ถอดสูตรความสำเร็จ KCAR ทำกำไรโตสวนทางเศรษฐกิจ คาดผลประกอบการปี 66 กวาดรายได้กว่า 2 พันล้านบาท
25 เม.ย. 2024
ถอดสูตรความสำเร็จ KCAR ทำกำไรโตสวนทางเศรษฐกิจ คาดผลประกอบการปี 66 กวาดรายได้กว่า 2 พันล้านบาท
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้นำด้านธุรกิจรถเช่าและรถมือสองแบบครบวงจรด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ยาวนานกว่า 30 ปี เผยผลประกอบการ 3 ไตรมาสแรกปี 2566 ทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท คาดยอดรวมทั้งปีเกิน 2,000 ล้านบาท ชูกำไรขายรถมือสองพุ่ง +58% ส่วนรถเช่า (EBT) +20% สวนกระแสตลาด
โดยสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำสุดในกลุ่มผู้ประกอบการ Top10 ชี้บริษัทเน้นสร้างความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่งทางการเงินด้วยวิสัยทัศน์สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงตามสูตร OPTIMUM ให้ผู้เล่นทุกฝ่ายและลูกค้าได้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมยอมรับสนใจเทรนด์รถไฟฟ้า ขอรอดูท่าทีค่าเสื่อม+ราคาขายต่อในช่วง 3-5 ปี คาดการณ์ปี 2567 ยังคงท้าทายทั้งสำหรับธุรกิจรถเช่าและรถมือสอง ย้ำรัฐบาลเร่งสถาบันการเงินผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อเอื้อตลาดรถไทยให้เติบโต
นายพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปี 2566 ที่ผ่านมา นับว่าท้าทายพอสมควร สำหรับภาพรวมมูลค่าตลาดรถเช่า เราคาดว่ามีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้า Operating Lease 60-70% และ Financial Lease 10-20% นอกนั้นเป็นเช่าท่องเที่ยวรายวันระยะสั้น
โดยธุรกิจมีการหดตัวเล็กน้อยไม่ถึง 5% ส่วนธุรกิจรถมือสองในช่วง 9 เดือนแรกนั้นดีมาก เพิ่งมาซบเซาช่วงปลายปี ทั้งจากมหกรรมยานยนต์และโดยเฉพาะเทรนด์รถไฟฟ้า รวมถึงการยึดรถที่มากขึ้น เพราะเมื่อ Supply มากขึ้นก็ส่งผลให้ราคารถมือสองต่ำลง นอกจากนี้ ไฟแนนซ์ยังเพิ่มความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ยังปรับตัวไม่ทันได้รับผลกระทบเยอะ
แต่แม้ตลาดรถมือสองดูชะลอตัวในช่วงนี้ แต่ภาพรวมก็ยังมีความต้องการที่ต่อเนื่อง เชื่อว่าในปีหน้า 2568 ราคามือสองจะดีดขึ้นไปอีก ดังนั้น ปี 2567 ก็นับเป็นนาทีทองสำหรับผู้ต้องการซื้อรถมือสอง เพราะจะได้ราคาดีมากกว่าในช่วงนี้”
เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกทำรายได้ทะลุพันกว่าล้าน KCAR คือหนึ่งในผู้เล่น Top10 ของตลาดรถเช่าเมืองไทยที่มีความมั่นคงทางการเงินสูงและมีผลกำไรโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการเมื่อปี 2565 ทำรายได้ไปกว่า 2.2 พันล้านบาท จากธุรกิจรถเช่า 1.3 พันล้านบาทและรถมือสอง 800 กว่าล้านบาท รวมกำไรกว่า 183 ล้านบาท โดยมีอัตราปันผลเฉลี่ย 5 ปีที่ 5.3% ต่อปี
สำหรับข้อมูลล่าสุดปี 2566 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก เฉพาะรายได้ทั้งจากธุรกิจรถเช่าและรถมือสองรวมกันมีมูลค่าทะลุพันล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจรถเช่าทำกำไรก่อนภาษี (EBT) +20% และกำไรธุรกิจรถมือสองที่ +58% ซึ่งสวนกระแสตลาดรถขาลง คาดว่าเมื่อคำนวนรวมกับรายได้อื่น ๆ ทั้งปี บริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ราว ๆ 2 พันล้านบาท
เมื่อพิจารณาในด้านสินทรัพย์รวม แม้ว่า KCAR จะมีสินทรัพย์รวมที่ 5.7 พันล้านบาท คิดเป็นอันดับ 8 ในกลุ่ม TOP10 ของธุรกิจรถเช่ากลุ่ม Operating Lease และ Financial Lease แต่ KCAR สามารถทำกำไรสัดส่วนสูงสุดที่ 4.0% และยังสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ได้ต่ำสุดในกลุ่มเพียง 1.5% ซึ่งชัดเจนว่าปัจจุบัน บริษัทมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง
