สรุปมุม ESG โอลิมปิก ปารีส 2024 ทำอย่างไรให้ปล่อย ก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา
10 ส.ค. 2024
รู้ไหมว่าในการจัดงานโอลิมปิกแต่ละครั้งที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) หรือ GHG ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนหลักหลายล้านตัน
- งาน London 2012 ปล่อย GHG เทียบเท่า CO2 จำนวน 3.4 ล้านตัน
- งาน Rio de Janeiro 2016 ปล่อย GHG เทียบเท่า CO2 จำนวน 3.6 ล้านตัน
- งาน Tokyo 2021 ซึ่งจัดในช่วงล็อกดาวน์ และไม่เปิดให้ผู้ชมเข้างาน ก็ปล่อย GHG เทียบเท่า CO2 จำนวน 1.9 ล้านตัน
โดยวิธีการวัดปริมาณการปล่อย CO2 จะวัดจาก Carbon Footprint หรือปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมาในทุกกิจกรรมในงานโอลิมปิกรวมกัน
เช่น การก่อสร้างอาคารหรือสนามกีฬาใหม่ ๆ, การขนส่งต่าง ๆ ภายในงาน, ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า
แต่งาน Paris 2024 ครั้งนี้มีการตั้งเป้าว่าจะปล่อย GHG เทียบเท่า CO2 อยู่ที่ 1.75 ล้านตัน เท่านั้น
แล้วทางเจ้าภาพฝรั่งเศส ผู้จัดงานแข่งขันในปีนี้ ทำอย่างไรถึงสามารถจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เริ่มต้นจากวางแผนปริมาณ Carbon Footprint หรือปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมาในทุกกิจกรรมรวมกัน ที่จะถูกคำนวณและวางแผนไว้ก่อนแล้ว
โดยงาน Olympic Games Paris 2024 มีเป้าหมายคือ จะลดการปล่อย CO2 ให้เหลือน้อยกว่า 1.75 ล้านตัน
แบ่งเป็น 3 หมวดเท่า ๆ กัน คือ
- 1 ใน 3 มาจากการท่องเที่ยวและการเดินทางของผู้ชม
- 1 ใน 3 มาจากการก่อสร้าง ดังนั้น 95% ของสถานที่จัดงาน Paris 2024 จะใช้สิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดการปล่อย CO2 จากการก่อสร้างที่ไม่จำเป็น
- 1 ใน 3 มาจากการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เช่น ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม เป็นหลัก, เน้นใช้วัตถุดิบประเภท Plant-based และลดการใช้อุปกรณ์ประเภทพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง, เน้นการขนส่งด้วยรถสาธารณะ เส้นทางรถจักรยาน และรถยนต์พลังงานหมุนเวียน
ยิ่งไปกว่านั้น ทางฝรั่งเศสจะชดเชยการปล่อย CO2 อีก 1.5 ล้านตัน ด้วยการซื้อและพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ในหลายประเทศ
ซึ่งคาร์บอนเครดิตนั้นก็คือ การที่องค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้ไปขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่น ๆ
โดยทางผู้จัดก็ได้มีการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น
- โครงการปลูกป่า ป้องกัน และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในฝรั่งเศส กัวเตมาลา เคนยา และเซเนกัล
- โครงการ Solar Farm ในเวียดนาม และเซเนกัล
- โครงการจัดสรรน้ำและการจัดการก๊าซหุงต้มในเคนยา คองโก ไนจีเรีย และรวันดา
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้งาน Paris 2024 เป็นโอลิมปิกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มานั่นเอง..
References
-https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Paris8-SBUv314-FB-2024-07-17.aspx