ก้าวแรกสู่สังเวียน ของเหล่า CEO ชื่อดังในซิลิคอนแวลลีย์ เป็นอย่างไร

ก้าวแรกสู่สังเวียน ของเหล่า CEO ชื่อดังในซิลิคอนแวลลีย์ เป็นอย่างไร

22 พ.ค. 2021
ก้าวแรกสู่สังเวียน ของเหล่า CEO ชื่อดังในซิลิคอนแวลลีย์ เป็นอย่างไร | THE BRIEFCASE
หากเราต้องการประสบความสำเร็จ ก็จงดูและเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น
ซึ่งส่วนใหญ่ เราก็จะเรียนรู้มาจากการบริหาร หรือชีวประวัติของเหล่า CEO ชื่อดัง
แต่เหตุผลที่ทำให้เราอยากเรียนรู้เรื่องราวของ CEO จากบริษัทใหญ่ชื่อดังเหล่านั้น
ก็เพราะว่า เราอาจจะเห็นแค่ด้านที่พวกเขานำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จแต่เพียงด้านเดียว
แต่รู้ไหมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ จุดเริ่มต้นของพวกเขา
จุดเริ่มต้นในที่นี้ เราไม่ได้จะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพของพวกเขา
เพียงแต่ว่าจุดเริ่มต้นในที่นี้คือ จุดเริ่มต้นของการเข้ามารับตำแหน่งเป็น CEO หรือ ผู้นำสูงสุดขององค์กรนั่นเอง
น่าสนใจตรงที่ว่า ก่อนที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จเหมือนที่เราเห็นในทุกวันนี้
ในวันแรกของการเป็น CEO นั้น พวกเขาจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง
แล้วพวกเขาต้องปรับตัวกันอย่างไร ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะหยิบยกตัวอย่างเรื่องราวที่เป็นก้าวแรกของเหล่า CEO ชื่อดัง มาสรุปให้ฟังกัน
เริ่มต้นกันที่ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple อย่าง Steve Jobs และ Steve Wozniak
ก้าวแรกของพวกเขาในฐานะผู้นำองค์กรไม่ได้เริ่มต้นจากการที่มีพนักงานหลายคนในบริษัท หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบเหมือนที่ CEO คนอื่น ๆ เขาทำกัน
แต่ในช่วงเริ่มต้น พวกเขาทั้งคู่นั้น กลับต้องประสานงานกันเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น
โดย Steve Wozniak เป็นเสมือนกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์
ส่วน Steve Jobs ก็เป็นเสมือนทั้งนักการตลาด และผู้ที่นำผลิตภัณฑ์ที่ Wozniak ออกแบบ ไปสร้างรายได้
ด้วยความที่ทั้งคู่มีความถนัดในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ในช่วงแรกของการขยายบริษัทหลังจากที่มีการรับพนักงานเข้ามาเพิ่มแล้ว อาจจะมีการบริหารจัดการที่ยากลำบากสำหรับทั้งคู่ในฐานะผู้นำองค์กร
แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะมากีดขวางความสำเร็จของบุคคลทั้งสองที่มีชื่อว่า “Steve”
โดยพวกเขาพยายามที่จะวางระบบการจัดการภายในของบริษัทอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และมีการปลูกฝังแนวคิดในเรื่องของ “คนที่เก่ง ย่อมอยากจะทำงานกับคนที่เก่ง” และให้อิสระในการแสดงฝีมือและความคิดเห็น จึงทำให้พนักงานของพวกเขาสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
จากบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ที่กำเนิดในโรงรถ
จนมาถึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ในวันนี้
Steve Jobs ก็ได้ส่งไม้ต่อความเป็นผู้นำของบริษัท Apple ให้กับชายที่ชื่อว่า “Tim Cook” ในปี 2011
แล้ววันแรกของ Tim Cook ในบริษัท Apple เป็นอย่างไร ?
Tim Cook ในช่วงเริ่มต้นนั้น อาจเริ่มด้วยอุปสรรคที่รายล้อมต่อตัวเขาอยู่พอสมควร
เพราะผู้คนต่างมีความคาดหวังในตัวเขาเยอะมาก รวมถึงการสานต่อความสมบูรณ์แบบจาก Steve Jobs
โดยงานแรกในฐานะ CEO ของ Tim Cook ในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัท Apple คือ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ iPad 3 และ Apple TV
แน่นอนว่า Tim Cook ที่ไม่เคยต้องออกมาอยู่เบื้องหน้าเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่แบบนี้ นั่นจึงทำให้เขาตกอยู่ในคำวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความแข็งทื่อในการนำเสนอที่ดูไม่น่าสนใจเท่า Steve Jobs
แต่สำหรับ Tim Cook แล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้เขายอมแพ้แต่อย่างใด..
