สรุปเรื่อง ESG Bond หุ้นกู้ ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ เริ่มมา 6 ปี ระดมทุนไปแล้ว 700,000 ล้าน

สรุปเรื่อง ESG Bond หุ้นกู้ ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ เริ่มมา 6 ปี ระดมทุนไปแล้ว 700,000 ล้าน

20 ก.ค. 2024
รู้หรือไม่ ? ESG Bond เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2561 
โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ESG Bond มีมูลค่าการระดมทุนแต่ละปีดังนี้ 
ปี 2561 ระดมทุนได้ 10,200 ล้านบาท 
ปี 2562 ระดมทุนได้ 29,800 ล้านบาท 
ปี 2563 ระดมทุนได้ 86,400 ล้านบาท
ปี 2564 ระดมทุนได้ 174,800 ล้านบาท 
ปี 2565 ระดมทุนได้ 220,000 ล้านบาท 
ปี 2566 ระดมทุนได้ 178,800 ล้านบาท
จะเห็นว่าแม้ ESG Bond จะเป็นเทรนด์การระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแค่เพียง 6 ปี แต่กลับมียอดระดมทุนไปแล้วกว่า 700,000 ล้านบาท
แล้ว ​ESG Bond คืออะไร ? ทำไมถึงสามารถระดมทุนได้ปีละเป็น 100,000 ล้านบาทได้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
Bond หรือตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (นักลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ 
โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
ส่วนลูกหนี้ (ผู้ขาย) ก็จะได้รับ “เงิน” จากการระดมทุน เพื่อไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 
แลกกับการต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” และ “เงินต้น” ให้เจ้าหนี้ตามที่กำหนด
โดยการระดมทุนหรือกู้นี้สามารถทำได้ทั้งรัฐบาลและเอกชน
ถ้าขายโดยรัฐบาลก็จะเรียกตราสารหนี้นั้นว่า พันธบัตรรัฐบาล 
หรือถ้าขายโดยเอกชนก็จะเรียกตราสารหนี้นั้นว่า หุ้นกู้เอกชน 
แล้ว ESG Bond เหมือนหรือต่างกับตราสารหนี้ทั่วไปอย่างไร ?
ESG Bond หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเครื่องมือระดมทุนเหมือน ๆ กับตราสารหนี้ทั่วไป แต่แตกต่างกันที่วัตถุประสงค์ในการระดมทุน 
โดย ESG Bond จะเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond) โดยเฉพาะ
โดยเราสามารถแบ่งประเภท ESG Bond ออกเป็น 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
1. Green Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน, การอนุรักษ์พลังงาน, การสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม, การป้องกันและควบคุมมลพิษ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. Social Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกใช้ในโครงการเพื่อสังคม เช่น การลดปัญหาการว่างงาน, ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม, ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร, การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา
3. Sustainability Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน
คือ ส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกใช้เพื่อลงทุนหรือชำระหนี้คืนในโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป
เช่น การสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชน, การศึกษา, สาธารณสุข 
4. Sustainability-Linked Bond หรือ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน
คล้ายกับ Sustainability Bond แต่มีเงื่อนไขด้านผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดหรือเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่ผู้ออกตราสารหนี้กำหนดไว้
เช่น มุ่งผลิตพลังงานทดแทน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศด้อยพัฒนา เป็นต้น
โดยกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ดำเนินการไม่สำเร็จตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ออกตราสารหนี้ก็จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) ให้แก่ผู้ลงทุนหรือเจ้าหนี้ 
ทีนี้เราลองมาดูมูลค่าการระดมทุนโดย ESG Bond ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 2564 ระดมทุนได้ 174,800 ล้านบาท 
ปี 2565 ระดมทุนได้ 220,000 ล้านบาท 
ปี 2566 ระดมทุนได้ 178,800 ล้านบาท
จะเห็นว่ามูลค่าการระดมทุนของ ESG Bond มีการเติบโตขึ้นเกือบทุกปี แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท 
ซึ่งสะท้อนว่าทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้น 
โดยข้อดีของการออก ESG Bond ก็มีหลายอย่าง เช่น  
ในมุมขององค์กร หรือผู้ออกตราสารหนี้
- ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของกิจการ
เพราะเป็นการสื่อสารที่เด่นชัดว่ากิจการหรือธุรกิจนั้นให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างจริงจัง
- ช่วยดึงดูดนักลงทุน
เพราะแค่การดำเนินงานที่มีการเติบโตและผลกำไรที่ดี อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่นักลงทุนมองหา แต่การดำเนินงานที่มีผลกำไร ไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของสังคมอย่างยั่งยืน จะเพิ่มความน่าสนใจของกิจการเราไปอีกขั้น
- เป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
เพราะ ESG Bond คือ การระดมทุนภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้ผู้ออกตราสารหนี้ต้องใส่ใจในการบริหารหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
ในมุมนักลงทุน 
- ช่วยให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
- ช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทนั้น ๆ 
- เป็นการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน
นอกจากนี้ จากข้อมูลของ MSCI ยังพบว่าบริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ได้ดี หรือมีคะแนน MSCI ESG Score สูง จะมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่าบริษัทที่มี MSCI ESG Score ต่ำ หรือทำ ESG ได้ไม่ดี
มากไปกว่านั้น ข้อมูลของ MSCI ยังบอกอีกว่า บริษัทที่ทำธุรกิจโดยครอบคลุมความยั่งยืน ESG ครบทั้ง 3 ด้าน จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าธุรกิจที่โฟกัสความยั่งยืนแค่ E หรือ S หรือ G เพียงด้านเดียว 
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าผู้ออก ESG Bond อาจเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง จากขั้นตอนการสอบทานและการรายงานต่าง ๆ ที่มากกว่าการออกตราสารหนี้ทั่วไประดับหนึ่ง
แต่ก็แลกมาด้วยข้อดีต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นให้ดี
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
ตัวอย่าง องค์กรในไทยที่ออก ESG Bond ช่วงที่ผ่านมา
- บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป (BTS) มูลค่าระดมทุน 26,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาด
- บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่าระดมทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน
- บจก.โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) มูลค่าระดมทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อเช่าซื้อที่ช่วยลดการปล่อยควันพิษ
- บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) มูลค่าระดมทุน 2,400 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด
- บมจ.ปตท. (PTT) มูลค่าระดมทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อโครงการปลูกป่า
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.