อธิบายเคส วงจรเงินสด ผ่านจุดร่วมที่คล้ายกัน ของธุรกิจ 7-Eleven กับ Spotify

อธิบายเคส วงจรเงินสด ผ่านจุดร่วมที่คล้ายกัน ของธุรกิจ 7-Eleven กับ Spotify

20 มี.ค. 2025
7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อ ส่วน Spotify เป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลง
ทั้ง 2 ธุรกิจนี้ก็ดูเหมือนจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แต่หากลองเปรียบเทียบโครงสร้างทางการเงิน และการบริหารธุรกิจ
เราจะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 ธุรกิจนี้ ต่างมีจุดร่วมที่น่าสนใจ
จุดร่วมที่น่าสนใจนั้น มีอะไรบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. ต้นทุนค่าใช้จ่าย ในสินค้าที่ได้มา
CPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทยมีสินค้าเป็นของกิน ของใช้ต่าง ๆ วางอยู่บนเชลฟ์รอลูกค้าไปหยิบ
โดยก็จะรับสินค้าต่าง ๆ มาจากโรงงานผู้ผลิตหรือซัปพลายเออร์ ที่ส่งสินค้าขายให้กับ CPALL เจ้าของ 7-Eleven
ส่วน Spotify ซึ่งมีสินค้าหลัก เป็นบริการสมาชิกสำหรับ Subscription รายเดือน เพื่อฟังเพลงและพอดแคสต์ได้ไม่อั้น แบบไม่มีโฆษณา
ดังนั้น ต้นทุนของ Spotify ก็คือ ต้นทุนการนำเข้า สินค้าดิจิทัล จากศิลปินหรือเจ้าของผลงานเพลง เข้ามาวางไว้ในแพลตฟอร์มของ Spotify
โดยทั้ง 2 ธุรกิจ จะมีวิธีการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่แตกต่างกันคือ
- 7-Eleven จะเรียกเก็บเงินจากสินค้าที่ลูกค้าซื้อ แล้วคิดเงินตามราคาสินค้านั้น
- Spotify จะมีรูปแบบการเก็บเงิน เป็นค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งเราจะเรียกว่าโมเดล Subscription
แม้ว่า Spotify จะมีโมเดลรายได้ที่แตกต่างจาก 7-Eleven แต่ Spotify ก็มีต้นทุนในการได้มาซึ่งสินค้า ที่คล้าย ๆ กัน
โดย Spotify จะรับสินค้า อย่างเช่นเพลงหรือพอดแคสต์มาจากศิลปินหรือเจ้าของผลงาน เข้ามาไว้ในแพลตฟอร์ม
ซึ่ง Spotify จะต้องจ่ายค่า Royalty Fee ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์เพลงหรือพอดแคสต์
ยิ่งมีคนฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ มากเท่าไร Spotify ก็ต้องจ่ายเงินให้กับศิลปิน หรือเจ้าของผลงานมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น ต้นทุนค่า Royalty Fee ของ Spotify ก็เปรียบเสมือนเป็นต้นทุนผันแปร
ที่ธุรกิจจำเป็นต้องจ่าย ตามจำนวนครั้งที่สมาชิก Spotify กดเข้าไปฟังผลงานนั้น ๆ
เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ยิ่งสินค้าที่วางขายนั้นมีคนมาซื้อมากเท่าไร
7-Eleven ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อสั่งสินค้านั้นมาวางขายบนเชลฟ์ ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อ
ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ธุรกิจ จะมีต้นทุนหลักที่คล้ายกัน
แต่ทั้ง 2 ธุรกิจ ต่างก็มีวิธีในการเพิ่มอัตรากำไรที่แตกต่างกัน
เช่น
Spotify จะเพิ่มอัตรากำไร ด้วยการเพิ่มพื้นที่โฆษณา สำหรับสมาชิก Spotify ที่ฟังฟรี หรือยังไม่ได้ Subscription เพื่อจ่ายเงิน
หรือการปรับขึ้นราคา Subscription
หรือ CPALL เจ้าของ 7-Eleven ก็จะเน้นลดต้นทุนต่อหน่วย
ในการผลิตและรับซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ และเพิ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง ๆ มาวางขายให้มากขึ้น
2. วงจรเงินสด (Cash Cycle)
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle
โดยจะอธิบายสั้น ๆ ก็คือ รอบระยะเวลาที่ธุรกิจใช้ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้า ไปจนถึงวันที่ได้รับเงินเข้ามาในกิจการ
ซึ่ง Cash Cycle ก็สามารถคำนวณได้จาก
ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาชำระหนี้
ก็ต้องบอกว่า การบริหารเงินสดที่ใช้หมุนเวียนกิจการของทั้ง 2 ธุรกิจ ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน
โดยทั้ง 2 เจ้า สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว และสามารถยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ ค่าสินค้าหรือบริการให้ช้าออกไปได้
- CPALL เจ้าของ 7-Eleven จะใช้เวลาเพียง 1 วัน ในการเก็บเงินจากลูกค้า
แต่ CPALL สามารถยืดระยะเวลาการชำระเงิน ค่าสินค้ากับซัปพลายเออร์ ออกไปได้ถึง 63 วัน
- Spotify ใช้เวลาเฉลี่ย 18 วัน ในการเก็บเงินค่าสมาชิกรายเดือน
แต่ Spotify สามารถยืดระยะเวลาการชำระเงิน ค่าลิขสิทธิ์ในรูปแบบ Royalty Fee กับเจ้าของผลงานได้ถึง 45 วัน
จะเห็นได้ว่าธุรกิจทั้ง 2 นี้ต่างก็มีอำนาจต่อรอง ทั้งฝั่งลูกค้า และฝั่งซัปพลายเออร์
ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้ธุรกิจทั้ง 2 ธุรกิจสามารถมีเงินสดที่ใช้หมุนเวียนกิจการมากขึ้น และทำให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องมากขึ้น
นอกจากการดู ระยะเวลาเก็บหนี้ และระยะเวลาชำระหนี้แล้ว
อีก 1 ปัจจัย ที่มีผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ คือ “ระยะเวลาขายสินค้า”
โดยระยะเวลาขายสินค้า ก็คือ ระยะเวลาที่สินค้าอยู่ในสต๊อก ก่อนจะขายออกไป
- 7-Eleven มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย = 29 วัน
- Spotify มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย = 0 วัน
ซึ่งสาเหตุที่ Spotify มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยเป็น 0 วัน นั่นก็เพราะว่า
สินค้าจริง ๆ ของ Spotify ก็คือบริการสตรีมมิงเพลงและพอดแคสต์ สำหรับสมาชิก
ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ก็ถือเป็น Intangible Goods
หรือเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับ ลิขสิทธิ์ผลงานเพลงหรือพอดแคสต์ ซึ่งผู้ใช้งานไม่สามารถจับต้องได้
ดังนั้น ธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิง Spotify จึงไม่มีสินค้าคงคลังที่ค้างสต๊อก
ก่อนขายออกไปให้กับลูกค้า หรือเรียกได้ว่า สินค้าคงคลัง = 0

