อธิบายงบการเงิน KCG เจ้าของ คุกกี้กล่องแดง 9 เดือนปีนี้ รายได้ +6% แต่ทำไม กำไรถึง +48%

อธิบายงบการเงิน KCG เจ้าของ คุกกี้กล่องแดง 9 เดือนปีนี้ รายได้ +6% แต่ทำไม กำไรถึง +48%

16 พ.ย. 2024
บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เจ้าของคุกกี้กล่องแดง ตราอิมพีเรียล, เนยแบรนด์ Allowrie, 
และผู้ผลิต จัดจำหน่าย นำเข้า ผลิตภัณฑ์จากนมอีกหลากหลายแบรนด์ในประเทศ
บริษัทเพิ่งรายงานผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 
- รายได้ 5,260 ล้านบาท +6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- กำไร 243 ล้านบาท +48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จะเห็นได้ว่า KCG มีอัตราการเติบโตของกำไร มากกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ ถึง 8 เท่า 
เรามาดูเหตุผลกัน..
1. มีรายได้เติบโตขึ้น จากทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม มีรายได้ 3,172 ล้านบาท +7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับประกอบอาหารและเบเกอรี มีรายได้ 1,510 ล้านบาท +2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต มีรายได้ 545 ล้านบาท +6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- รายได้อื่น ๆ 38 ล้านบาท
รวมแล้ว KCG มีรายได้ 5,260 ล้านบาท +6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
2. มีต้นทุนขาย หรือ Cost of Goods Sold ที่ถูกลง
โดยต้นทุนขาย คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการโดยตรง
สำหรับ KCG ก็คือ ต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง
โดยรายได้ทั้งหมดของ KCG เมื่อหักลบต้นทุนขายแล้ว ก็จะเหลือเป็น “กำไรขั้นต้น”
โดย 9 เดือนแรกของปี 2566
รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของ KCG มีต้นทุนขาย 71.2 บาท เหลือเป็นกำไรขั้นต้น = 28.8 บาท
ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2567
รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของ KCG มีต้นทุนขาย 69.1 บาท เหลือเป็นกำไรขั้นต้น = 30.9 บาท
จะเห็นได้ว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 KCG มีอัตรากำไรขั้นต้น 30.9% คือเพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็เพราะว่า
ในปีนี้ KCG มีต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง สามารถใช้กำลังการผลิต หรือ Utilization Rate ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
3. KCG ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดี
อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าทำการตลาดและโฆษณา
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) 
ดังนั้น ต้นทุนในส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
นอกจากนี้ KCG ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนด้วย
เมื่อค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ขณะที่รายได้จากยอดขายที่เติบโต รายได้ก็ไหลลงไปเป็นกำไร 
นั่นทำให้ KCG มีอัตรากำไรขั้นสุดท้าย ที่มากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 KCG มีอัตรากำไร 3.3%
และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 KCG มีอัตรากำไร 4.6%
และเมื่อเราลองเอา อัตรากำไร x รายได้ เพื่อคิดกลับเป็นกำไรออกมา เราก็จะเห็นว่า
- ปี 2566 อัตรากำไร 3.3% x รายได้ 4,988 ล้านบาท 
คิดเป็นกำไรเท่ากับ 165 ล้านบาท
- ปี 2567 อัตรากำไร 4.6% x รายได้ 5,260 ล้านบาท 
คิดเป็นกำไรเท่ากับ 243 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า KCG มีกำไรเติบโตมากขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เลยทีเดียว
ด้วยอัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้กำไรของ KCG เติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีรายได้เติบโตไม่มาก นั่นเอง..
Reference
- การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (MD&A) ไตรมาส 3 ปี 2567 บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.