ทำไม Netflix มีนโยบาย หยุดพักร้อนกี่วันก็ได้

ทำไม Netflix มีนโยบาย หยุดพักร้อนกี่วันก็ได้

8 ก.พ. 2022
ทำไม Netflix มีนโยบาย หยุดพักร้อนกี่วันก็ได้ | THE BRIEFCASE
สิทธิ์ในการลา เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่คนทำงานหลายคนนั้นมองหา และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หลายบริษัทมักจูงใจพนักงานให้มาร่วมงาน ด้วยการให้วันลาหยุดเยอะ ๆ
ยิ่งบริษัทไหนให้สิทธิ์วันลาแก่พนักงานเยอะ พนักงานก็มักจะชอบและมีโอกาสที่จะทำงานอยู่กับบริษัทนั้นไปนาน ๆ
แต่เราคงแปลกใจ ถ้าอยู่ดี ๆ บริษัทบอกเราว่า “อยากหยุดกี่วันก็ได้” และเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ Netflix นำมาเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน
ทำไม Netflix ถึงมีนโยบายแบบนี้ THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
รู้ไหมว่าตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา พนักงานของ Netflix สามารถหยุดพักร้อนกี่วันก็ได้เท่าที่ต้องการ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขามีอิสระในการตัดสินใจว่าจะมาทำงานเมื่อไร อยากหยุดนานแค่ไหน
Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix บอกว่า บริษัทไม่มีนโยบายเกี่ยวกับวันหยุด หรือ No Vacation Policy ซึ่งความหมายของประโยคนี้ก็คือ หยุดพักร้อนได้แบบไม่จำกัด หรือ “Unlimited Vacation”
แล้วทำไม Reed ถึงนำนโยบายแบบนี้มาใช้ในบริษัท ?
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปก่อนปี 2004 ที่ Netflix ก็เหมือนกับบริษัททั่วไปที่มีการกำหนดสิทธิ์ในวันลาหยุดให้แก่พนักงาน
จนมาถึงในปี 2003 เมื่อการตั้งคำถามของพนักงานคนเดียว ทำให้บริษัทต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเรื่องวันหยุดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พนักงานของ Netflix คนหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า
ปกติแล้วมีพนักงานของบริษัทหลายคนต้องทำงานออนไลน์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตอบอีเมลเป็นเวลาหลายชั่วโมง รวมไปถึงหลายครั้งก็เอาเวลาส่วนตัวมาทำงาน
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทก็ไม่ได้นับชั่วโมงทำงานของพนักงานในเวลาแบบนั้น แต่ทำไมบริษัทจึงมานับวันลาพักร้อนของพนักงาน ?
เรื่องที่พนักงานคนนั้นยกขึ้นมาพูดนี้
แม้แต่ Reed ที่เป็นซีอีโอ ก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ในตอนนั้น แต่ก็ทำให้เขาได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมบริษัทต้องมานับวันลาหยุดของพนักงาน แต่กลับไม่นับช่วงเวลาดังกล่าวที่พนักงานนั้นทำงานให้บริษัท..
ไม่นานหลังจากนั้น Reed ก็มานั่งคุยกับผู้บริหารคนอื่น ๆ ถึงการกำหนดแนวทางการทำงานให้แฟร์ขึ้นสำหรับพนักงาน และแนวทางความเป็นไปได้ในการนำนโยบาย “หยุดกี่วันก็ได้” มาใช้
ซึ่งในตอนแรกเขาเกรงว่า ถ้านำนโยบายนี้มาใช้ ก็อาจทำให้
- บริษัทแทบไม่มีคนมาทำงานเลย เพราะคนจะหยุดกันหมด
- หรือแม้แต่ ทุกคนยิ่งทำงานหนักกว่าเดิม เนื่องจากไม่มีใครกล้าลาหยุด
ซึ่งสิ่งที่เขากังวลก็เกิดขึ้นทั้ง 2 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีแรก ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายบัญชีที่ปิดงบช้า เนื่องจากทุกคน มักจะเลี่ยงงานในช่วงต้นปีที่ต้องปิดงบประจำปี ซึ่งเป็นช่วงที่วุ่นวายและงานเยอะมาก
