กรณีศึกษา สูตรตัดเกรดทำเล หาพื้นที่เปิดร้านใหม่ ของ MUJI

กรณีศึกษา สูตรตัดเกรดทำเล หาพื้นที่เปิดร้านใหม่ ของ MUJI

30 ม.ค. 2023
กรณีศึกษา สูตรตัดเกรดทำเล หาพื้นที่เปิดร้านใหม่ ของ MUJI | BrandCase
การบุกตลาดต่างประเทศ ของแบรนด์ดังต่าง ๆ
นอกจากจะต้องโปรโมตสินค้าให้คนในประเทศนั้น ๆ รู้จักแล้ว เรื่อง “ทำเล” ของการตั้งร้านก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้สินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ได้รับการตอบรับที่ดี
ซึ่งก็มีอินไซต์ที่น่าสนใจเรื่องการเลือกทำเล
ของแบรนด์สไลต์มินิมัลอย่าง MUJI
ที่ถูกเล่าเอาไว้ในหนังสือชื่อ “เพราะไม่มีอะไร จึงมีอะไร”
เขียนโดย ทาดามิตสึ มัตสึอิ ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ MUJI
แล้ว MUJI มีแนวทางในการ “ตัดเกรดทำเล”
เลือกที่ตั้งร้านอย่างไร ให้ขายได้ขายดี ?
BrandCase จะอธิบายให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่า กลยุทธ์ในการขยายสาขาของ MUJI
ถูกเขียนเป็นองค์ความรู้ ในคู่มือพื้นฐานในการทำงานของ MUJI เลยทีเดียว
ซึ่งคู่มือพื้นฐาน และหลักการในการทำงานของ MUJI ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “มูจิแกรม (Mujigram)”
ในปัจจุบัน หาก MUJI อยากจะเปิดสาขาใหม่ ก็สามารถตัดสินใจได้
โดยใช้หลักเกณฑ์ในการตั้งร้าน ตาม Mujigram
ซึ่งหลักเกณฑ์ในการตั้งร้านใหม่ จะแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ คือ
-สภาพความจำเพาะของตลาด
-สภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่
-สิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์
-สภาพแวดล้อม ณ ที่ตั้งสาขานั้น
ซึ่ง 4 หัวข้อสำคัญนี้ จะถูกนำมาออกแบบเป็นคำถาม เพื่อพิจารณาตัดเกรดทำเลที่ต่าง ๆ
โดยในหนังสือก็ได้หยิบยก เคสการใช้หลักเกณฑ์ตาม Mujigram ที่ใช้ในการเปิดสาขาใหม่ในประเทศจีนมาเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ
-ระยะทางจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด : แบ่งเป็น 5 ระดับ ในรัศมี 1 กิโลเมตร
-จำนวนลูกค้า : ตั้งแต่น้อยกว่า 50,000 คน ไปจนถึงมากกว่า 300,000 คน
-ขนาดพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต : หากมากกว่า 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะได้ 2 คะแนน หากน้อยกว่านั้นจะได้ 1 คะแนน
-มีคาราโอเกะหรือไม่ ? : หากมี จะบวกเพิ่ม 2 คะแนน (เพราะคนจีนชอบร้องคาราโอเกะ)
-มีโรงหนังหรือไม่ ? : หากมี จะบวกเพิ่ม 2 คะแนน
-จำนวนร้านเช่าของศูนย์การค้า : ก็จะแบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่มากกว่า 200 ร้าน ไปจนถึงน้อยกว่า 50 ร้าน
-มีร้านที่มีชื่อเสียงในบริเวณนั้นหรือไม่ ? : แบ่งเป็น 3 ระดับ
-ยอดขายของร้านค้าอื่น ๆ โดยรอบ : แบ่งเป็น 5 ระดับ
โดยเมื่อรวมคะแนนแล้ว จะเต็ม 100 คะแนน
และจะแบ่งเกรดออกเป็น 5 ระดับคือ “S, A, B, C, D” ตามคะแนนรวม
ถ้าพื้นที่ไหนได้ระดับ S ก็จะถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการเปิดสาขาเพิ่ม แล้ว MUJI ก็จะนำไปพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของค่าเช่า ต่ออีกที
นอกจากนี้ ผลการประเมินดังกล่าว ยังเป็นตัวคาดการณ์ยอดขายต่อปีได้ด้วย
