ธุรกิจพ็อปคอร์น-เครื่องดื่ม ของ Major รายได้เยอะกว่า ยอดขายเถ้าแก่น้อย ในไทย

ธุรกิจพ็อปคอร์น-เครื่องดื่ม ของ Major รายได้เยอะกว่า ยอดขายเถ้าแก่น้อย ในไทย

5 ก.ค. 2023
ธุรกิจพ็อปคอร์น-เครื่องดื่ม ของ Major รายได้เยอะกว่า ยอดขายเถ้าแก่น้อย ในไทย | BrandCase
รู้ไหมว่าปีที่แล้ว โรงภาพยนตร์ Major Cineplex มีรายได้จากการขายพ็อปคอร์น เครื่องดื่ม และของทานเล่น ทั้งหมด 1,717 ล้านบาท
ถ้าลองเทียบกับรายได้ของ เถ้าแก่น้อย เฉพาะที่ขายได้ในไทย ปีที่แล้ว มีรายได้ 1,662 ล้านบาท
จะเห็นว่า พ็อปคอร์นของ Major Cineplex ทำรายได้ดีกว่าเถ้าแก่น้อยในไทยเสียอีก
ที่น่าสนใจคือ ช่วงก่อนวิกฤติโรคระบาด ที่คนไปดูหนังในโรงภาพยนตร์กันเต็มที่ ยอดขายพ็อปคอร์นและของทานเล่นของ Major Cineplex ก็ทำได้เยอะกว่าตอนนี้อีก
มีอะไรน่าสนใจอีกบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
BrandCase จะพาไปเจาะลึกธุรกิจนี้ ของโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ในไทย อย่าง Major Cineplex กัน
เจ้าของโรงภาพยนตร์ Major Cineplex ก็คือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเราขอเรียกสั้น ๆ ว่า Major
Major ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 6,749 ล้านบาท
โดยรายได้จากการขาย มาจาก
-ธุรกิจจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ 48%
-ธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม 25%
-ธุรกิจสื่อโฆษณา 10%
-ธุรกิจโบว์ลิงและคาราโอเกะ 5%
-ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ 4%
-ธุรกิจอื่น ๆ 8%
จะเห็นว่า ธุรกิจพ็อปคอร์นของ Major นั้น คิดเป็นยอดขายประมาณ 1 ใน 4 ของยอดขายบริษัทเลยทีเดียว
และหากย้อนดู รายได้ 4 ปีที่ผ่านมา เฉพาะธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม
ปี 2562 รายได้ 2,097 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 715 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 786 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 1,717 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด Major มีรายได้จากธุรกิจนี้มากกว่า 2,000 ล้านบาท
ในขณะที่ปี 2563 และปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดหนัก ๆ Major ก็ยังมีรายได้จากการขายพ็อปคอร์นในระดับ 700 ล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่โรงภาพยนตร์บางช่วง แทบไม่มีคนเลย
ซึ่งที่เป็นแบบนี้ หลายคนคงพอเดาออก
เพราะช่วงที่โรงภาพยนตร์เปิดไม่ได้ตามปกติจนถึงตอนนี้ Major เอาพ็อปคอร์นมาลงขายตามช่องทางดิลิเวอรี แล้วก็ได้ผลตอบรับที่ดี
ทีนี้พอคนเริ่มกลับไปดูหนังในโรงภาพยนตร์มากขึ้น
ปีที่ผ่านมา Major ก็มีรายได้จากการขายพ็อปคอร์นถึง 1,717 ล้านบาท ซึ่งกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่วิกฤติจะเกิดขึ้นแล้ว
โดยรายได้จากการขายพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม 70% เป็นการซื้อหน้าโรง เพื่อเอาไปทานระหว่างรับชมภาพยนตร์
ส่วนที่เหลือ เป็นการซื้อกลับไปทานนอกโรงภาพยนตร์ แบ่งได้เป็น
-ซื้อจากแอปพลิเคชันดิลิเวอรี 13.4%
-ซื้อจากจุดจำหน่ายนอกโรงภาพยนตร์ 9.0%
-ซื้อจากแพลตฟอร์ม E-Commerce 5.9%
-ช่องทางอื่น ๆ 1.7%
แล้วธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่มของ Major สร้างกำไรให้บริษัท เยอะขนาดไหนกัน ?
ทาง Major บอกว่า Gross Margin หรือ อัตรากำไรขั้นต้น ของการขายพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม อยู่ที่ประมาณ 55-60%
คือหมายความว่า ทุก ๆ 100 บาท ที่เราจ่ายค่าพ็อปคอร์นและเครื่องดื่มไปนั้น เมื่อหักต้นทุนค่าวัตถุดิบออกแล้ว บริษัทจะมีกำไรขั้นต้น อยู่ที่ 55-60 บาท
ซึ่งอัตรากำไรระดับนี้ ถือว่าค่อนข้างสูง
ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะ Major สามารถขายสินค้าพวกนี้ในราคาสูงกว่าต้นทุนได้มาก เพราะว่ามีกฎห้ามเอาอาหารและเครื่องดื่มจากข้างนอก เข้าโรงภาพยนตร์
คนที่อยากซื้อน้ำ ซื้อขนมทานตอนดูหนัง ก็ต้องยอมจ่ายตามราคาที่ Major ขาย
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะนึกไม่ออก ว่ายอดขาย 1,717 ล้านบาท ที่ว่า มันเยอะขนาดไหน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองเอารายได้ของธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่มของ Major ไปเทียบกับรายได้ของ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย กันดู
บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย
ปี 2565 เถ้าแก่น้อย มีรายได้รวม 4,367 ล้านบาท
โดยเป็นยอดขายจาก
ไทย 1,662 ล้านบาท
จีน 1,110 ล้านบาท
ประเทศอื่น ๆ อีก 1,595 ล้านบาท
จะเห็นว่า หากเทียบกันเฉพาะในไทย ธุรกิจพ็อปคอร์นและเครื่องดื่ม ของ Major มียอดขายดีกว่า สาหร่ายของเถ้าแก่น้อยเสียอีก..
โดยรูปแบบการขายพ็อปคอร์นของ Major คือ ใช้ห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์ เป็นที่ผลิตพ็อปคอร์น โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงาน หรือช่องทางโลจิสติกส์เลย
และที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ภายในปีนี้ พ็อปคอร์นของ Major กำลังจะบรรจุถุงขายในร้าน 7-Eleven
ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่า ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร..
References
-รายงานประจำปี Major
-Company Visit Major
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.