สรุปเรื่อง สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบ คาร์บอนต่ำ แห่งแรกในไทย

สรุปเรื่อง สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบ คาร์บอนต่ำ แห่งแรกในไทย

26 มิ.ย. 2024
ถ้าพูดถึงจังหวัด “สระบุรี” หลายคนน่าจะมีภาพจำว่า เป็นจังหวัดที่มีภูเขาหินปูนอยู่จำนวนมาก
และในจังหวัดนี้ ก็เป็นฐานการผลิตปูนซีเมนต์ของเครือ SCG
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับสระบุรี
และมีส่วนผลักดันให้คนสระบุรี มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร สูงถึง 29,425 บาทต่อเดือน
สูงเป็นอันดับ 8 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
แต่เนื่องจากสระบุรีเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก 
จึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลับมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน 
ตัวอย่างผลกระทบก็เช่น
- มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์
- ผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศ และการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ จากการทำเหมืองแร่หินปูน
ที่ต้องเจาะและระเบิดภูเขา
- ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนชาวสระบุรีในระยะยาว
SCG หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ในสระบุรี
จึงชูโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ หรือโครงการสร้างเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ
ด้วยโมเดล Public-Private-People Partnership (4P) ขึ้นมา เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
แล้วโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ของเครือ SCG เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 จังหวัดสระบุรีมีโรงงานรวมทั้งหมด 1,605 แห่ง 
มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 19.08 ล้านตัน
ส่วนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของสระบุรี ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 14.4 ล้านตัน
หรือคิดเป็น 51.5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรีทั้งหมดเลยทีเดียว
โดยโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนผ่าน 5 แผนการคือ
1. สร้างเครือข่ายการขนส่งสีเขียว (Green Logistics) และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
SCG สนับสนุนให้สระบุรีเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชื่อมต่อกับทุกภูมิภาคของประเทศไทย 
โดยใช้เทคโนโลยีด้าน Energy Solution, Mobility Solution และ Data Solution ยกระดับระบบการขนส่งโลจิสติกส์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซในภาคการคมนาคมขนส่ง
ส่วนในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จะมีการนำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Rondo เข้ามาปรับใช้ในประเทศไทย
โดยเทคโนโลยี Rondo คือ การแปลงพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากลมหรือแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานความร้อนโดยมีอุณหภูมิสูงถึง 1,500 องศาเซลเซียส แล้วเก็บไว้ในฮีตแบตเตอรี่ (Heat Battery) 
จากนั้นจึงส่งออกมาเป็นลมร้อนหรือไอน้ำเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อไป
เทคโนโลยีนี้จึงเหมาะมากกับอุตสาหกรรมที่ใช้ไอน้ำหรือลมร้อนอุณหภูมิสูงในกระบวนการผลิต
เช่น การผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องมีการต้มเพื่อฆ่าเชื้อ
โดยเทคโนโลยีนี้ทำให้ไม่ต้องใช้หม้อต้มแบบดั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไป
จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก
นอกจากนี้ก็ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เทคโนโลยีพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ร่วมกับระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ก็มีการนำมาใช้ด้วยเช่นกัน
2. สร้างคุณค่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Waste to Value)
SCG มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Waste to Value) แปรสภาพขยะที่รับซื้อจากชุมชนให้กลายเป็นเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย ซึ่งช่วยลดก๊าซมีเทนจากการฝังกลบขยะได้
รวมถึงมีการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนของโรงงานปูนซีเมนต์
และโรงงานอุตสาหกรรมในสระบุรี ซึ่งช่วยลดการเผาขยะโดยไม่จำเป็นได้
3. สร้างอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Green Industry and Products)
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยมีแผนส่งเสริมผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ
ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งก็คือตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบ การผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด
โดยลงทุนในเทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเพิ่มมูลค่าในกระบวนการอุตสาหกรรมแทน เช่น การบ่มชิ้นงานก่อสร้างคอนกรีตสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
4. การเกษตรคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Agriculture)
SCG ส่งเสริมให้ชุมชนทำเกษตรกรรมตามโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) เช่น 
การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือก็คือการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง 
สลับกับช่วงน้ำแห้งสลับกันไป 
ซึ่งการทำนาแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น ทำให้ต้นข้าวดูดซึมปุ๋ยได้ดีขึ้น 
ลดการระบาดของโรคและแมลง และทำให้ข้าวแตกกอมากขึ้น 
ทั้งหมดนี้จึงช่วยให้เกษตรกรควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นและยังได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกต่อหนึ่ง 
และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการทำนาอีกด้วย
อีกโครงการของ SCG คือการแนะนำให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์หรือหญ้าบานา 
แทนการปลูกพืชไร่จำพวกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น ทุกครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ต้องเผาทำลายซากพืชและไถพรวนหน้าดิน 
ทำให้หน้าดินโล่งเตียนส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินในระยะยาว และเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
โดยข้อดีหญ้าเนเปียร์หรือหญ้าบานานี้ก็คือ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และภาคอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ก็ยังรับซื้อผลผลิตมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงาน
โครงการนี้จึงช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว
5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Green Spaces)
SCG มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่เอกชน และพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน
ทั้งหมดนี้ก็คือ โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ของ SCG
โครงการที่ผลักดันให้สระบุรีกลายเป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ แห่งแรกของประเทศไทย
References
-รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2566 ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.