ทำไม ผู้บริหาร Toyota ไม่อยากทุ่มสุดตัว ทำรถยนต์ไฟฟ้า

ทำไม ผู้บริหาร Toyota ไม่อยากทุ่มสุดตัว ทำรถยนต์ไฟฟ้า

7 ต.ค. 2022
ทำไม ผู้บริหาร Toyota ไม่อยากทุ่มสุดตัว ทำรถยนต์ไฟฟ้า | BrandCase
ผู้บริหาร Toyota พูดตลอดช่วงที่ผ่านมา
ว่ายังไม่อยากทุ่มสุดตัวไปในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
สวนทางกับบางแบรนด์ที่ทุ่มสุดตัว เดิมพันกับเทรนด์ตลาดนี้
จนหลายคนน่าจะคาใจ ว่าเหตุผลของ Toyota คืออะไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นเรามาดู ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่า Electric Vehicle หรือ EV ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ทั่วโลก ว่ามีการเติบโตมากแค่ไหนในช่วงที่ผ่าน
ปี 2016 ปริมาณการใช้รถยนต์ EV ทั่วโลก จำนวน 1.2 ล้านคัน
ปี 2021 ปริมาณการใช้รถยนต์ EV ทั่วโลก จำนวน 11.3 ล้านคัน
ซึ่งคิดเป็นการเติบโตกว่า 9 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี
ปัจจัยสำคัญเกิดจากการตื่นตัวในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศผลักดัน รวมทั้งออกกฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น
ส่งผลให้ค่ายรถยนต์หลายแห่งทั่วโลก ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งเน้นไปยังตลาดรถยนต์ไฟฟ้า กันมากขึ้นตามไปด้วย
ท่ามกลางกระแสรถยนต์ EV ที่ใคร ๆ ต่างก็พูดถึง
แต่สำหรับ Toyota ค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ไม่ได้เร่งรีบที่จะโฟกัส หรือทุ่มสุดตัวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก
ซึ่งในมุมมองของผู้บริหาร Toyota คือคุณ Akio Toyoda นั้นมองว่า
-รถยนต์ EV ไม่ได้เป็นรถยนต์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากนัก
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ยิ่งมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมามากเท่าไร ก็หมายความว่า โลกของเราก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ยังมาจากถ่านหิน และแก๊สธรรมชาติ
ซึ่งพลังงานทั้ง 2 แหล่งที่ว่านี้ ยังเป็นพลังงานที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน
ขณะที่ ถ้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ที่แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องอันตรายที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด หากเกิดการรั่วไหล และเกิดการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
-ความเพียงพอของวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า
การที่โลกของเราจะไปถึงเป้าหมายการปลดปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 นั้น หนึ่งในปัจจัย คือ ทั่วโลกต้องมีการใช้รถยนต์ EV กว่า 2,000 ล้านคัน
การผลิตรถยนต์ EV ที่มากขึ้น หมายความว่า ความต้องการแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV นั้นต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ของ รถยนต์ EV คือ ลิเทียม โคบอลต์ และนิกเกิล
ประเด็นสำคัญคือ แร่เหล่านี้มีปริมาณที่จำกัด และจะหมดไปได้ในที่สุดในอนาคต
โดยทาง IEA คาดว่า จะเกิดความขาดแคลนลิเทียมภายในปี 2025 ขาดแคลนโคบอลต์ภายในปี 2030 และขาดแคลนนิกเกิล ภายในปี 2040
ดังนั้น ยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์มีความต้องการแร่ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ในรถยนต์ EV มากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้นเท่านั้น
-หลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
Toyota มองว่า ตลาดรถยนต์ EV กำลังกลายมาเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด จากการที่บริษัทรถยนต์หลายแห่งกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้
แต่ Toyota หันไปโฟกัสตลาดรถยนต์ไฮโดรเจน หรือ Fuel Cell Electric Vehicles ที่พวกเขาบอกว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
และยังมีผู้เล่นน้อยกว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV หรือก็คือชาร์จไฟฟ้า 100%
ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ไฮโดรเจน เป็นธาตุที่พบได้มาก สามารถใช้เทคโนโลยีสกัดได้จากน้ำ จึงเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีวันหมดสิ้น
และนี่ก็คือมุมมองของทางฝั่งผู้บริหาร Toyota
ว่าทำไมค่ายรถยนต์รายใหญ่จากฝั่งญี่ปุ่น ถึงไม่เร่งรีบที่จะเทหมดหน้าตักไปในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Toyota จะไม่สนใจเลย..
เพราะในช่วงระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ Toyota วางแผนที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.7 ล้านล้านบาท
แต่ก็ต้องหมายเหตุอีกนิดว่า เงินก้อนนี้ก็ไม่ได้ทุ่มการลงทุนไปที่รถยนต์ไฟฟ้า 100% เพียงอย่างเดียว
เพราะจะใช้ไปกับการพัฒนารถยนต์ Hybrid ด้วย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.