แต่เขากลับมีแรงมากขึ้นกว่าเดิม และมักนำทุกข้อเสนอแนะกลับไปปรับปรุงตัวอยู่เสมอ
จนมาถึงวันนี้ ที่ใบหน้าของ Tim Cook ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท Apple ไปเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา ถ้าพูดถึงบริษัทที่อยู่ข้างเคียงกันในซิลิคอนแวลลีย์ ที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์สุดจำเป็นของคอมพิวเตอร์ PC ทุกเครื่องอย่างบริษัท Microsoft
วันแรกในฐานะผู้ก่อตั้งอย่าง “Bill Gates” ก็ไม่ได้ต่างจาก Steve Jobs สักเท่าไร
กล่าวคือ Bill Gates ใช้เวลาอยู่กับผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่าง Paul Allen ในการพัฒนาและเขียนโปรแกรมที่เป็นรากฐานของการใช้งานซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ของ Microsoft
หลังจากที่ Microsoft ได้แยกตัวออกจากบริษัทต้นสังกัดอย่าง Micro Instrumentation and Telemetry Systems (MITS)
บริษัท Microsoft ก็ได้มีการเปิดรับพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น
บทบาทความเป็นผู้นำของ Bill Gates ก็ได้ปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
เพราะเขาได้เริ่มวางรากฐานความเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้กับ Microsoft ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนในองค์กร การใส่ใจกับทุกรายละเอียดที่เล็ก ๆ และการบริหารคนด้วยความเชื่อใจ
แต่เรื่องราวของ Bill Gates คงจะไม่เหมือนกับ “Steve Ballmer” ผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อการเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัท Microsoft ต่อจาก Bill Gates
ในวันที่เขาต้องรับช่วงต่อจาก Bill Gates นั้น ก็ตรงกับปีที่ Steve Ballmer ได้ทำงานร่วมกับบริษัท Microsoft เป็นปีที่ 20 พอดิบพอดี
จากการทำงานในบริษัทเป็นระยะเวลา 20 ปี ก็มาถึงวันแรกที่เขาต้องรับบทบาท CEO ของบริษัท
Steve Ballmer ได้กล่าวว่า เสมือนกับตัวเขานั้นโดนคลื่นพายุจากทะเลซัดกระหน่ำมา อย่างไม่ขาดสาย
นั่นเป็นเพราะว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ Microsoft จะต้องปรับเปลี่ยน มีปัญหามากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข ยังรวมไปถึงการอัปเกรดคุณภาพของสถานที่ทำงานด้วยเช่นกัน
ก้าวแรกที่ Steve Ballmer ต้องจัดการคือ การหาข้อสรุปและเคลียร์ปมปัญหาในเรื่องของ การถูกกล่าวหาว่า บริษัท Microsoft ใช้อำนาจผูกขาดในระบบปฏิบัติการ
รวมไปถึงการที่เขาต้องวางรากฐานสำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อีกด้วย
จนกระทั่งมาถึงในสมัยของ “Satya Nadella” ที่เป็น CEO คนปัจจุบันของบริษัท Microsoft ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันอย่างดี และยังเป็น CEO คนแรกของบริษัทที่ไม่ได้เกิดในสหรัฐอเมริกา เพราะเขาเกิดที่อินเดีย
Satya Nadella ได้รับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของบริษัทในปี 2014
ซึ่งในขณะนั้นบริษัท Microsoft กำลังเจอศึกใหญ่ในสงครามเทคโนโลยีจากบริษัทคู่แข่ง
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Apple ที่คอยพัฒนาระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ macOS ออกมาแข่งขันกับ Windows ของบริษัท Microsoft ได้อย่างสูสี หรือการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดสมาร์ตโฟนของทั้งบริษัท Apple และ Google
แน่นอนว่า ก้าวแรกที่ Satya Nadella ต้องรีบทำก็คือ การทำให้บริษัท Microsoft มีความทันสมัยมากขึ้น
ไม่เพียงแค่การก้าวตามทันกระแสความทันสมัยของโลกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเป็นผู้นำ ที่นำหน้าโลกปัจจุบันอย่างน้อยหนึ่งก้าว เพราะการเป็นผู้ตามนั้น ย่อมหมายถึงการจะต้องถูกทิ้งห่างจากคู่แข่งไม่วันใดก็วันหนึ่ง
โดยสิ่งที่ Satya Nadella ให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี อย่างเช่น เทคโนโลยีคลาวด์ ที่ทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft จะต้องเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ และยังรวมไปถึงทุก ๆ แอปพลิเคชันของ Microsoft ที่จะต้องใช้งานผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา
นั่นรวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรของ Microsoft ที่แต่ก่อนเน้นไปที่ผลงานเพียงอย่างเดียว
