โมเดลธุรกิจ NSL ยอดขาย 90% มาจากการ ขายเบเกอรีใน 7-Eleven

โมเดลธุรกิจ NSL ยอดขาย 90% มาจากการ ขายเบเกอรีใน 7-Eleven

14 ก.ค. 2023
โมเดลธุรกิจ NSL ยอดขาย 90% มาจากการ ขายเบเกอรีใน 7-Eleven | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า “แซนด์วิชอบร้อนแฮมชีส” คือหนึ่งในสินค้าที่ขายดีที่สุดใน 7-Eleven
ทีนี้คำถามคือ ใครเป็นเจ้าของ แซนด์วิชอบร้อนนี้ ?
คำตอบก็คือ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “NSL”
ซึ่งถูกก่อตั้งโดยพนักงานโรงงานผลิตอาหาร จนกลายเป็นธุรกิจเบเกอรี ที่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี
แล้วเรื่องราวของ NSL นี้ มีความเป็นมาอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
NSL ก่อตั้งโดยคุณสมชาย อัศวปิยานนท์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
หลังจบการศึกษา เขาได้เข้าไปทำงานในโรงงานผลิตอาหารอยู่เกือบ 10 ปี จากนั้นจึงตัดสินใจออกมาเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง
โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจอาหารกล่อง และอาหารแช่แข็งส่งขายตามห้าง
แต่ทว่าในเวลานั้น อาหารแช่แข็งยังถือเป็นสินค้าที่ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยในตลาด ทำให้ธุรกิจของคุณสมชายในตอนนั้นยังไปได้ไม่ค่อยดีนัก
เขาจึงหันมาลองทำสินค้ากลุ่มเบเกอรีแทน โดยส่งเข้าไปขายในร้าน 7-Eleven
ปรากฏว่า ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จากส่งขายวันละไม่กี่พันชิ้น ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น หลักหมื่น จนถึงหลักแสนชิ้นต่อวัน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
และสินค้าที่ถือว่าสำคัญที่สุด มีชื่อเสียงที่สุดของบริษัทนั้น ก็คงหนีไม่พ้น “แซนด์วิชอบร้อน” อย่างเช่น แซนด์วิชแฮมชีส หรือแซนด์วิชหมูหย็องน้ำสลัด
ที่เวลาเราสั่งใน 7-Eleven พนักงานจะนำไปใส่เครื่องอบ ออกมาเป็นแซนด์วิชร้อน ๆ ให้เรา
ซึ่งถ้ามาดูรายได้และกำไรของ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2563 รายได้ 2,928 ล้านบาท กำไร 151 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,043 ล้านบาท กำไร 191 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 4,010 ล้านบาท กำไร 298 ล้านบาท
โดยปัจจุบัน ธุรกิจของ NSL แบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่ม คือ
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเบเกอรีขนมขบเคี้ยว อาหารพร้อมทาน ที่จำหน่ายในร้าน 7-Eleven 90.9%
ธุรกิจขนมขบเคี้ยว รวมทั้งเบเกอรี ขนม และอาหารอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ของ NSL 0.9%
ธุรกิจจัดจำหน่ายปลา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ สาหร่าย และผักต่าง ๆ แช่แข็งและแปรรูป 7.2%
ธุรกิจรับจ้างผลิตเบเกอรี หรือ OEM 0.9%
รายได้อื่น 0.1%
จะเห็นว่า รายได้กว่า 90% มาจากการทำเบเกอรีส่งขายใน 7-Eleven
ซึ่งถ้ามาเจาะเฉพาะธุรกิจผลิตและจำหน่ายเบเกอรีขนมขบเคี้ยว อาหารพร้อมทาน ที่จำหน่ายในร้าน 7-Eleven
ปี 2563 สัดส่วนรายได้จากร้าน 7-Eleven 94%
ปี 2564 สัดส่วนรายได้จากร้าน 7-Eleven 92%
ปี 2565 สัดส่วนรายได้จากร้าน 7-Eleven 91%
นอกจากนี้บริษัทยังเริ่มมีการกระจายสินค้า และเพิ่มช่องทางการขายต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ เพื่อเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน อย่างแบรนด์ “ปังไท”
หรือการทำขนมจากแมลง เพื่อส่งขายไปยังตลาดญี่ปุ่นและยุโรป เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
และตั้งเป้าหมายทำยอดขายให้ถึง 6,000 ล้านบาทต่อปีให้ได้
ก็น่าติดตามว่า บริษัทจะสามารถทำตามเป้าหมาย ได้หรือไม่..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
“NSL” มาจากคำว่า “Nutrition Sustainable for Life” ซึ่งมาจากกลยุทธ์ของบริษัท ที่ต้องการมุ่งสู่การเป็น ผู้ผลิตอาหารที่เติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.