ซึ่งทำให้บริษัทได้รับการประเมินผลการกำกับดูแลกิจการจากผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยที่ระดับ “ดีมาก” จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และถูกจัดอันดับ Credit Rating ในระดับ A- โดย TRIS
ความสำเร็จนี้เป็นอานิสงส์ของการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รวมถึงการวางโมเดลธุรกิจอย่างชาญฉลาด การกำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านบริการ และการใช้กลยุทธ์ OPTIMUM ผสานโมเดลธุรกิจครบวงจร วิสัยทัศน์ Service and Quality Excellence และกลยุทธ์ OPTIMUM ชูจุดแข็งเน้นบริการสำคัญที่สุด ไม่ใช่การเติบโตสูงสุด
ปัจจุบัน KCAR ดำเนิน 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจรถเช่าและธุรกิจขายรถมือสอง ซึ่งเกิดจากการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้เอื้อประโยชน์กัน โดยช่วงแรกบริษัทฯ มีเพียงธุกิจรถเช่า KCAR ต่อมาจึงตั้งธุรกิจรองรับการขายรถมือสองสภาพดีที่หมดสัญญาเช่าจากลูกค้าในชื่อ Toyota Sure Krungthai แม้โมเดลธุรกิจจะดูเป็นโครงสร้างการเงินที่ซื้อทรัพย์สินมาบริหารและขายต่อ หากซีอีโอเน้นย้ำว่าทั้งหมดทั้ง KCAR และ Toyota Sure Krungthai คือธุรกิจบริการ ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ Service and Quality Excellence และกลยุทธ์ OPTIMUM
ปัจจุบัน ธุรกิจรถเช่า KCAR มีพอร์ตรถยนต์มากกว่า 9,000 คัน และฐานลูกค้ามากกว่า 1,200 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้า Operating Lease เช่าระยะยาว 1-5 ปี แบ่งเป็นหน่วยงานราชการ 15% และองค์กรเอกชน 85% ซึ่งสิ่งที่มัดใจลูกค้าคือการมีศูนย์บริการมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากบริษัทยอมเพิ่มต้นทุนในการบริหารงานดีลเลอร์จำนวนมากเพื่อมอบความสะดวกสบายที่มากกว่าให้แก่ลูกค้า
ซึ่งทำให้ KCAR สามารถรักษาฐานลูกเค้าเก่าได้อย่างเหนียวแน่น โดยลูกค้าที่เคยเปลี่ยนไปใช้รายอื่น ก็มักจะหันกลับมาเช่ารถจาก KCAR อีกครั้งเพราะบริการที่ครอบคลุม รวมถึงการเทรนพนักงานที่จริงใจ สามารถให้คำปรึกษาเพื่อให้ลูกค้าได้ข้อเสนอและราคาที่ดีที่สุดเสมอ โดยคำนึงถึงการทำยอดขายเป็นเรื่องรองลงมา
และแน่นอนว่า นอกจากการบริการลูกค้า ธุรกิจรถต้องมี Supplier หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นไฟแนนซ์ ประกันภัย และดีลเลอร์เป็นจำนวนมาก ทำให้กลยุทธ์ OPTIMUM มีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อให้ผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ Win-Win-Win โดยทั้ง KCAR และ Toyota Sure Krungthai ให้ความสำคัญในรายละเอียดการทำงานแต่ละขั้นตอนมากกว่า เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานที่แตกต่างและเติบโตไปพร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืนร่วมกับพาร์ตเนอร์ทุกราย
ชี้เทรนด์รถไฟฟ้ายังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจรถเช่าและมือสองไทยในปัจจุบัน
เมื่อคนเริ่มให้ความสนใจรถไฟฟ้าและมีการสอบถามมาทาง KCAR มากขึ้น ทำให้บริษัทจัดซื้อมาให้ลูกค้าเช่าทดลองขับแล้วหลายแบรนด์ ทั้ง MG, BYD และ GWM หลากหลายรุ่น โดยมีลูกค้าองค์กรมากกว่า 200 บริษัทและรายย่อยมาเช่าทดลองขับบ้างแล้ว
แต่ก็ยังพบความไม่สะดวกหลายอย่าง ทั้งเงื่อนไขการใช้พลังงานที่จุดชาร์จไม่เพียงพอ ระยะเวลาการชาร์จนาน ชาร์จแต่ละครั้งยังขับได้ระยะทางจำกัด รวมถึงค่าเช่าที่แพงกว่ารถสันดาปในประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน และสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือเรื่อง Warranty ของรถไฟฟ้า ซึ่งแม้จะยาวถึง 8 ปี แต่จำกัดระยะทางเพียง 160,000-180,000 กม.
