สรุป 4 ประเด็นน่าสนใจ “ไรเดอร์ส่งอาหาร” อาชีพยอดฮิตในไทย และเพื่อนบ้าน

สรุป 4 ประเด็นน่าสนใจ “ไรเดอร์ส่งอาหาร” อาชีพยอดฮิตในไทย และเพื่อนบ้าน

28 ธ.ค. 2023
สรุป 4 ประเด็นน่าสนใจ “ไรเดอร์ส่งอาหาร” อาชีพยอดฮิตในไทย และเพื่อนบ้าน | BrandCase
ไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นอาชีพที่ฮอตฮิตมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
จำนวนไรเดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery
ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนพูดได้เต็มปากว่า ไรเดอร์ส่งอาหาร ในตอนนี้ กำลังเป็นอาชีพยอดฮิตมาก ๆ ทั้งในไทย และประเทศใกล้เคียง
โดยมีหลายปัจจัยส่งเสริม ที่ทำให้อาชีพนี้ มีคนสนใจกระโดดเข้ามาทำอยู่ตลอดเวลา
ซึ่ง BrandCase จะสรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ เป็น 4 ประเด็น..
ธุรกิจ Food Delivery เติบโตเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่มาไว ไปไว
จากรายงานเทรนด์ธุรกิจเดลิเวอรี่ปี 2565 โดย Grab Thailand
ได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ Food Delivery จำนวน 6 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
แล้วพบสถิติน่าสนใจหลายประการ ที่บ่งบอกว่าธุรกิจ Food Delivery ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
แม้สถานการณ์โรคระบาด จะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม
ตัวอย่างสถิติที่น่าสนใจ เช่น
ยอดขายการจัดส่งแบบดิลิเวอรีผ่าน Grab และการสั่งซื้อสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใน Q2 ปี 2565 โตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับ Q2 ปี 2564ในปี 2565 ลูกค้าสั่งอาหารผ่าน GrabFood เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562ในปี 2565 ค่าใช้จ่ายต่อ 1 ออร์เดอร์ ของ GrabFood เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2562ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า
ในช่วงปี 2564 และปี 2565ยอดสั่งซื้อที่สูงที่สุดต่อ 1 ออร์เดอร์บน GrabFood คือ 17,800 บาท9 ใน 10 ของเจ้าของธุรกิจระบุว่า แพลตฟอร์มดิลิเวอรีเป็นสิ่งจำเป็นต่อธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดยอดขายสินค้าทั้งหมดของธุรกิจเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบก่อนใช้ และหลังใช้แพลตฟอร์มดิลิเวอรี
สถิติเหล่านี้แสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อน จะเดินทางไปซื้อสินค้าที่หน้าร้าน
แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะสั่งอาหารทางออนไลน์มากขึ้นแทน
เพราะการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery นี้เอง ที่เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า บริการส่งอาหาร
ไม่ได้เป็นเทรนด์ธุรกิจที่มาไวไปไว
แต่เป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ไรเดอร์จึงเป็นอาชีพที่ตลาดยังมีความต้องการอยู่ทุกช่วงเวลา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รายได้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ ค่าแรงขั้นต่ำ
จากงานวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถิติน่าสนใจ เช่น
รายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ในประเทศไทยอยู่ที่ราว 18,000 บาทต่อเดือนโดยมีไรเดอร์ประมาณร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทต่อเดือนรายได้ของไรเดอร์อาจพุ่งสูงถึง 40,000 บาทต่อเดือน แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนไรเดอร์ทั้งหมด
โดยรายได้ของไรเดอร์จะแปรผันตามจำนวนรอบส่งอาหาร ที่สามารถทำได้ในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ของไรเดอร์จะขึ้นอยู่กับความขยันเป็นหลัก แต่ก็สามารถสร้างรายได้ได้ดี
ไม่แพ้งานประจำอื่น ๆ
และถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 10,600 บาทต่อเดือน (หรือเฉลี่ย 353 บาทต่อวัน)
ทำให้มีไรเดอร์หลายคนเลือกที่จะทำงาน บริการส่งอาหารเป็นอาชีพหลัก ถึงร้อยละ 78
ของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ทั้งประเทศ
และบางคนก็เลือกที่จะทำเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง
และไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นที่ไรเดอร์มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในประเทศอื่นก็คล้าย ๆ กัน
อย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ไรเดอร์มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 15,000 - 20,000 เปโซฟิลิปปินส์ หรือประมาณ 9,300 - 12,400 บาท
ซึ่งใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 10,800 บาท
เป็นอาชีพที่เข้าร่วมง่าย ใช้ต้นทุนไม่มากในการเข้าสู่อาชีพ
การเป็นไรเดอร์ไม่มีเงื่อนไขในการสมัครมากนัก ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเพศ อายุ หรือวุฒิการศึกษา
นอกจากนี้ต้นทุนในการเข้าสู่อาชีพก็ไม่สูงมาก และบางแอปพลิเคชันก็มีให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
ทำให้คนที่ไม่มีรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง ก็ยังสามารถประกอบอาชีพไรเดอร์ได้เช่นกัน
ทำให้คนที่ถูกบังคับให้ออกจากงานในช่วงโรคระบาด จำนวนไม่น้อย ก็หันมาทำอาชีพนี้กันมากขึ้น
ยืดหยุ่นสูง เป็นเจ้านายตัวเองได้
จากงานวิจัยของศูนย์เอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกือบร้อยละ 40 ของจำนวนไรเดอร์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างงานวิจัยบอกว่า
เหตุผลหลักที่เลือกทำอาชีพไรเดอร์ เพราะอาชีพนี้มีความอิสระในการทำงาน และได้เป็นเจ้านายตัวเองมากที่สุด
นอกจากนี้เวลาในการทำงานยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเริ่มและเลิกทำงานในเวลาไหนก็ได้
ซึ่งแตกต่างจากงานประจำอื่น ๆ ที่มีเวลาในการเข้า-ออกงานที่ชัดเจนตายตัว
คนที่รักความอิสระจึงเลือกที่จะหันมาทำอาชีพไรเดอร์กันมากขึ้น
ซึ่งทั้ง 4 ข้อที่ว่านี้ ก็เลยทำให้ “ไรเดอร์ส่งอาหาร” กลายเป็นอาชีพยอดฮิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งในไทย และหลายประเทศเพื่อนบ้านของเรา นั่นเอง..
References
-เทรนด์ธุรกิจเดลิเวอรี่ปี 2565 โดย Grab Thailand ธุรกิจเดลิเวอรี่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างไร
-รายงานการวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไรเดอร์ - ฮีโร่ โซ่ตรวน
-https://manilastandard.net/business/biz-plus/303193/grabfood-riders-earn-up-to-p20-000.htm
-https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/rider-delivery/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.