รวมทั้งในกรณีที่สอง ที่พนักงานคนหนึ่งในฝ่ายการตลาดต้องทำงานดึก ตื่นเช้า และแทบไม่ได้ลาเลย เนื่องจากคนในทีมนั้นเป็นคนที่มีลักษณะบ้างาน หรือเสพติดงานอย่างมาก หรือพวก “Workaholics” ทำให้ตัวเองก็ไม่กล้าที่จะลาหยุดด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นแบบนี้ Reed ก็ยังยืนกรานที่จะใช้นโยบายนี้ต่อไป แต่ก็ได้เสนอแนวทางสำหรับแก้ปัญหานี้ โดยวิธีคือ
1. ให้หัวหน้าลาหยุดเป็นตัวอย่าง
แม้หัวหน้าจะบอกลูกน้องว่า ลาหยุดได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน แต่ถ้าหัวหน้ายังกลับต้องมานั่งทำงานทุกวัน คนเป็นลูกน้องจำนวนไม่น้อยก็อาจไม่กล้าที่จะหยุด
ดังนั้น Reed จึงมองว่า อันดับแรกเลยคือ ถ้าผู้จัดการหรือหัวหน้างานไม่ได้มีงานไหนเร่งด่วนหรือยุ่งมาก ก็ควรลาหยุดให้ลูกน้องดูเป็นตัวอย่าง
2. แม้จะลาหยุดได้อย่างอิสระ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่องานตนเอง
Reed บอกว่า หัวหน้างานและผู้จัดการทุกคนต้องใช้เวลาพูดคุยกับลูกทีมว่า ในช่วงเวลาที่แต่ละคนในทีมลาหยุดนั้น คนในทีมจะต้องประสานงานและสื่อสารกันอย่างไร เพื่อไม่ให้งานของทีมนั้นติดขัด
หรือแม้แต่ใครจะหยุดช่วงไหนถึงช่วงไหนก็แจ้งให้หัวหน้าทราบล่วงหน้า เพื่อที่คนในทีมจะได้วางแผนการทำงานได้
พูดง่าย ๆ คือ เมื่อบริษัทให้อิสระแก่พนักงานแล้ว พนักงานก็ต้องมีความรับผิดชอบต่องานตัวเอง และต่องานในภาพรวมของบริษัทด้วย
นอกจากนี้ ในหนังสือที่มีชื่อว่า “No Rules Rules” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการบริหารองค์กรซึ่ง Reed เป็นผู้ร่วมเขียนด้วยนั้น เขาพูดถึงนโยบายหยุดกี่วันก็ได้ของ Netflix ว่า
“ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่คุณทำสำเร็จ ไม่ใช่ว่าคุณใช้เวลาทำมันกี่ชั่วโมง”
ซึ่งความหมายของประโยคนี้ที่เขาต้องการจะสื่อก็คือ ผลลัพธ์ คือสิ่งที่ Netflix ให้ความสำคัญ ไม่ใช่วิธีการในการทำมัน
Reed บอกว่า เขานั้นไม่เคยสนใจว่าใครจะใช้เวลาทำงานกี่ชั่วโมง สิ่งที่เขาสนใจคือ ผลลัพธ์และความสำเร็จของมันต่างหากว่าออกมาน่าพึงพอใจไหม
และนั่นจึงทำให้เวลาที่ Netflix ประเมินผลงานของพนักงานนั้น ปัจจัยเรื่องเวลาการทำงาน จะไม่เคยถูกนำมาพิจารณาเลยนั่นเอง
Reed เชื่อว่า เวลาพักผ่อน และเวลาว่างนั้น มักช่วยทำให้สมองของเราปลอดโปร่ง และเมื่อเป็นแบบนั้น จะช่วยให้เรามีความคิดอย่างสร้างสรรค์และมองเห็นงานที่ทำอยู่ในแง่มุมที่ต่างออกไป
นอกจากนี้ ถ้าเราต้องทำงานตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาหยุดพักหรือหยุดคิดเลยนั้น หลายครั้งเราอาจมองไม่เห็นทางแก้ปัญหาเลยก็ได้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แม้ว่า Netflix เป็นหนึ่งในบริษัทอเมริกันที่มีชื่อเสียงบริษัทแรก ๆ ที่นำสิทธิ์การพักร้อนแบบไม่จำกัดมาใช้
แต่จุดเริ่มต้นของสิทธิ์ลักษณะนี้ จริง ๆ แล้ว บริษัทที่เริ่มต้นนำแนวคิดนี้มาใช้ คือ Semco บริษัทสัญชาติบราซิล ตั้งแต่ปี 1981 หรือเมื่อ 41 ปีที่แล้วนั่นเอง..
References
-https://www.talentsmarteq.com/articles/Why-Every-Employee-Should-Have-Unlimited-Vacation-Days-134911200-p-1.html/
-https://www.inc.com/justin-bariso/netflixs-unlimited-vacation-policy-took-years-to-get-right-its-a-lesson-in-emotional-intelligence.html
-https://www.norulesrules.com/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.