สรุปแบรนด์ Terminal 21 และ Grande Center Point ที่ LH เป็นคนปั้น

สรุปแบรนด์ Terminal 21 และ Grande Center Point ที่ LH เป็นคนปั้น

29 ต.ค. 2022
สรุปแบรนด์ Terminal 21 และ Grande Center Point ที่ LH เป็นคนปั้น | BrandCase
หลายคนน่าจะรู้จัก ห้าง Terminal 21 และโรงแรม Grande Center Point กันดี
ล่าสุด Terminal 21 ก็เพิ่งเปิดสาขาใหม่ คือสาขาพระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วน Grande Center Point เมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งเปิดตัวโรงแรมธีมอวกาศ Grande Centre Point Space Pattaya
ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีธีมเฉพาะ แห่งแรกในไทย
ผู้ปลุกปั้นสองแบรนด์ดังนี้ คือกลุ่ม Land & Houses หรือเรียกสั้น ๆ ว่า LH
ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไทย
ที่ไม่ได้พัฒนาเพียงแค่ หมู่บ้านจัดสรรเพียงอย่างเดียว
ความยิ่งใหญ่ของทั้งสองแบรนด์ที่ว่านี้ มีที่มาอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าเรื่องมุมนี้ที่หลายคนไม่รู้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
Land & Houses คือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไทย
ที่มีความสนใจในหลากหลายธุรกิจ ทั้งบ้าน, คอนโดมิเนียม, ธุรกิจธนาคาร, เซอร์วิซอะพาร์ตเมนต์, โรงแรม ตลอดจนห้างค้าปลีก
แบรนด์คอนโดมิเนียมที่หลายคนน่าจะรู้จักของ LH ก็อย่างเช่น The Room, The Key และ The Bangkok
และต้องบอกว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม Land & Houses ก็มีธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในเครือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
-การร่วมมือกับกลุ่มโรบินสัน เพื่อเปิดห้าง Save One Supercenter ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในปี 2537
-ศูนย์การค้า Fashion Island ในย่านรามอินทรา เมื่อปี 2538 พัฒนาโดย บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ ที่อยู่ในเครือ Land & Houses ซึ่งมีกลุ่มเซ็นทรัลถือหุ้นอยู่ด้วย
-ร่วมทุนกับกลุ่ม Quality House ในการก่อตั้ง HomePro เมื่อปี 2539
โดยตั้งใจให้เป็นห้างที่รวบรวมสินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับบ้าน เพื่อแก้จุดบอดของลูกค้า ที่จะต้องซื้อสิ่งของเครื่องใช้จากหลาย ๆ ที่
จนกระทั่ง 10 กว่าปีต่อมา คุณอนันต์ อัศวโภคิน ผู้บริหารเครือ Land & Houses ในตอนนั้น ได้มีโอกาสเช่าซื้อที่ดิน จากกลุ่มตระกูลหวั่งหลี ผู้ก่อตั้งศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
บริเวณซอยสุขุมวิท 19 ใกล้กับจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก และ MRT สุขุมวิท
โดยได้ทำสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี บวกกับช่วงเวลาก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์
อีก 3 ปี ตั้งแต่ ปลายปี 2550
