สรุปเรื่อง ค่าเสื่อมราคา ต้นทุนที่ไม่จ่ายจริง แต่มีผลต่อ กำไรของธุรกิจ

สรุปเรื่อง ค่าเสื่อมราคา ต้นทุนที่ไม่จ่ายจริง แต่มีผลต่อ กำไรของธุรกิจ

13 ก.ค. 2024
หากเราเปิดร้านคาเฟสัก 1 ร้าน กำไรจากการขายเครื่องดื่มและขนมต่าง ๆ
ก็คือ รายได้ หักด้วยต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าเช่าพื้นที่
แต่ก็ยังมีต้นทุนอีกอย่าง ที่ควรจะต้องคิดไปด้วย คือ “ต้นทุนค่าเสื่อมราคา”
ต้นทุนค่าเสื่อมราคาคืออะไร ?
ทำไมถึงบอกว่า เป็นต้นทุนที่ไม่จ่ายเป็นเงินจริง ๆ แต่มีผลต่อกำไรในธุรกิจ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
มาเริ่มจากตัวอย่างให้เห็นภาพกันว่า
- เราซื้อ iPhone เครื่องหนึ่งในราคา 40,000 บาท และอีก 3 ปีต่อมา เราสามารถขาย iPhone เครื่องนี้ต่อมือสองได้ในราคา 10,000 บาท
เมื่อหักลบกันแล้ว ก็เท่ากับว่า ภายในเวลา 3 ปี เราจ่ายค่า iPhone ไป 30,000 บาท
หรือถ้าเราคำนวณเป็นรายปี ก็เท่ากับว่าเราจ่ายค่า iPhone เฉลี่ยปีละ 10,000 บาท 
ซึ่งวิธีการคิดค่าใช้จ่ายไปกับ iPhone นี้ 
ก็จะเหมือนกับวิธีการคิดค่าเสื่อมราคา ที่เราซื้อเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ 
เพราะเมื่อเราใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์เหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ของเหล่านี้ก็จะด้อยค่าลง
อย่างถ้าเราจะเปิดร้านคาเฟสักร้าน สิ่งที่เราต้องลงทุนซื้อมา ก็เช่น
- ค่าเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งร้าน
- ค่าอุปกรณ์ทำกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารว่าง 
เช่น เครื่องชงกาแฟ อุปกรณ์ทำขนมและเครื่องดื่ม จาน แก้ว หรือภาชนะต่าง ๆ
สิ่งเหล่านี้ ยิ่งใช้ไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเสื่อมสภาพลง จนสุดท้ายก็ต้องจ่ายเงินซื้อเปลี่ยนใหม่ในตอนสิ้นอายุขัย
เพราะฉะนั้น คอนเซปต์การคิดค่าเสื่อมราคา เลยจะช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ในแต่ละปี แม้จะเป็นต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายออกไปเป็นเงินจริง ๆ ก็ตาม
โดยค่าเสื่อมราคา เราจะหักจากราคา หรือมูลค่าของสินทรัพย์ที่เหลือน้อยลงทุก ๆ ปี
จนกระทั่งสินทรัพย์นั้น นำไปใช้งานต่อไม่ได้แล้ว จนเหลือเพียง “มูลค่าซาก”
ซึ่งมูลค่าซาก ถือเป็นราคาสินทรัพย์ ที่เราต้องการขายหลังหมดอายุการใช้งานไปแล้วนั่นเอง
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องรู้หรือประมาณการ ในการคิดค่าเสื่อมราคา ก็คือ
- อายุการใช้งานของสินทรัพย์ 
อย่างเช่น อุปกรณ์ทำขนมและกาแฟ อาจมีอายุการใช้งาน 10 ปี 
และสินทรัพย์ถาวร เช่น ตัวอาคารที่ตั้งร้านคาเฟ อาจมีอายุการใช้งาน 30 ปี
- มูลค่าซาก หลังจากหมดอายุการใช้งาน
ทีนี้ BrandCase จะขอยกตัวอย่าง เกี่ยวกับการคิดค่าเสื่อมราคา
ถ้าเราจะลงทุนเช่าพื้นที่อาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดเป็นร้านคาเฟ และเงินลงทุนทั้งหมดมีดังนี้
- ค่าเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งร้าน 800,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์ทำกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารว่าง 600,000 บาท
