ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ?

ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ?

1 ก.ค. 2021
ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ? | THE BRIEFCASE
เป้าหมายสำคัญของผู้ที่ทำธุรกิจ นอกจากจะเป็นเรื่องของผลประกอบการที่ดีแล้ว
เชื่อว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ คนก็คงอยากจะนำธุรกิจของตนเองจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
จากช่วงแรกที่มีบริษัทเพียง 8 บริษัท จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จนปัจจุบัน มีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 825 บริษัท
แล้วคุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
มองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ทำไมคนทำธุรกิจจะต้องนึกถึงการ IPO
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ คำว่า IPO กันสักนิด
คำว่า IPO มาจากคำว่า Initial Public Offering ซึ่งก็คือการที่บริษัททำการระดมทุน
ด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
โดยปกติแล้ว ในการทำธุรกิจถ้าเราอยากจะขยับขยายธุรกิจของเราให้เติบโตขึ้น ถ้าไม่ใช้ทุนที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็ต้องไปหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม อย่างเช่น การกู้ธนาคาร
แต่ถ้าเงินกู้ที่เรากู้มานั้นยังไม่เพียงพอ การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ในการหาเงินทุน หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า IPO
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน)
บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ตัดสินใจใช้วิธีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2532
เพื่อมาเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัท เนื่องจากในสมัยนั้น ธนาคารยังไม่ค่อยปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันมากเท่าไร
แต่ก่อนที่จะนำบริษัทเข้า IPO ได้นั้น ผู้ประกอบการก็ควรจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน
ว่าเราต้องการอะไรจากการ IPO เช่น ต้องการลดภาระการเพิ่มทุน, ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น, ต้องการรู้มูลค่ากิจการ หรือต้องการระดมทุนขยายกิจการ
ซึ่งการนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป
เริ่มจากข้อดีของการ IPO ก็คือ
- ชื่อเสียงของบริษัทเพิ่มขึ้น
ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าบริษัทของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร
พอหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เช่น ในสมัยก่อนอาจมีคนรู้จัก บริษัท ควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์ ไม่มากนัก
แต่ปัจจุบันหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ควงเจริญก็เป็นที่รู้จักในชื่อ KCE
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไทย ที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 80,000 ล้านบาท
- แหล่งเงินทุน ที่มีต้นทุนถูกลง
การ IPO จะแตกต่างจากการหาแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เช่น การกู้ธนาคาร ตรงที่
การ IPO ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น หรือจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการได้เงินทุนมาแลกกับหุ้นของบริษัทตนเอง
โดยอาจจะจ่ายเป็นปันผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
- คัดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงาน
เพราะเมื่อบริษัทมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว
ก็ย่อมเป็นการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานด้วย
- เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ที่ดี
ข้อดีของการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คือ คนทั่วไปจะรู้จักบริษัท รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น และรู้ว่าธุรกิจของเราทำเกี่ยวกับอะไร สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาเลือกเป็นลูกค้าเราได้
เมื่อเรารู้ข้อดีของการ IPO แล้ว ก็มาลองดูข้อเสียของการ IPO กันบ้าง
โดยข้อเสียของการ IPO ก็คือ..
- เสียความเป็นส่วนตัว ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท และเปิดเผยข้อมูลภายในให้กับสาธารณชน
- เสียส่วนแบ่งในการเป็นเจ้าของ
ยิ่งเวลาที่บริษัทมีผลประกอบการที่ดีหรือกำไรที่ดี
ก็เหมือนกับแบ่งของดีให้คนอื่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ
- กฎระเบียบเยอะขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้น
เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ค่าจ้างตรวจสอบภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากเดิมค่าตรวจสอบบัญชีอาจอยู่เพียงหลักหมื่น
แต่เมื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว อาจเพิ่มมาเป็นหลักล้านบาทก็ได้
สุดท้ายนี้คุณสุวภาได้บอกว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนวิ่งมาราธอน
ไม่ใช่ว่าคิดวันนี้แล้วจะเข้าได้เลย ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม 2-3 ปี
และหลังจากเข้าไปแล้วก็ต้องพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ เพราะในตลาดหลักทรัพย์มีคู่แข่งมากมาย
เราต้องพัฒนาเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเข้ามาลงทุนในธุรกิจของเราต่อไป..
Reference
- ลงทุนแมนสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.