สรุปประเด็น เรื่อง ESG กับธุรกิจอสังหาฯ ทำไมถึงสำคัญมาก จากมุมมอง KKP
21 มิ.ย. 2024
จากโลกร้อน เปลี่ยนมาเป็นโลกเดือด
จากเดิมที่ปี 2014 อุณหภูมิสูงสุดของกรุงเทพฯ เคยอยู่ที่ 37 องศา
แต่ในปี 2024 นี้ อุณหภูมิสูงสุดได้ทะลุเกิน 40 องศาไปแล้ว
ในจังหวะนี้ เห็นได้ชัดว่า ESG ไม่ใช่แค่การทำความดีเพื่อสังคม แต่เป็นความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งธุรกิจและผู้บริโภค เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสามารถเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงที่จับต้องได้ แถมยังใกล้ตัวมากขึ้น
และหากผู้เล่นคนไหนไม่สามารถชูเรื่อง ESG ได้อย่างโดดเด่น
อาจกลายเป็นธุรกิจนอกสายตาของนักลงทุนไปโดยปริยาย..
โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้จัดงานสัมมนา ‘KKP Shaping Tomorrow เราปรับ-โลกเปลี่ยน’
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ ESG และคำแนะนำในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของแวดวงอสังหาริมทรัพย์
มีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ เป็นข้อ ๆ
1. ทำไมธุรกิจอสังหาฯ ถึงต้องให้ความสำคัญกับ ESG ?
ข้อมูลจากธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้อธิบายว่า กลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดคือ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง และการก่อสร้าง
ในเมื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการและใช้วัสดุก่อสร้างโดยตรง และอาคารบ้านเรือนก็จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงมีส่วนสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้นผู้ประกอบการในไทยจึงต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงทางธุรกิจ
เนื่องจากนักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ธุรกิจที่ไม่มีนโยบาย ESG ที่ชัดเจน อาจถูกมองข้ามจากนักลงทุน
2. ใช้วัสดุก่อสร้างรักษ์โลก ไม่ได้แปลว่าเป็นโครงการสีเขียว
จากสาเหตุข้างบนทำให้บ้านหรืออาคารยุคใหม่ เน้นเรื่องของการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การติดตั้งพลังงานทางเลือก และการออกแบบโครงสร้างที่ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า
ยกตัวอย่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการสร้างบ้าน ที่ KKP ลองคำนวณออกมา
- บ้านทาวน์เฮาส์ขนาด 2-4 ล้านบาท จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาประมาณ 26 ตันต่อหลัง ซึ่งถ้าเราปลูกต้นไม้ในที่ดิน 1 ไร่แบบเต็มพื้นที่ จะดูดซับคาร์บอนได้ปีละประมาณ 1.2 ตันเท่านั้น
ซึ่งน้อยกว่าปริมาณก๊าซที่บ้านทาวน์เฮาส์หลังเดียวปล่อยออกมา แม้จะใช้เวลานานถึง 10 ปี ต้นไม้ 1 ไร่ก็ยังดูดซับก๊าซจากบ้านเพียงหลังเดียวไม่หมด
ดังนั้นอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จึงต้องกลับมาทบทวนเรื่องวัสดุก่อสร้างใหม่ เพราะการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 10% โดยไม่เพิ่มต้นทุนในการก่อสร้าง
นอกเหนือจากการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่บริษัทอสังหาฯ ควรทำคือ โครงการต้องคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือค่า Emission ให้ชัดเจน
เพราะการนำวัสดุรักษ์โลกมาใช้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าโครงการนั้นจะกลายเป็นโครงการสีเขียว (Green Project) ทันที เพราะถ้าหากโครงการไม่สามารถคำนวณค่า Emission ได้ ก็ไม่สามารถบริหารจัดการและทำให้โครงการมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้
3. การออกแบบอาคารที่ดี จะช่วยลูกค้าประหยัดค่าไฟ
โดยคุณเจมส์ ดูอัน จากบริษัท คอรัล โฮลดิ้ง จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมสีเขียวของประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างกรณีของการใช้วัสดุและการออกแบบที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้