ไปสู่วัฒนธรรมที่มีการเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น มีความเป็นทีมเวิร์ก และมีการพัฒนาด้วย Growth Mindset
ถ้าพูดถึงบริษัท Microsoft แล้ว ก็ต้องพูดถึงอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google กันบ้าง
โดยหัวเรือใหญ่คนปัจจุบัน ที่เติบโตมาจากสายงานนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่าง Sundar Pichai
ซึ่งก็เป็น CEO คนแรกของบริษัท Google ที่ไม่ได้เป็นคนอเมริกันแต่โดยกำเนิด เพราะเขาเกิดที่อินเดียเช่นเดียวกันกับ CEO ของบริษัท Microsoft
เขาได้แชร์ประสบการณ์ในก้าวแรกของการได้รับตำแหน่ง CEO ว่า
เขาต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร โดยจะต้องไม่ทำให้มีเรื่องการเมืองของพนักงานในบริษัทเกิดขึ้น
โดยสิ่งที่เขาเริ่มทำในช่วงแรก ๆ เลยก็คือ การเดินออกไปพูดคุย พัฒนาความสัมพันธ์กับคนในทีมให้มีความเป็นทีมเวิร์กกันมากขึ้น เพื่อที่จะได้ทีมที่พร้อมทำงานให้ออกมาดีที่สุด
รวมไปถึงการบริหารในเรื่องของการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ด้วยเช่นกัน
สำหรับ Sundar Pichai แล้ว ดูเหมือนว่าการเข้ามารับตำแหน่งผู้นำของบริษัท Google อาจไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นสักเท่าไรสำหรับเขา
นั่นเป็นเพราะตัวของเขาเองนั้น เข้าใจถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตัวเขาเองทำงานมามากกว่า 15 ปี เป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ ขอปิดท้ายกับอีกหนึ่งบุคคลที่ในปัจจุบันเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง และหัวเรือใหญ่ของบริษัท Netflix
อย่าง Reed Hastings
ก้าวแรกของ Reed Hastings คือ การได้เริ่มธุรกิจเปิดบริการให้เช่า DVD แบบเสียค่าสมาชิกรายเดือน และสามารถสั่งออนไลน์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจาก Pain Point ของเขาในมุมมองของการเป็นลูกค้าที่เขาได้พบเจอมาจากการโดนเก็บค่าปรับจากการคืน DVD ที่เช่ามาล่าช้า อย่างสุดโหด
จึงทำให้เขาพัฒนาสิ่งที่เกิดมาจาก Pain Point จนกลายมาเป็น แพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์ ที่เรารู้จักในไอคอนสีแดงอย่าง Netflix
เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น พนักงานก็มีจำนวนที่เยอะขึ้นตามไปด้วย
โดยกลยุทธ์การบริหารพนักงานตั้งแต่วันแรก ในฐานะ CEO ของ Reed Hastings
คือ แนวคิด “Freedom and Responsibility” ซึ่งเป็นการให้อิสระทางความคิด พนักงานทุกคนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้พนักงานจะต้องรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองให้ดีพอ อีกด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องราวของจุดเริ่มต้นและแนวคิดในวันแรกของการรับตำแหน่งใหม่ของเหล่า CEO ชื่อดังซึ่งอาจไม่ได้โรยมาด้วยกลีบกุหลาบ
เพราะก่อนที่เราจะเริ่มรู้จักชื่อเสียงของพวกเขาในฐานะบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้
พวกเขาอาจจะต้องเจอจุดที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตมาก็เป็นได้
แต่พวกเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาสามารถก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ด้วยดี ผ่านผลประกอบการของบริษัท มูลค่าบริษัทที่เติบโต หรือรอยยิ้มของพนักงานที่ร่วมปลุกปั้นบริษัทที่พวกเขาช่วยกันสร้างขึ้นมา
แน่นอนว่า พวกเขาก็มีหนึ่งสมอง สองมือเหมือนกับเรา ดังนั้นหากพวกเขาสามารถก้าวข้ามสิ่งที่ยากลำบากมากที่สุดมาได้ เชื่อว่า พวกเราก็สามารถทำได้เช่นกัน ขอแค่เพียงเริ่มต้นลงมือทำอย่างมุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้ ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน..
References
-https://www.investopedia.com/articles/fundamental-analysis/12/steve-jobs-apple-story.asp
-https://allaboutstevejobs.com/persona/steve_at_work
-https://www.cnbc.com/2017/08/04/how-bill-gates-the-worlds-richest-man-got-his-start.html
-https://www.game-learn.com/leadership-styles-steve-jobs-apple-vs-bill-gates-microsoft/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Microsoft
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.