ในขณะที่รถสัญญาเช่า 5 ปี มักวิ่งไกลกว่านั้น ทำให้ Warranty อาจหมดก่อนสัญญาเช่า ซึ่งจะส่งผลถึงราคาขายต่อ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอายุการใช้งานแบตเตอรีที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
รถไฟฟ้าที่เข้าไทยในวันนี้นับเป็นรุ่นแรก ๆ ทำให้อุตสาหกรรมรถเช่าต่างรอดูทิศทางไปอีกราว 3-5 ปี ซึ่งทาง KCAR มีการปรับตัว ลองตลาด ดูฟีดแบ็กของลูกค้า และพิจารณาการกำหนดนโยบายทั้งจากผู้ผลิตและหน่วยงานรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้
การเช่ารถใช้เป็นเทรนด์คนรุ่นใหม่ทั่วโลก
ผู้ใช้รถทั่วโลกเริ่มตระหนักว่าการเช่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคุมค่าใช้จ่ายที่ดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นทุกวันนี้ เพราะเมื่อเช่ารถ ผู้ให้เช่าจะรวมต้นทุนทุกอย่างเบ็ดเสร็จในราคาเช่า ไม่ว่าจะเป็นค่างวดและดอกเบี้ย ค่าต่อทะเบียน ค่าประกัน ฯลฯ สามารถปลดภาระค่าใช้จ่ายแฝงที่ผู้บริโภคอาจไม่เคยนึกถึง อย่างค่าซ่อม ค่าเปลี่ยนอะไหล่ การหารถใช้ทดแทนเมื่อรถเสีย ฯลฯ ไปได้แบบ 100% โดยจะตกเป็นภาระของผู้ให้เช่าทั้งหมด
“วันนี้การเช่ารถนับว่าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะลูกค้าผู้หญิงที่ไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์ เพราะผู้ให้เช่าจะมีพนักงานให้คำปรึกษาและรับภาระความเสี่ยงทั้งหมดไว้เอง เมื่อคำนวณแล้วการเช่าจะถูกกว่าการซื้อในระยะเวลาเท่ากันมากกว่า 10% เลยทีเดียว ทำให้เทรนด์นี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก วัยรุ่นหลายคนไม่ซื้อรถ
แต่เช่ารถขับแทน สำหรับประเทศไทย อาจต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจกันอีกสักพัก เหมือนกับการซื้อที่อยู่สมัยก่อนที่เชื่อว่าต้องซื้อบ้านพร้อมที่ดินเท่านั้น แต่ในปัจจุบันก็หันมาลงทุนในคอนโดมิเนียมหรือห้องชุดกันมากขึ้น เรื่องการเช่ารถนี้ก็เช่นกัน แม้ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าองค์กร แต่อีก 3-5 ปีข้างหน้า ลูกค้ารายบุคคลก็มีโอกาสเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และเราเชื่อว่าเทรนด์การเช่ารถใช้จะแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างแน่นอน” นายพิชิต จันทรเสรีกุล กล่าว
Tag:KCAR