจทย์ที่ถูกกำหนดต้องมีความชัดเจน
เช่น ปัญหาที่บริษัทอยากแก้ไขหรือปรับปรุงคือเรื่องอะไร
2. โจทย์ต้องสามารถบรรลุผลได้ ไม่ยากจนเกินไป
โปรเจกต์ที่แต่ละกลุ่มทำเสร็จสิ้นเมื่อจบ Hackathon
จะต้องสำเร็จร้อยละ 25% จากสิ่งที่พวกเขาคิด
3. จัดสมาชิกแต่ละกลุ่มให้มีความหลากหลาย
เพื่อให้สมาชิกในทีมแต่ละคนมีสิ่งที่จะต้องทำ
รวมไปถึงการส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ต่อมาสิ่งที่ผู้จัด Hackathon ควรเตรียมพร้อมคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ปกติแล้วคนที่เพิ่งเริ่มแข่งขัน Hackathon
มักจะมีปัญหาคิดว่า ตัวเองมีทักษะที่ไม่เพียงพอ
และพวกเขาอาจไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงทักษะของตนเองเข้ากับโปรเจกต์อย่างไร
ส่งผลให้เมื่อทำกิจกรรม กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่กล้ามีส่วนร่วมในโปรเจกต์
ผู้จัด Hackathon จึงต้องคอยเป็นผู้แนะนำกลุ่มคนเหล่านี้ ว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ผู้จัด Hackathon จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมแข่งขัน
เพื่อรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละคน
และระหว่างการแข่งขันอาจแทรกเวิร์กช็อปหัวข้อที่เกี่ยวกับโจทย์ของ Hackathon
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกสบายใจ ไม่ถูกกดดันจากการแข่งขันมากเกินไป
นอกจากการเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องคนแล้ว
สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมก็จะต้องส่งเสริมด้วยเช่นกัน
อาทิ Wi-Fi คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำหรับระดมไอเดียต่าง ๆ อย่างปากกา กระดาษโพสต์อิต และไวต์บอร์ด
รวมถึงอาหารสำหรับทานเล่น ควรหลีกเลี่ยงอาหารหนัก ๆ ที่ทำให้คนง่วง เช่น ขนมปัง
หรือสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการทำงาน เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลังจากจบกิจกรรม Hackathon ควรมีชั่วโมงแห่งความสุข
โดยการจัดปาร์ตี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พบปะสังสรรค์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
รวมถึงบันทึกผลลัพธ์จากการจัดงาน เพื่อให้รู้ว่าสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำในครั้งต่อไป
และสำรวจ Feedback จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า Hackathon เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ที่ทำให้พนักงานตื่นตัวและรู้สึกสนุกไปกับการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ
ทั้งยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรใฝ่การเรียนรู้ และนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
References:
-https://hackathon.guide/
-https://freshaccounts.amtd.com/blog-details/2015/4-Companies-Using-Hackathons-to-Drive-Product-Innovation/default.aspx
-https://www.rasmussen.edu/degrees/technology/blog/what-is-a-hackathon/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.