รวม 3 เทคนิค กระตุ้นความท้าทาย แก้อาการเบื่องาน ให้ได้ผล

รวม 3 เทคนิค กระตุ้นความท้าทาย แก้อาการเบื่องาน ให้ได้ผล

4 พ.ย. 2021
รวม 3 เทคนิค กระตุ้นความท้าทาย แก้อาการเบื่องาน ให้ได้ผล | THE BRIEFCASE
เวลาที่เราไปสังสรรค์กับเพื่อน แล้วได้มีโอกาสฟังคนอื่นพูดถึงงานที่พวกเขาทำด้วยความกระตือรือร้น
งานที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น เป็นเหตุผลที่อยากตื่นมาทำงานในทุก ๆ เช้า
แต่แล้วในขณะที่เรากำลังฟังคนอื่นอธิบาย ว่างานที่เขาทำนั้น ทำด้วยแพสชัน และความรัก
เราอาจจะคิดว่า “เราน่าจะมีความรู้สึกหลงใหลในงานที่ทำได้แบบคนอื่นบ้าง”
บางครั้งเมื่อเราได้ยินคนที่กระตือรือร้นเหล่านี้พูดถึงงานของพวกเขา จิตใจของเราก็เริ่มคิดถึงด้านลบในงานของเราไปโดยปริยาย
หรือเราอาจหวนคิดถึงช่วงเวลาในอาชีพการงานของเรา ที่เราเคยหลงใหล
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความกระตือรือร้นก็จางหายไป และบางทีหลังจากนั้นเราอาจคิดว่างานของเราน่าเบื่อไปแล้ว..
แต่รู้ไหมว่า อาการเบื่อ ก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานและชีวิต
และถึงแม้ความเบื่อหน่ายจะดูเลวร้ายไปบ้าง แต่ถ้าเราจัดการกับความเบื่อได้อย่างเหมาะสม
มันก็อาจจะเป็นแรงผลักดันให้เราได้เหมือนกัน
โดยนักวิจัยจาก University of Louisville ได้บอกไว้อย่างน่าสนใจว่า ความเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวันและในอาชีพการงานของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะถ้าเราไม่มีความเบื่อหน่าย คนเราจะติดอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่บรรลุผล และพลาดประสบการณ์ที่มีคุณค่าทางอารมณ์ ความรู้ความเข้าใจ และสังคมมากมาย
ความเบื่อเป็นสิ่งที่คอยเตือนว่า เราอาจจะกำลังไม่ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการจะทำจริง ๆ และยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราเปลี่ยนเป้าหมาย และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
แล้วจะมีวิธีไหนบ้าง ที่เราสามารถแก้ไขอาการเบื่องานของเราได้ ?
1. ลองไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทอื่น ๆ
ถ้าเราหมดรักในงานของเรา สามารถลองไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทอื่น ๆ ได้ เพื่อดูว่ามีงานอะไรอีกบ้างที่เราอาจจะชอบมากกว่างานที่กำลังทำอยู่
นอกจากนี้ การไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทอื่น ยังเป็นการทำให้เราเห็นว่า เรามีคุณค่า มีอะไรดี เพราะเราต้องแสดงให้บริษัทที่เราไปสัมภาษณ์เห็นว่าเราโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ อย่างไร
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้งานใหม่ที่เราไปสัมภาษณ์ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่ม Self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองของเราได้
เพราะทำให้เรารู้ว่าประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ทำให้เรามีคุณค่า หรือเก่งด้านอะไรบ้าง
2. โอบกอดความรู้สึกเบื่อที่เกิดขึ้น
เมื่อเราเกิดอาการรู้สึกเบื่อ เราก็มักจะลดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น ด้วยการทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
แต่แทนที่จะทำแบบนั้น ให้เราลองยอมรับความจริงว่าเราเบื่อ ไม่ต้องเบี่ยงบ่าย ไม่ต้องทำตัวยุ่ง ๆ
การทำแบบนี้จะช่วยให้พิจารณาได้ว่า ทำไมเราถึงรู้สึกเบื่อจริง ๆ อะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่พึงพอใจกับงานปัจจุบันของเรา เพื่อหาสาเหตุของความเบื่อหน่าย จะได้แก้ไขได้ตรงจุด
3. ยกระดับความท้าทายให้ชีวิต
บ่อยครั้งที่การตอบสนองตามธรรมชาติของเราต่อความเบื่อหน่าย คือ การแสวงหาสิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจใหม่ ๆ
เช่น เราคิดว่าเราต้องการงานใหม่ คิดว่าเราต้องการเลื่อนตำแหน่ง
แต่วิธีรักษาความน่าเบื่อที่ง่ายที่สุดนั้น คือ การกระตุ้นความรู้สึกภายในของเรา
อาจใช้วิธีตั้งเป้าหมายการทำงานให้ใหญ่หรือท้าทายขึ้น
เช่น ปกติแล้ว เราเคยทำยอดขายได้เฉลี่ย 300,000 บาทต่อเดือน ก็เพียงพอแล้ว
ต่อไปนี้เราก็ลองท้าทายตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายใหม่ เป็นต่อไปนี้จะต้องได้ยอดขาย 600,000 บาทต่อเดือน
แล้วลองให้รางวัลกับตัวเองเมื่อทำสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกตัวเองเอาไว้ว่า อาการเบื่องานไม่ใช่สิ่งที่ผิด หรือเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป
เพราะถ้าไม่มีความเบื่อหน่าย เราอาจจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
และค้นพบความพยายาม แนวคิด หรือความท้าทายครั้งต่อไปของเราได้หรือยัง..
References
-https://www.forbes.com/sites/alizaknox/2021/10/30/leverage-employees-new-power-to-love-your-work-more-heres-how/?sh=2a852b822d0e
-https://www.forbes.com/sites/davidsturt/2018/05/24/bored-at-work-science-says-thats-a-good-thing/?sh=5a0f1b184c91
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.