อธิบาย Green Polymer นวัตกรรมพลาสติก ของ SCG ย่อยสลายได้ รีไซเคิลได้
20 มิ.ย. 2024
พลาสติก คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก จึงทำให้เกิดขยะจำนวนมาก
ซึ่งปัจจุบัน ก็มีหลายบริษัทที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
โดยได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบจากการใช้พลาสติกลง
และหนึ่งในนั้นก็คือบริษัทอย่าง บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC หนึ่งในบริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย
ที่ได้คิดค้นนวัตกรรม Green Polymer นวัตกรรมพลาสติก ที่เปลี่ยนพลาสติกแบบเดิม ๆ ให้ดีต่อโลกมากขึ้น
แล้วนวัตกรรมนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Green Polymer เป็นนวัตกรรมพลาสติกที่พัฒนาโดย SCGC หรือ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ ในเครือปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG
โจทย์ของ Green Polymer ก็คือการคิดค้นนวัตกรรมผลิตพลาสติกคุณภาพสูง
มีความแข็งแรง สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย
โดยที่นวัตกรรมพลาสติกนี้จะต้องช่วยโลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ และย่อยสลายได้เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน
โดย SCGC Green Polymer นั้นถูกคิดมาให้ครอบคลุมโจทย์ทั้ง 4 ด้านด้วยกัน นั่นก็คือ
- Reduce หรือ “การลดใช้ทรัพยากร”
โจทย์ของ Reduce ก็คือ จะลดการใช้พลาสติก ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตเลย
โดย SCGC จะคิดค้นเทคโนโลยีผลิตพลาสติกตามบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
อย่างเช่น ถุงขนม หรือกล่องของใช้ส่วนตัว
โดยคิดค้นบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ให้บางและเบามากขึ้น แต่คงความแข็งแรงเหมือนเดิม
เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกไปกับการผลิตบรรจุภัณฑ์
อย่างที่ SCGC ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ของเครือสหพัฒน์
ในการคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ครีมอาบน้ำ แบรนด์ โชกุบุสซึ
โดยลดการใช้พลาสติกบนขวด ทำให้ขวดเบาลง แต่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม
การทำแบบนี้ นอกจากจะทำให้พลาสติก ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่ามากขึ้นแล้ว
น้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ที่เบาลง ยังช่วยให้ประหยัดพลังงานในการขนส่ง
แถมยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
- Recyclable หรือ “การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้”
โจทย์ของ Recyclable ก็คือ จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด
อย่างเช่น ซองบรรจุภัณฑ์พลาสติก ไม่ว่าจะเป็น
ซองขนม ซองอาหารแช่แข็ง ไปจนถึงถุงใส่น้ำยาต่าง ๆ อย่างเช่น น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาซักผ้า
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถุงพลาสติกเหล่านี้ จะถูกผลิตให้มีฟิล์มเคลือบด้านในพลาสติก
หลากหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งฟิล์มเคลือบด้านใน ก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์
เช่น ฟิล์มกันชื้นที่ใช้กับซองขนม หรือฟิล์มเก็บความเย็นที่ใช้กับอาหารแช่แข็ง
ซึ่ง SCGC ก็เป็นรายแรกในอาเซียน ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เรียกว่า Recyclass
โดยโจทย์ของนวัตกรรมนี้ ก็คือ
จะทำอย่างไรก็ได้ ให้ตัวบรรจุภัณฑ์หลักและตัวฟิล์มที่เคลือบบรรจุภัณฑ์
เป็นเนื้อพลาสติกชนิดเดียวกัน โดยที่คงคุณสมบัติดังกล่าวเหมือนเดิม
และเพิ่มเติมคือ พลาสติกนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%
- Recycle หรือ “การนำกลับมาใช้ใหม่”
โจทย์ของ Recycle ก็คือ SCGC จะรับเศษพลาสติก เพื่อนำไปคัดแยกแล้วผลิตใหม่
อย่างการหลอม ขึ้นรูป และปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมี
เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติก PCR (Post Consumer Recycled)
แล้วนำเม็ดพลาสติกนั้น ไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
โดยกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก PCR ของ SCGC นั้น
จะถูกรองรับด้วยมาตรฐาน GRS ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตวัสดุรีไซเคิลระดับโลกด้วย
ซึ่งกระบวนการ Recycle ก็ถือเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างหนึ่ง
อย่าง HomePro ที่ออกแคมเปญให้ลูกค้า สามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้า
หรือเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว
มาขายให้กับ HomePro เพื่อแลกรับเป็นส่วนลด ไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
จากนั้น HomePro ก็เอาเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ มาขายต่อให้กับ SCGC
เพื่อให้ SCGC นำเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มาผลิตใหม่เป็นเม็ดพลาสติก PCR
แล้วนำเม็ดพลาสติกไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
การทำแบบนี้ ถือเป็นการนำพลาสติกที่จำเป็นต้องทิ้งไป กลับมารีไซเคิลใช้ซ้ำได้อีกครั้ง
- Renewable หรือ “การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน”
Renewable ในที่นี้หมายถึง การให้พลาสติกเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น
โดยปัจจุบัน พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
เริ่มถูกพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ เทียบเคียงกับพลาสติกรูปแบบเดิม
แต่พลาสติกรูปแบบนี้ สามารถย่นระยะเวลาย่อยสลาย
จากพลาสติกรูปแบบเดิม ที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ลดลงเหลือเพียง 180 วันเท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญของ SCGC
โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา SCGC ก็ได้ร่วมมือกับ Braskem
ผู้นำด้านการพัฒนาพลาสติกชีวภาพจากประเทศบราซิล
เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Based Polyethylene) จากผลผลิตทางการเกษตร
ซึ่งนี่ก็ถือเป็นเคสตัวอย่างที่ดี ในการนำทรัพยากรธรรมชาติ กลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
สรุปก็คือ นวัตกรรม Green Polymer ของ SCGC ครอบคลุมทั้ง 4 ด้านด้วยกัน คือ
- Reduce : ลดการใช้ คือ การลดปริมาณพลาสติกบนบรรจุภัณฑ์
- Recyclable : ออกแบบให้รีไซเคิลได้ คือ ทำให้บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกชนิดเดียวกัน และสามารถรีไซเคิลได้ 100%
- Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่ คือ นำพลาสติกที่ต้องทิ้งแล้ว กลับมาผลิตและใช้ซ้ำ
- Renewable : การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน คือ การคิดค้นพลาสติกเพื่อย่อยสลายคืนสู่ธรรมชาติได้
ซึ่ง SCGC ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะขายผลิตภัณฑ์พลาสติก Green Polymer ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2573..
References
- YouTube: SCG GREEN POLYMER™ โซลูชันนวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม