สรุป Feasibility Study วิธีลองทำธุรกิจ ในกระดาษ ก่อนลงสนามจริง | BrandCase

สรุป Feasibility Study วิธีลองทำธุรกิจ ในกระดาษ ก่อนลงสนามจริง | BrandCase

7 พ.ย. 2023
บ่อยครั้งที่คนทำธุรกิจ มักจะเริ่มทำธุรกิจเลย โดยไม่ได้วางแผนอะไรมากมายนัก ทำให้สุดท้ายหลายธุรกิจก็ต้องปิดตัวลง หลังจากที่เริ่มทำได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเจ้าของธุรกิจได้ลองประเมินความเสี่ยง และความเป็นไปได้ของธุรกิจมาก่อน ก็อาจจะช่วยให้เราไม่เสียเงินทุนไปอย่างสูญเปล่าก็ได้
ซึ่งเราเรียกวิธีการแบบนี้ว่า “Feasibility Study”
Feasibility Study คืออะไร ? แล้วทำกันอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Feasibility แปลตรง ๆ ก็คือ ความเป็นไปได้
เพราะฉะนั้น Feasibility Study ในเชิงธุรกิจ ก็หมายถึง การศึกษาความเป็นไปได้ในมุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้น ๆ นั่นเอง
โดยปกติแล้ว Feasibility Study มักจะทำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากต่อหนึ่งโครงการ
อีกทั้งยังมีประเด็นในเรื่องกฎหมาย และสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเล็ก ๆ เอง ก็สามารถนำ Feasibility Study มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
ถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่ดี เราจะได้ล้มแค่ในกระดาษเท่านั้น
แต่ถ้าเห็นว่าดี มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จ ก็ค่อยเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกิจด้วย
แล้ว Feasibility Study ต้องวิเคราะห์อะไรบ้าง ?
การทำ Feasibility Study มีหลายด้านที่ต้องวิเคราะห์ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจเป็นสำคัญ
ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะมีที่สำคัญอยู่ 5 ด้าน คือ
สินค้าของเรา มีความต้องการในตลาดหรือไม่ ? (Market Feasibility)
เช่น ถึงแม้ว่าธุรกิจจะมีคู่แข่งน้อย แต่ถ้าธุรกิจนั้นไม่มีความต้องการซื้อ มารองรับมากเพียงพอ ธุรกิจนั้นก็อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีที่จะลงทุน
ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจ จึงควรจะมีการสำรวจตลาดก่อน ว่าสินค้าและบริการของเรา จะมีลูกค้ามาซื้อจริง ๆ และซื้อในปริมาณที่มากพอ ที่จะให้ธุรกิจประคองตัวไปได้
คำถามที่คนเริ่มทำธุรกิจจะต้องตอบให้ได้ ตัวอย่างเช่น
สินค้าหรือบริการของเรา มีความต้องการในตลาดหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ?กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราเป็นใคร ?ลูกค้าของเรามีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน ? มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณเท่าไร ?คู่แข่งของเราคือใคร ?
ถ้าเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แสดงว่าเรามีความพร้อมที่จะทำธุรกิจในขั้นแรก
แล้วเราจะสำรวจความต้องการของตลาดได้อย่างไรบ้าง ?
เราอาจจะสำรวจความต้องการของตลาดได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
ผ่านทางการจัดทำแบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค การสัมภาษณ์
หรืออาศัยเครื่องมืออย่าง Google Trends ช่วยในการสำรวจคีย์เวิร์ดที่คนชอบเซิร์ชหา ในช่วงเวลาที่กำหนดก็ได้
สินค้าของเรา ผลิตได้จริง ๆ ใช่ไหม ? (Production Feasibility)
ในส่วนนี้คือ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ
เปรียบเทียบกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน เทคโนโลยี เงินทุน ความชำนาญ หรือเวลา
ถ้าสินค้าที่ตั้งใจจะผลิต ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง
เพราะขาดทรัพยากรใดทรัพยากรหนึ่งไป แน่นอนว่าธุรกิจก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เช่น เรามีหน้าตาของสินค้าที่เราอยากได้ มีสเป็กของสินค้าที่เราอยากได้ แต่หาข้อมูลแล้วไม่มีโรงงานไหนที่สามารถผลิตให้ตอบโจทย์เราได้เลย
แบบนี้สินค้าที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงนั่นเอง
กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ ? (Law & Regulation Feasibility)
คนที่จะเริ่มทำธุรกิจ ควรศึกษากฎหมายในเบื้องต้นก่อนว่า ธุรกิจที่เราจะทำ กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่
เพราะบางธุรกิจ กฎหมายก็ไม่อนุญาตให้ทำได้ เช่น ธุรกิจกาสิโน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ในประเทศไทย
หรือบางธุรกิจก็สามารถทำได้ แต่กฎหมายกำหนดว่า ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะทำได้
เช่น ธุรกิจโรงรับจำนำเอกชน มีพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ห้ามทำธุรกิจโรงรับจำนำ
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐก่อน
ถ้าเราเริ่มทำไปขัดกับข้อกฎหมาย ธุรกิจของเราก็จะไปต่อไม่ได้
รูปแบบการสร้างรายได้ เป็นอย่างไร ? (Business Model Feasibility)
ธุรกิจที่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีรูปแบบการสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
ซึ่งคนทำธุรกิจต้องเข้าใจว่าธุรกิจของเรา มีวิธีการสร้างรายได้ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง
และอาจจะทดลองต่อยอดไอเดีย เพื่อหาวิธีที่ธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยก็ได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเปิดร้านสุกี้ เราจะใช้โมเดลบุฟเฟต์ หรือขายแบบกินเท่าไร จ่ายเท่านั้น
เพราะการเลือกโมเดลต่างกัน จะมีผลต่อกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าหรือบริการ ให้เหมาะสมกับต้นทุนด้วย
หรือถ้าจะทำร้านกาแฟ มีรูปแบบการสร้างรายได้คือ การขายกาแฟเป็นแก้ว ๆ ในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม อาจเพิ่มโมเดลสมาชิกไปด้วย
ว่าถ้าจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน แล้วจะได้ซื้อกาแฟในราคาต่อแก้วที่ถูกลง
ซึ่งถ้าทำราคาสมาชิกให้คุ้มค่า และเหมาะสมกับต้นทุน ร้านกาแฟของเราก็จะมีรายได้มากขึ้นได้ แถมยังเป็นการดึงลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำ ๆ ได้ด้วย
ธุรกิจที่ทำคุ้มไหมที่จะลงทุน ? (Financial Feasibility)
สิ่งสุดท้ายที่คนทำธุรกิจควรจะทดลองทำก็คือ การวิเคราะห์ด้านการเงิน
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจ คือการแสวงหากำไร
ดังนั้นหากธุรกิจที่จะทำ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ ธุรกิจนั้นก็ควรที่จะจบลงบนแผ่นกระดาษดีกว่า
ซึ่งสิ่งที่คนทำธุรกิจจะต้องวิเคราะห์คร่าว ๆ ก็คือ
โครงสร้างต้นทุน ต้องรู้ว่าธุรกิจมีต้นทุนอะไรบ้าง ทั้งต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนแฝงต่าง ๆตัวเลขคาดการณ์รายได้ เป็นการคาดคะเนว่าธุรกิจจะมีรายได้เท่าไร ทั้งในกรณีดีที่สุดและแย่ที่สุด
ทั้งตัวเลขต้นทุนและรายได้คาดการณ์ เมื่อนำมาหักลบกัน จะได้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการออกมา
ซึ่งเราสามารถนำมาคำนวณระยะเวลาที่จะคืนทุน และประเมินได้ว่า ธุรกิจที่เราจะทำ คุ้มค่าต่อการลงทุน ลงแรงหรือไม่
นอกจาก 5 หัวข้อที่เล่ามาข้างต้น บางธุรกิจอาจจะต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีหน้าร้านในการขายของก็อาจจะต้องวิเคราะห์ทำเล และคู่แข่งในพื้นที่ใกล้เคียง
หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงงาน ก็ต้องศึกษาเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเห็นความสำคัญของการทำ Feasibility Study ไม่มากก็น้อย
ซึ่งการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญที่นักธุรกิจมือใหม่ทุกคนควรทำ
เพราะการทดลองทำธุรกิจ แล้วเจ๊งแค่บนแผ่นกระดาษ
ก็น่าจะดีกว่าการลงมือทำธุรกิจไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาให้ดี แล้วสุดท้ายไปขาดทุนหนัก และเจ๊งในโลกจริง..
References
-https://www.neobycmmu.com/post/feasibility-study
-คลิป Feasibility Study คืออะไร ? ต้องดูอะไรบ้าง ทำแล้วดีต่อธุรกิจอย่างไร ? | เจ๊งในกระดาษ EP.5 จาก YouTube Channel: Torpenguin
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.