สรุป 4 ไอเดีย ลดต้นทุน เพิ่มอัตรากำไร สำหรับคนทำธุรกิจ

สรุป 4 ไอเดีย ลดต้นทุน เพิ่มอัตรากำไร สำหรับคนทำธุรกิจ

31 ก.ค. 2024
ทุกวันนี้ เราคงเห็นสินค้าหลายอย่าง ที่ขายในร้านสะดวกซื้อ
ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ อย่าง
- น้ำเก๊กฮวย หรือน้ำจับเลี้ยง เย็นเย็น ของ เครืออิชิตัน ขายราคาขวดละ 15 บาท 
- แซนด์วิชแฮมชีสอบร้อนพร้อมทาน ขายราคาชิ้นละ 29 บาท 
- น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม Cocomax ขายราคาขวดละ 25 บาท
แม้ว่าสินค้าเหล่านี้ จะขายในราคาย่อมเยา
แต่บริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้า ก็มีอัตรากำไรเพิ่มมากขึ้น จากการลดต้นทุนการผลิตสินค้านั่นเอง..
แล้วบริษัทเหล่านี้ มีวิธีการลดต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างไร 
แน่นอนว่า การจะผลิตสินค้าสักอย่าง ก็มีต้นทุนเกิดขึ้นมากมายระหว่างการผลิต 
เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแพ็กเกจจิง ต้นทุนค่าแรง ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์
คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไร ให้ต้นทุนในการผลิตสินค้า 1 ชิ้น เหลือน้อยที่สุด
ก็จะมีอยู่ 4 ไอเดียที่ทำได้ 
มาดูกันไปทีละข้อ..
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. Economies of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด 
คือการทำให้ “ต้นทุนต่อหน่วยลดลง จากการผลิตสินค้าในสเกลที่มากขึ้น ใหญ่ขึ้น”
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนสร้างโรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ แล้วจ้างคนงานผลิต
แน่นอนว่า เราก็อยากจะผลิตสินค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง 
อย่างเช่น
- ถ้าเราผลิตสินค้า 100,000 ชิ้นต่อวัน 
มีต้นทุนรวม 1,000,000 บาท หมายความว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้น = 10 บาท
- ถ้าเราผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 200,000 ชิ้นต่อวัน 
ทำให้ต้นทุนรวมเพิ่มเป็น 1,200,000 บาท หมายความว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้น = 6 บาท
ซึ่งถ้าเราเพิ่มกำลังการผลิต แล้วต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงแบบนี้ หมายความว่ากำลังเกิดสิ่งที่เรียกว่า Economies of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด
นอกจากนี้ Economies of Scale ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ สำหรับเจรจาต่อรองราคาวัตถุดิบกับคู่ค้า หรือซัปพลายเออร์ได้ด้วย
เช่น ถ้าเราต้องสั่งซื้อวัตถุดิบ ที่ใช้สำหรับการผลิตในปริมาณมาก ๆ เราก็สามารถต่อรองราคาวัตถุดิบ จนเหลือต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลงได้เช่นกัน
2. Utilization หรือ อัตราการใช้กำลังการผลิต 
Utilization จะเป็นตัวที่บอกว่า เราสามารถใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตสินค้า ได้เต็มที่ เต็มเวลาหรือไม่
โดยเราสามารถคำนวณ Utilization ได้จาก
(กำลังที่ผลิตได้จริง / กำลังผลิตทั้งหมด) x 100%
ยกตัวอย่างเช่น
- เครื่องจักร 1 เครื่อง สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลัง 10,000 ชิ้นต่อเดือน
แต่วันนั้น เครื่องจักรผลิตสินค้าได้จริง 5,000 ชิ้นต่อเดือน
ดังนั้น Utilization หรือ อัตราการใช้กำลังการผลิต จะเท่ากับ
(5,000 / 10,000) x 100% เท่ากับ 50%
- รถบรรทุก 1 คัน สามารถบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้าได้ 5,000 ชิ้นต่อเที่ยว
แต่วันนั้น รถบรรทุกบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้าเพียง 3,000 ชิ้น
ดังนั้น Utilization หรือ อัตราการใช้กำลังการผลิต จะเท่ากับ
(3,000 / 5,000) x 100% เท่ากับ 60%
ซึ่งแน่นอนว่า Utilization หรือ อัตราการใช้กำลังการผลิต ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะ
- ต่อให้เครื่องจักร ผลิตสินค้าได้ 500 ชิ้น หรือผลิตเต็มกำลังที่ 1,000 ชิ้น 
เราก็มีต้นทุนคงที่ อย่าง ค่าไฟ และเงินเดือนพนักงานซ่อมบำรุง ที่ต้องจ่ายเท่า ๆ กันทุกเดือน
- ต่อให้รถบรรทุก 1 คัน บรรทุกสินค้า 3,000 ชิ้น หรือ บรรทุกสินค้าแบบเต็มคันที่ 5,000 ชิ้น
เราก็มีต้นทุนคงที่ อย่าง ค่าจ้างคนขับรถ และค่าน้ำมัน ที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย
ดังนั้น ในการผลิตสินค้า เราอาจต้องพยายามใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ 
สำหรับการผลิตให้เต็มประสิทธิภาพ 100% เพื่อให้ต้นทุนสินค้าต่อหน่วยเหลือน้อยที่สุดนั่นเอง..