ซึ่งเราประเมินว่า ของที่เราลงทุนทั้งหมดนี้ มีอายุการใช้งาน 10 ปี
และหลังจาก 10 ปี เราสามารถประเมินมูลค่าซากได้ดังนี้
- ซากเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งร้าน 100,000 บาท
- ซากอุปกรณ์กาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารว่าง 100,000 บาท
เราก็พอจะคิดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินต่าง ๆ ได้คร่าว ๆ จากสูตรด้านล่างนี้
ค่าเสื่อมราคา = (ราคาต้นทุน – มูลค่าซาก) / อายุการใช้งาน
ทีนี้เราลองมาคิดทีละตัวกัน
- สำหรับค่าเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งร้าน
มีเงินลงทุน 800,000 บาท และค่าซาก 100,000 บาท อายุการใช้งาน 10 ปี
ค่าเสื่อมราคาเท่ากับ (800,000 บาท - 100,000 บาท) / 10 ปี 
เท่ากับ 70,000 บาท ต่อปี
- สำหรับค่าอุปกรณ์ทำกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารว่าง 
มีเงินลงทุน 600,000 บาท และค่าซาก 100,000 บาท อายุการใช้งาน 10 ปี
ค่าเสื่อมราคาเท่ากับ (600,000 บาท - 100,000 บาท) / 10 ปี 
เท่ากับ 50,000 บาท ต่อปี
เมื่อนำมารวมกัน จะเห็นว่าต้นทุนค่าเสื่อมราคา
เท่ากับ 70,000 บาท + 50,000 บาท เท่ากับ 120,000 บาทต่อปี
ซึ่งก็ต้องบอกว่า การคิดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีนี้ 
ถือเป็นการคิดค่าเสื่อมราคาแบบวิธีเส้นตรง หรือ Straight - Line Method ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ง่ายที่สุด
โดยมีข้อสมมติฐานว่า ธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์เท่ากันทุก ๆ ปี ตลอดอายุการใช้งาน
แล้วเราเอาค่าเสื่อมราคา ไปหักรายได้ ได้อย่างไร ?
สมมติว่าในปีนี้ เราประมาณการว่าร้านคาเฟ สามารถทำรายได้ 200,000 บาทต่อเดือน 
และมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน อย่างเช่น
- ค่าเช่าที่ 15,000 บาท
- ค่าจ้างพนักงาน 40,000 บาท
- ค่าวัตถุดิบ 75,000 บาท
- ค่าน้ำค่าไฟ 5,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 5,000 บาท
จะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก็คือ 140,000 บาท ต่อเดือน
เมื่อนำรายได้จากการขายต่อเดือน มาลบกับต้นทุนตรง ๆ แล้ว
ก็จะอยู่ที่ 200,000 บาท - 140,000 บาท 
เท่ากับว่าถ้ายังไม่คิดค่าเสื่อมราคา เราจะมีกำไรจากการเปิดร้านคาเฟอยู่ที่ 60,000 ต่อเดือน
แต่เมื่อเราเอาค่าเสื่อมราคาที่เราคิดได้มาลบ คือ 120,000 บาทต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน
ก็เท่ากับว่า ถ้าเราหักค่าเสื่อมราคาไป
กำไรของเราก็จะอยู่ที่ 60,000 - 10,000 บาท เท่ากับ 50,000 บาทต่อเดือนนั่นเอง
ดังนั้น สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ ควรคำนวณจุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point ให้ดี
เพราะธุรกิจบางประเภท เราอาจจะมองเห็นกำไรที่เกิดขึ้นมา
แต่ถ้าหากเราลืมคิดต้นทุนบางอย่าง 
โดยเฉพาะ ค่าเสื่อมราคา จากที่เราลงทุนในสินทรัพย์ไป 
ก็อาจทำให้จากเดิมที่เราทำธุรกิจ แล้วเราคิดว่ามีกำไร ก็อาจกลายเป็นขาดทุน ได้เช่นกัน..
Reference
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.