Tall Poppy Syndrome ค่านิยมที่บอกว่า ทำตัวเด่นไป จะเป็นภัยต่อตัวเอง

Tall Poppy Syndrome ค่านิยมที่บอกว่า ทำตัวเด่นไป จะเป็นภัยต่อตัวเอง

6 ต.ค. 2021
Tall Poppy Syndrome ค่านิยมที่บอกว่า ทำตัวเด่นไป จะเป็นภัยต่อตัวเอง | THE BRIEFCASE
“จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย” นี่คงเป็นหนึ่งค่านิยม ที่ถูกถ่ายทอดกันมา รุ่นสู่รุ่น
ค่านิยมนี้ พูดถึงเรื่องของการ ไม่ให้ทำตัวเด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่น
มิเช่นนั้นจะมีภัยมาสู่ตัวเอง เช่น ถูกหมั่นไส้ โดนนินทา
และเมื่อคนที่ทำดีจนเด่น โดนบ่อย ๆ เข้า
ก็อาจเป็นการบั่นทอนความตั้งใจ ให้เลิกทำดีไปในที่สุดเลยก็เป็นได้
ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยของเราเท่านั้น
เพราะในต่างประเทศก็มีค่านิยมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า Tall Poppy Syndrome
แล้ว Tall Poppy Syndrome คืออะไร ?
Tall Poppy Syndrome คือ ค่านิยมที่แพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เปรียบเปรยถึง ดอกป๊อปปี้ในสวนกว้าง
โดยเปรียบเทียบว่า ดอกป๊อปปี้ในสวน ควรเติบโตด้วยความสูงและความเร็วเท่า ๆ กัน หากมีดอกไหนที่สูงกว่าดอกอื่น ๆ หรือโตเร็วกว่าดอกอื่น ๆ ก็จะถูกตัดให้สั้นลง เพื่อรักษาความสูงของดอกไม้ทั้งหมด ให้สม่ำเสมอกัน
เมื่อเวลาผ่านไป คำนี้ก็กลายเป็นคำแสลงที่นำไปใช้กับผู้คน
โดยคำว่า Tall Poppy Syndrome จึงหมายถึงการ “ตัด” หรือ “กำจัด” ผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือโดดเด่นกว่าคนอื่น ให้ออกไปจากคนที่ร้อนรนทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นเก่งกว่า ดีกว่า หรือเด่นกว่าตัวเอง
ซึ่งวิธีการกำจัดคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่นก็มีหลายวิธี เช่น การใช้คำพูดที่ไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา การไม่คบค้าสมาคมด้วย หรือกรณีร้ายแรงก็คือ การทำลายผลงาน และใส่ร้ายป้ายสีความผิดให้เขา
ซึ่งเรื่องแบบนี้หลาย ๆ คนก็คงประสบพบเจอมาตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน
ทีนี้เรามาลองดูกันว่า ค่านิยมแบบนี้ ส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างไรบ้าง ?
มีงานวิจัย The Tallest Poppy ในปี 2018
โดยเป็นการศึกษาของ ดร. Rumeet Billan ร่วมมือกับ Thomson Reuters และ Women of Influence ได้สำรวจกลุ่มอาการ “Tall Poppy” และผลกระทบต่อผู้หญิงชาวแคนาดาในที่ทำงาน
ซึ่ง Tall Poppy Syndrome (TPS) เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในออสเตรเลีย
หมายถึงความคาดหวังว่าดอกป๊อปปี้จะเติบโตไปด้วยกัน และหากดอกป๊อปปี้ดอกไหนสูงเกินไป
ก็จะถูกลดขนาดให้เล็กลง
โดยงานวิจัยนั้นได้ทำการสำรวจว่า ผู้หญิงที่เป็นเหมือนดอกป๊อปปี้ที่สูง คือทำงานได้อย่างโดดเด่น จะถูกตัดขาดจากความสำเร็จหรือไม่
จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,501 คน ที่มาจากหลากหลายองค์กรและอุตสาหกรรมที่ต่างกัน
มีจำนวน 87.3% ระบุว่าความสำเร็จในการทำงานของพวกเขาถูกเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาบ่อนทำลาย และอีกกว่า 81% กล่าวว่า พวกเขาถูกเกลียดชังหรือถูกลงโทษเนื่องจากความสำเร็จของพวกเขา
นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามก็เห็นพ้องกันว่า วัฒนธรรมองค์กรแบบ ตัดแข้งตัดขาคนที่โดดเด่น
ทำให้สถานที่ทำงานไม่น่าอยู่
เช่น ไม่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงาน รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งในที่ทำงาน และมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
และเมื่อคนที่ทำผลงานได้ดี ถูกวัฒนธรรมแบบตัดแข้งตัดขาเล่นงานบ่อย ๆ สุดท้ายจากคนที่เคยมั่นใจในตัวเองก็เริ่มสูญเสียความมั่นใจ และส่งผลเสียในด้านอื่น ๆ ตามมา
เช่น
- ไม่กล้าแสดงความสำเร็จ หรือไม่กล้าแบ่งปันความสำเร็จของตัวเองกับคนอื่น
- การรับรู้คุณค่าในตัวเอง หรือ Self-Esteem ต่ำลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหามากมาย เช่น การถอนตัวในโปรเจกต์สำคัญ เกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเอง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
สุดท้ายนี้ หลาย ๆ คนในองค์กร มักกลัวพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่นกว่าตัวเอง
เพราะกลัวว่าวันหนึ่งเราจะถูกแทนที่ หรือพนักงานเหล่านั้นจะเป็นเสี้ยนหนามขวางความสำเร็จของเรา
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ จะเป็นองค์กรที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้จริงหรือ
แทนที่จะมี Mindset ว่าต้องตัดดอกป๊อปปี้ที่สูงเด่นเหล่านั้นลงมาให้เท่า ๆ ดอกอื่น
ลองเปลี่ยน Mindset องค์กรกันใหม่เป็น
“ทำอย่างไร ให้ดอกอื่น ๆ เติบโตสูงขึ้น จนเท่าดอกที่โดดเด่นอยู่ตอนนี้..”
References
-https://www.hcamag.com/au/news/general/tall-poppy-syndrome-the-office-trend-killing-morale/168793
-https://www.insperity.com/blog/tall-poppy-syndrome/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.