3. Lean Manufacturing เป็นแนวคิดที่ใช้กำจัดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในธุรกิจ
ถ้าในแง่ของการผลิตสินค้าก็คือ การลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่สูญเปล่า หรือเป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็นระหว่างการผลิตสินค้า
โดย Lean Manufacturing จะเน้นการลดความสูญเปล่าจากการผลิต ทั้งหมด 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- ลดขั้นตอนการผลิตที่ซ้ำซ้อน (Over Processing)
คือลดขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่จำเป็น ต่อการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ
- ลดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (Motion)
ซึ่งเกิดจากการออกแบบขั้นตอนการทำงานที่ไม่ดี อาจทำให้พนักงานเสียเวลา และเกิดความเมื่อยล้า
- ลดเวลารอคอยพนักงาน (Waiting) 
คือ ลดการรอคอยของคนหรือเครื่องจักร ที่ทำงานก่อนหน้า หรือลดการรอคอยอะไรก็ตาม 
ที่ทำให้พนักงาน หรือเครื่องจักร ว่างอยู่เฉย ๆ เช่น เครื่องจักรเสียรอซ่อม วัตถุดิบหมดรอของใหม่ 
- ลดสินค้าคงคลัง (Inventory) 
คือ ลดการสต๊อกสินค้าที่มากเกินความจำเป็น ทำให้สูญเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ 
และทำให้ต้นทุนจมไปกับสินค้าคงคลัง
- ลดการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
คือลดการผลิตสินค้า มากเกินความต้องการของลูกค้า 
ทำให้สูญเสียต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน และเวลาไปโดยไม่จำเป็น
- ลดการขนส่งเกินความจำเป็น (Transportation) 
โดยวางแผนการขนส่ง และเลือกเส้นทางขนส่งให้สั้น และประหยัดเวลามากที่สุด
- ลดของเสีย (Defect) ในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งเกิดจากการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดีพอ 
ทำให้เสียต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิต และเวลาที่คนงานผลิตงานชิ้นนั้น ไปโดยเปล่าประโยชน์
โดยตัวอย่างโรงงานแรก ๆ ที่เริ่มนำแนวคิด Lean Manufacturing มาใช้ก็คือ โรงงานโตโยต้า 
ที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตด้วยการลดความสูญเปล่า 
จนทำให้ใน 1 วัน มีรถยนต์โตโยต้าออกจากไลน์ผลิตได้มากกว่า 1,000 คัน..
4. การนำหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ เข้ามาช่วยในการผลิตแทนคน
ไอเดียนี้อาจจะเหมาะกับการผลิตในสเกลระดับโรงงานขนาดใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเครื่องดื่ม อิชิตัน ที่มีกำลังการผลิตเครื่องดื่ม เดือนละ 100 ล้านขวด
ที่ปรับปรุงโรงงานโดยการเอาระบบสายพานการผลิตแบบอัตโนมัติ และระบบจัดเก็บสินค้าแบบอัตโนมัติ มาใช้งานแทนคนงานผลิตเกือบทั้งหมด 
ซึ่งระบบอัตโนมัติ ถือเป็นหัวใจหลักของการผลิตสินค้าในโรงงาน เพราะนอกจากจะสามารถทำงานแทนคนได้แล้ว
ระบบอัตโนมัติ ยังสามารถเดินเครื่องผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
ผลิตสินค้าได้คุณภาพมากกว่าในบางขั้นตอน และสามารถรายงานผลการผลิตต่อผู้บังคับบัญชาได้โดยตรง
ดังนั้น ระบบอัตโนมัติ จึงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงได้ แต่ก็ต้องแลกมากับเม็ดเงิน ที่ต้องลงทุนไปกับเครื่องจักรอัตโนมัติมหาศาล..