ทีนี้ เราลองมาเปรียบเทียบสภาพคล่อง ของทั้ง 2 ธุรกิจ กันดู
ผ่านการคำนวณ “วงจรเงินสด” หรือ Cash Cycle
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาชำระหนี้
ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
- มีระยะเวลาขายสินค้า 29 วัน
- มีระยะเวลาเก็บหนี้ 1 วัน
- มีระยะเวลาชำระหนี้ 63 วัน
ดังนั้น วงจรเงินสดของ 7-Eleven = 29 วัน + 1 วัน - 63 วัน หรือเท่ากับ -33 วัน
ซึ่งการที่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีวงจรเงินสด ติดลบ 33 วัน ก็หมายความว่า
7-Eleven จะได้รับเงินจากลูกค้า ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินให้ซัปพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า เป็นเวลาเฉลี่ย 33 วัน
ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิง Spotify
- มีระยะเวลาขายสินค้า 0 วัน
- มีระยะเวลาเก็บหนี้ 18 วัน
- มีระยะเวลาชำระหนี้ 45 วัน
ดังนั้น วงจรเงินสดของ Spotify = 0 วัน + 18 วัน - 45 วัน หรือเท่ากับ -27 วัน
ซึ่งการที่แพลตฟอร์มสตรีมมิง Spotify มีวงจรเงินสดติดลบ 27 วัน ก็หมายความว่า
Spotify จะได้รับเงินจากลูกค้า ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินให้ซัปพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า เป็นเวลาเฉลี่ย 27 วัน นั่นเอง..
© 2025 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.