โดยร้านไหนที่มียอดขายผิดไปจากที่คาดการณ์ MUJI ก็จะปรับปรุงหัวข้อ และทบทวนหลักเกณฑ์ในการเปิดร้านอยู่เสมอ
ที่น่าสนใจก็คือ ร้านสาขาไหน ที่มียอดขายดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทางร้าน MUJI ก็จะประเมินเป็น “X” นั่นคือ “ไม่สำเร็จ”
ซึ่งไม่สำเร็จตรงนี้ หมายความว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ตาม Mujigram ยังไม่แม่นยำพอ เพราะให้คะแนนทำเลนั้นต่ำเกินไป
เพราะสำหรับ MUJI แล้ว หากไม่วิเคราะห์ว่า มีอะไรที่ตกหล่นตรงไหนในขั้นตอนการคาดการณ์ ก็ควรปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
หมายความว่า หลักเกณฑ์ใน Mujigram ก็จะถูกอัปเดตอยู่เรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมนั่นเอง
แล้วถ้าเรานำโมเดลการขยายสาขาของ MUJI แบบที่ประเทศจีน มาลองวิเคราะห์กับสาขาในประเทศไทยบ้าง
โดยจะเลือกนำบางเกณฑ์ ที่คิดว่าน่าจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากที่สุด เช่น
-มีร้านที่มีชื่อเสียง เช่น Uniqlo, ZARA, H&M อยู่บริเวณนั้นหรือไม่ ?
-มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อย่าง Tops Food Hall และ Gourmet Market หรือไม่ ?
-จำนวนร้านเช่าของศูนย์การค้าจำนวนมากน้อยแค่ไหน ?
-มีโรงหนังหรือไม่ ?
-ตัวศูนย์การค้า ติดกับรถไฟฟ้ามากแค่ไหน ?
ซึ่ง BrandCase ก็ได้ลองนับศูนย์การค้าที่มีครบทุกอย่างตามเกณฑ์ข้างต้น
ที่ MUJI สามารถไปเปิดสาขา และสามารถการันตียอดขายได้สูงที่สุด ก็จะมีทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้
-Central Ladprao
-CentralWorld
-ICONSIAM
-Siam Paragon
-The EmQuartier
ซึ่งถ้าให้ลองเช็กดู ก็จะพบว่า MUJI ได้ไปเปิดสาขาในศูนย์การค้าทุกแห่งแล้ว ยกเว้น Siam Paragon (MUJI เลือกไปเปิดตรง Siam Discovery ที่ใกล้ ๆ Siam Paragon แทน)
แต่ก็ไม่ใช่ว่า การขยายสาขาของ MUJI จะยึดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแบบเป๊ะ ๆ 100% เสมอไป
เพราะก็ต้องบอกว่า ในการเลือกทำเลที่จะเปิดร้านที่ไหนสักแห่ง ก็น่าจะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างนอกตำรา ที่ต้องดูเพิ่มเติมด้วย
แต่เรื่องนี้ของ MUJI ก็น่าสนใจไม่น้อย
น่าสนใจตรงที่ได้เห็นว่า MUJI มีการออกแบบ “สูตรเกือบสำเร็จ” ที่เอาไว้ใช้ในการขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ
โดยคอยเก็บข้อมูล และเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาสูตรของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างในเรื่องนี้ เราก็ได้เห็นสูตรการ “ตัดเกรดทำเล” ที่บันทึกไว้เป็นคู่มือ และหลักการทำงาน ที่ชื่อว่า Mujigram
ซึ่งหลายคนน่าจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ ไม่มากก็น้อย..
--------------------------------------------------
ขอขอบคุณทาง Amarinbooks ที่แนะนำและส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ทาง BrandCase
และหากใครสนใจหนังสือเล่มนี้ หรือหนังสือแนว ๆ นี้ เข้าไปชม สั่งซื้อ กันได้เลย https://amarinbooks.com/brand/amarin-how-to/
References
-หนังสือเรื่อง เพราะไม่มีอะไร จึง “มีอะไร” MUJI เขียนโดย ทาดามิตสึ มัตสึอิ
-http://mallbangkok.com
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.