ซึ่งหลังจากได้ที่ดินมาแล้ว ทางกลุ่ม Land & Houses ก็ยังลังเล
ว่าจะเอาที่ดินที่เป็นทำเลทองนั้น ไปสร้างเป็นอะไรดี
โดยถ้าหากสร้างเป็นคอนโดมิเนียม ก็อาจทำให้ลูกบ้าน ต้องเจอเสียงรบกวน จากการจราจรที่คับคั่งในบริเวณนั้น
และถ้าหากสร้างเป็นอาคารสำนักงานให้เช่า ในบริเวณนั้น ก็มีอาคารสำนักงานให้เช่าเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว อย่างอาคาร Interchange 21
สุดท้าย คุณอนันต์ ก็ลงเอยที่จะสร้างเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ ชื่อว่า “Terminal 21” และเปิดให้บริการในปี 2554
ตอนนั้นคุณอนันต์คิดว่า ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในขณะนั้น หลายคนยังไม่เคยไปเมืองนอก
เลยสร้าง Terminal 21 ให้เป็นเหมือน ธีมมอลล์ ที่ให้ลูกค้าเข้าไปเดินช็อปปิงแล้วรู้สึกว่า เหมือนอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ในต่างประเทศทั่วโลก
โดยแนวคิดของ Terminal 21 ในตอนแรกคือ “ท่าอากาศยานแห่งความบันเทิง ที่ยกทั้งโลก มาไว้ที่สุขุมวิท”
ส่วนตัวเลข 21 ก็มาจากซอยสุขุมวิท 21 ซึ่งก็คือถนนอโศกมนตรี นั่นเอง
ซึ่งต้องบอกว่า ภายในศูนย์การค้า Terminal 21 ก็มีอะไรหลายอย่างที่แปลกใหม่ และแตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น ๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น
-การตกแต่งศูนย์การค้าในแต่ละชั้น ให้เป็นธีมของประเทศต่าง ๆ อย่าง ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น
-การตกแต่งห้องน้ำของศูนย์การค้า ให้มีความน่าใช้ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า
อย่างการตกแต่งห้องน้ำให้เป็นธีมของประเทศต่าง ๆ และการใช้โถสุขภัณฑ์อัตโนมัติ ในแบบญี่ปุ่น
-มีบันไดเลื่อนยาว ที่สามารถขึ้นไปได้ 3-4 ชั้น เพื่อให้ลูกค้า
ไปรับประทานอาหาร ตามร้านอาหาร และ Food Court ที่ชั้นบนสุดได้อย่างรวดเร็ว
-และสิ่งที่เป็นไฮไลต์ที่สำคัญ ของศูนย์การค้า Terminal 21 ก็คือ Food Court ที่มีอาหารราคาถูก เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย
ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ ที่คุณอนันต์เคยให้สัมภาษณ์บนเวทีสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี เมื่อปี 2559 บอกว่า
ทางศูนย์การค้า ไม่ได้เก็บค่าเช่าจากร้านอาหารใน Food Court เลย
จึงทำให้ร้านอาหาร ที่มาเช่า Food Court สามารถตั้งราคาอาหารได้ในราคาถูก
ทำให้ Food Court ต้องขาดทุนถึงปีละ 18 ล้านบาท
แต่ในทางกลับกัน ก็ได้มีลูกค้าแวะมารับประทานอาหารที่ Food Court ภายในศูนย์การค้ามากขึ้น
โดยไม่จำเป็นต้องโฆษณา เพื่อโปรโมตศูนย์การค้า
และสิ่งนี้เองทำให้ Food Court ภายใน Terminal 21 เป็นที่ฮือฮาสำหรับชาวต่างชาติมาก ๆ
จนสำนักข่าว CNN ต้องมาทำข่าว
และคุณอนันต์ก็ยังบอกว่า ได้มีการเชิญร้านค้าใหญ่ ๆ
ให้มาเปิดภายในศูนย์การค้า แต่กลับไม่มีร้านค้าไหนอยากมาเปิดเลย นั่นก็เพราะว่า ร้านค้าดัง ๆ ส่วนใหญ่ ก็มีสาขาอยู่ในบริเวณนั้นอยู่แล้ว
อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Gourmet Market หรือ Tops ต่างก็มีสาขาที่เปิดในบริเวณนั้นอยู่แล้ว
ดังนั้น คุณอนันต์ จึงใช้วิธีการลงทุน ด้วยการจ่ายเงินจ้างร้านค้าต่าง ๆ ให้เข้ามาเปิดในศูนย์การค้า
นอกจากนี้ ทางศูนย์การค้า ก็ได้แบ่งพื้นที่ให้เช่ากับร้านค้า SME มากถึง 680 เจ้า
ซึ่งสิ่งนี้เอง ที่ทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติประทับใจเป็นอย่างมาก
เพราะร้านค้า SME ส่วนใหญ่ ก็ขายสินค้าต่าง ๆ เพื่อเป็นของฝากสำหรับชาวต่างชาติได้
หลังจากที่ Terminal 21 สาขาอโศก เปิดให้บริการได้เพียงไม่กี่ปี ก็ได้รับผลตอบรับอย่างดี
ในเวลาต่อมา Terminal 21 ก็ได้มีแผนที่จะขยายสาขาต่อไป โดยเน้นพื้นที่ในต่างจังหวัด
โดยในปี 2559 ก็ได้ขยายสาขาที่ 2 ที่โคราช และปี 2561 ได้ขยายสาขาที่ 3 ที่พัทยา
และล่าสุดก็เพิ่งได้เปิดสาขาที่ 4 ไป คือสาขาพระราม 3 ที่เพิ่งเปิดไปได้เมื่ออาทิตย์ก่อน
โดยสาขานี้ ก็จะยังคงคอนเซปต์เดิม ทั้ง Food Court ที่มีราคาไม่แพง ไปจนถึงการตกแต่งภายในของศูนย์การค้าเป็นธีมของประเทศต่าง ๆ
แต่เนื่องจากในย่านพระราม 3 รายล้อมไปด้วยออฟฟิศ และที่พักอาศัย มีประชากรอาศัยอยู่ในย่านนั้นมากกว่า 1 ล้านคน
ดังนั้น รูปแบบของศูนย์การค้า จึงมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น
-การตกแต่งภายในศูนย์การค้าให้เป็นแบบสไตล์ Village โดยนำเสนอเป็นรูปแบบของหมู่บ้าน และชุมชนเมืองของประเทศนั้น ๆ เช่น France Village และ Italy Village
-การออกแบบลานด้านนอกศูนย์การค้า ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในย่านนั้น
-การดึงเชนร้านค้าต่าง ๆ ให้เข้ามาเปิดภายในศูนย์การค้ามากขึ้น
นอกจาก Terminal 21 แล้ว อีกแบรนด์สำคัญของกลุ่ม Land & Houses
ก็คือโรงแรมระดับ 5 ดาวอย่าง “Grande Center Point” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก เซอร์วิซอะพาร์ตเมนต์
โดยจุดเริ่มต้นคือ กลุ่ม Land & Houses ได้เล็งเห็นการเติบโตของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จึงมีแนวคิดที่จะเปิดโรงแรม Grande Center Point โดยเปิดที่ราชดำริเป็นที่แรก
และในเวลาต่อมา ก็ได้เปิดโรงแรม Grande Center Point อยู่ตามศูนย์การค้า และตามย่านการค้า
เช่น Terminal 21 สาขาอโศก และเมืองท่องเที่ยว อย่าง Terminal 21 สาขาพัทยา
และล่าสุดก็ได้เปิดโรงแรมแห่งใหม่ นั่นคือ โรงแรม Grande Center Point Space Pattaya
ซึ่งเป็นโรงแรมธีมอวกาศแห่งแรกของประเทศไทย
สรุปภาพรวม จำนวนสาขา ของ 2 แบรนด์นี้
-Terminal 21 มี 4 สาขา
-Grande Center Point มี 6 สาขา
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า ทั้ง Terminal 21 และ Grande Center Point ก็น่าจะเป็นแบรนด์ที่ติดตาและติดหู หลายคนไปแล้วไม่น้อย
ซึ่งก็ต้องดูกันต่อว่า กลุ่ม Land & Houses จะวางหมากขยายสาขาธุรกิจทั้งสองแบรนด์นี้ ไปที่ไหนต่อ ในอนาคต..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.