กสิกรไทย ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน ESG เตรียมงบลงทุนด้านนี้ เพิ่มอีก 200,000 ล้าน

กสิกรไทย ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน ESG เตรียมงบลงทุนด้านนี้ เพิ่มอีก 200,000 ล้าน

9 พ.ย. 2022
กสิกรไทย ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน ESG เตรียมงบลงทุนด้านนี้ เพิ่มอีก 200,000 ล้าน | BrandCase
กสิกรไทย กำลังวางยุทธศาสตร์ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยกสิกรไทยมีแผนงานและเป้าหมายในมิติต่าง ๆ คือ
1. มิติสิ่งแวดล้อม
ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ทั้งในการดำเนินงานของธนาคาร และในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร
โดยในปี 2565 มีการดำเนินงานแล้ว ได้แก่
- ปรับกระบวนการทำงานของธนาคาร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เช่น ทยอยติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน และสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ และนำรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car มาใช้ในองค์กร
โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13.52% (เทียบปีฐาน 2563) และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานของธนาคารอย่างต่อเนื่อง
- ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร
เริ่มจากการประเมินก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร
ซึ่งในปี 2565 ธนาคารประเมินและจัดทำแผนกลยุทธ์ การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) จำนวน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม
ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า, กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน
ซึ่ง 3 กลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission)
และเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ
- สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment)
ธนาคารให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในปี 2565 ไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท
และเตรียมจัดสรรเงินทุน รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง รวม 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
- พัฒนาบริการ Beyond Financial Solutions ผสานเทคโนโลยีและความร่วมมือกับพันธมิตร
เชื่อมต่อความร่วมมือตลอดซัปพลายเชน ออกโครงการที่กระจายสู่วงกว้างได้มากขึ้น เช่น
โครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
และโครงการส่งเสริมการเช่าใช้งาน EV Bike ที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย และช่วยให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ
2. มิติสังคม
กำหนดยุทธศาสตร์สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อ
โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาจากความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู การทำงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร
เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานและเป้าหมาย ดังนี้
​- สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายเล็ก
ได้แก่ ลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจไม่มีบัญชีเงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้
โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ รวมถึงลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อปีด้วย
โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) ธนาคารให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายเล็ก เป็นจำนวนกว่า 500,000 ราย มูลค่าสินเชื่อกว่า 23,000 ล้านบาท
และตั้งเป้าหมายปี 2568 จะให้ลูกค้ารายเล็กจำนวน 1,900,000 ราย เข้าถึงสินเชื่อได้
- ให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการออกแคมเปญสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ เข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านราย ในปี 2566
- ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ปกป้องทรัพย์สินของลูกค้า การให้บริการที่ปลอดภัย และดูแลอย่างทันท่วงที
3. มิติธรรมาภิบาล
ให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การพิจารณาตามหลัก ESG เพื่อดูแลให้สินเชื่อที่ปล่อยไป จะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100%
โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้ กว่า 340,000 ล้านบาท
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.