ทุกวันนี้ โรงงานผลิตสินค้าแบรนด์ดังหลายแห่ง ต่างก็พยายามใช้วิธีต่าง ๆ 
ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 ข้อข้างบน เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ให้ถูกลงไปเรื่อย ๆ 
อย่างเคส อิชิตัน ก็ได้พยายามลดต้นทุนการผลิต ด้วยการ
- หาตลาดใหม่ ๆ หรือทำการตลาด ให้มียอดสั่งซื้อ และผลิตมาก ๆ จนเกิด Economies of Scale
- ใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มอัตรา หรือ Utility ที่สูง
- นำ Lean Manufacturing เข้ามาใช้ในระบบการผลิต แบบครบวงจร
- ปรับปรุงไลน์ผลิตเครื่องดื่ม และคลังสินค้า ให้เป็นระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด
ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้โรงงานผลิตเครื่องดื่มแบรนด์อิชิตัน สามารถลดต้นทุนที่ใช้สำหรับการผลิตโดยตรง 
นั่นก็คือ ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงานผลิต ค่าไฟ และค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรอุปกรณ์ ลงได้มากเช่นกัน
เราไปดูต้นทุนการผลิตสินค้าแบรนด์อิชิตัน ทุก ๆ รายได้ 100 บาทกัน
ปี 2565 ทุก ๆ รายได้ 100 บาท มีต้นทุนโดยตรงจากการผลิตสินค้า 81 บาท
ปี 2566 ทุก ๆ รายได้ 100 บาท มีต้นทุนโดยตรงจากการผลิตสินค้า 77 บาท
ไตรมาส 1 ปี 2567 ทุก ๆ รายได้ 100 บาท มีต้นทุนโดยตรงจากการผลิตสินค้า 74 บาท
จากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลง เมื่อหักค่าใช้จ่ายในด้านการขายและบริหารแล้ว
ก็มีโอกาสทำให้ธุรกิจ สามารถสร้างอัตรากำไรที่มากขึ้น
ซึ่งเราจะเห็นได้จากผลประกอบการ ของ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
ปี 2565 มีรายได้ 6,360 ล้านบาท กำไร 642 ล้านบาท มีอัตรากำไรอยู่ที่ 10%
ปี 2566 มีรายได้ 8,085 ล้านบาท กำไร 1,100 ล้านบาท มีอัตรากำไรอยู่ที่ 14%
ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้ 2,154 ล้านบาท กำไร 364 ล้านบาท มีอัตรากำไรอยู่ที่ 17%
จากแนวคิดการลดต้นทุนต่อหน่วย และเพิ่มอัตรากำไร สำหรับธุรกิจผลิตสินค้าทั้ง 4 ข้อ
ก็ทำให้สินค้าแบรนด์ดังหลายแห่ง มีโรงงานที่พร้อมจะผลิตสินค้า
ส่งออกขายตามห้างและร้านสะดวกซื้อ วันละเป็นแสนเป็นล้านชิ้น อย่าง
- NSL ที่สามารถผลิตเบเกอรี เช่น แซนด์วิชอบร้อน ขายให้ 7-Eleven ได้วันละ 1,250,000 ชิ้น
- ICHITAN ที่สามารถผลิตเครื่องดื่ม ได้วันละมากกว่า 4,000,000 ขวด
- บริษัทหยั่น หว่อ หยุ่น เจ้าของแบรนด์ซีอิ๊วขาวตราเด็กสมบูรณ์ ที่ผลิตได้วันละมากกว่า 400,000 ขวด
- Cocomax ที่ผลิตน้ำมะพร้าวขวด ขายตามห้างและร้านสะดวกซื้อ ได้วันละ 240,000 ขวด
ด้วยปริมาณการผลิตที่มากขนาดนี้ ก็จะทำให้สินค้ามีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลง และมีอัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้นตามกำลังผลิต ได้นั่นเอง..
References
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
- คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาส 1/2567 บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
--------------------------
Sponsored by JCB Thailand
#JCBสุขทุกสไตล์ได้ทุกวัน
พบกับส่วนลดและสิทธิพิเศษสำหรับทุกไลฟ์สไตล์
ทั้ง กิน เที่ยว ช็อป ให้คุณมีความสุขได้ทุก ๆ วัน
เพิ่มเติมที่ >> https://bit.ly/JCBJSOPRO
สมัครบัตรเครดิต JCB ได้ที่
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.