ถ้าดูจาก EUI (Energy Use Intensity หรือ อัตราการใช้พลังงานของกิจกรรมต่อพื้นที่) จะเห็นว่าอาคารในประเทศไทย มีอัตราการใช้พลังงานในอาคารเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 280 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี
ส่วนอาคารในสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 225 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี
แต่ตึกออฟฟิศของคอรัลที่สุขุมวิท 39 มีค่า EUI อยู่ที่ 68 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาคารในประเทศไทย
ทำให้เห็นว่าการออกแบบอาคารให้มีค่า EUI ต่ำ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและประหยัดพลังงานได้
เนื่องจากความร้อนในอาคารมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ อาคารและเครื่องจักรภายในอาคาร
โดยอาคารที่ออกแบบดีสามารถกันความร้อนได้ถึง 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% มาจากความร้อนภายในจากเครื่องไฟฟ้าและคน
โดยปกติพื้นที่ 1 ตารางเมตร ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ 1,000 BTU แต่อาคารที่บริษัทออกแบบ ใช้ขนาดไม่เกิน 250 BTU เนื่องจากสามารถกันความร้อนไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก
4. ความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป
ในขณะที่คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา ตัวแทนจากบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้แชร์ว่า ผู้ประกอบการ มักคิดถึงแต่ต้นทุนเริ่มต้น (Initial Cost) แต่ไม่ได้มองถึงวงจรท้ายสุด (Last Cycle)
ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะใช้วัสดุก่อสร้างแบบปกติทั่วไปที่มีราคาต้นทุนต่ำกว่า แทนการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่รักษ์โลกที่มีราคาสูงกว่า
โดยคุณวชิระชัยได้อธิบายเพิ่มว่า จริง ๆ แล้วถ้าเป็นอาคารที่เราใช้เอง อย่าไปมองการก่อสร้างเป็นต้นทุนทั้งหมด แต่มองเป็นการลงทุนน่าจะคุ้มกว่า
ซึ่งในช่วงหลังเทคโนโลยีการผลิตวัสดุรักษ์โลกบางตัวพัฒนาขึ้น ทำให้ราคาสมเหตุสมผลมากขึ้นด้วย
เช่น ปูนซีเมนต์ประเภทคาร์บอนต่ำ ตอนนี้มีราคาเท่ากับปูนซีเมนต์ทั่วไปแล้ว ดังนั้นวัสดุที่ทำเพื่อรักษ์โลกจึงไม่ได้แพงเสมอไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หากไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนตั้งแต่แรกและต้องแก้ไขหน้างาน ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม แทนที่จะมาอัดวัสดุรักษ์โลกใส่เข้าไปทีหลัง แต่ถ้าใช้แนวคิดเรื่องอาคารสีเขียวตั้งแต่ต้น ต้นทุนการก่อสร้างอาจเพิ่มเพียงนิดหน่อยหรืออาจไม่เพิ่มด้วยซ้ำ
และยังตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้ามากขึ้น
5. อสังหาริมทรัพย์เริ่มย้ายไปตลาดคาร์บอนต่ำ เพื่อดึงดูดนักลงทุน
โดยคุณสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ จากธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้ให้ข้อมูลว่า
ในสหภาพยุโรป (EU) มีการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ขณะที่สหราชอาณาจักรก็เริ่มประกาศเรื่องภาษีคาร์บอนแล้ว
ด้านการลงทุน กองทุนขนาดใหญ่อย่าง BlackRock ได้ระบุชัดเจนว่า ESG (การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน) เป็นเรื่องสำคัญ
หากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ปรับตัวและยังไม่ให้ความสำคัญกับ ESG ธุรกิจก็อาจได้รับผลกระทบและสูญเสียโอกาสจากกระแสการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้
ดังนั้น มาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายเริ่มย้ายไปสู่ตลาดคาร์บอนต่ำ
โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจก พลังงานสะอาด วัสดุยั่งยืน เครื่องชาร์จรถอีวี
และรวมถึง การจัดการของเสียด้วย..
Reference
- ข่าวประชาสัมพันธ์งานสัมมนา ‘KKP Shaping Tomorrow เราปรับ-โลกเปลี่ยน’