เผยโฉม! แพ็กเกจจิ้งสุดสร้างสรรค์เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ผลงานเด็ก Gen Z จากงาน SCGP Packaging Speak Out 2024

เผยโฉม! แพ็กเกจจิ้งสุดสร้างสรรค์เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ผลงานเด็ก Gen Z จากงาน SCGP Packaging Speak Out 2024

25 พ.ย. 2024
จบไปแล้วกับงานแข่งขัน SCGP Packaging Speak Out 2024 ครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นโดย SCGP หรือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์รุ่นใหม่ 
ซึ่งในปีนี้ได้มีการชวนคนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศมาร่วมส่งเสียงเปลี่ยนโลก ด้วยไอเดียสร้างสรรค์และพัฒนาแบรนด์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในโจทย์ "Reduce - Reuse - Recycle" ภายใต้แนวคิด "Packaging For A Brighter Tomorrow" และในครั้งนี้มีนิสิตนักศึกษาสนใจร่วมตบเท้าเข้าสู่สนามแข่งขันกว่า 278 ทีม จนคัดเลือกเหลือ 15 ทีมสุดท้าย และได้มีการประกาศผลรางวัลรอบไฟนอลไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา 
ต้องบอกก่อนเลยว่าผลงานทุก ๆ ผลงานนั้นน่าประทับใจมากเลยทีเดียว น้อง ๆ นักศึกษาแต่ละทีมนั้นมีความสามารถโดดเด่น ทั้งทางด้านความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ การออกแบบ และการวางกลยุทธ์การตลาด เรียกได้ว่ากินกันไม่ลงจริง ๆ !
ว่าแล้วเรามาดูผลงานของน้อง ๆ 9 ทีม ที่ได้รับรางวัล The Best of Challenge, Silver Star Award,  Bronze Star Award และ Honorable Mentions กันดีกว่าว่าจะเจ๋งแค่ไหน
รางวัล The Best of Challenge
เริ่มที่รางวัลชนะเลิศกับ ผลงาน "ฝากรักจากใจ ส้มสายน้ำผึ้ง" แบรนด์ของฝากจากทีม Honey Queen ซึ่งประกอบด้วยนริศรา จันดาลี และเพทาย เทพเนาว์ จากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
ทางทีมได้หยิบเทรนด์การให้กระเช้าผลไม้ มาตอบโจทย์ปัญหาในการทำสวนส้มสายน้ำผึ้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่ต้องพบเจอกับความเสียหายจากการขนส่งและการกดราคา จึงเกิดเป็นไอเดียเพิ่มมูลค่าสู่การเป็นของฝากมงคล 
โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม มาพร้อมฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การส่งมอบเป็นของขวัญ เช่น สามารถสแกน QR Code เพื่อเล่นจิ๊กซอว์สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ สามารถพับสายกล่องเป็นหูหิ้ว เพื่อแบ่งให้ผู้อื่นต่อได้ และเลือกใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ลดการใช้พลาสติก และนำมารียูสได้ เจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายคนที่ชอบทานส้มหรือต้องการซื้อไปฝากญาติผู้ใหญ่ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นยอดขายและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรเชียงใหม่แล้ว ยังส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
รางวัล Silver Star Award
ผลงาน "AnyWhereWithMe" แบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายจากทีม AnyWherewithme ซึ่งประกอบด้วยเบญจภรณ์ เอกพจน์, สรวีย์ ญาธนิญกรณ์ และฐิติวรดา โชควัชระไพศาล จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งได้หยิบโจทย์ไลฟ์สไตล์เร่งรีบของคนเมืองที่ต้องพบเจอสิ่งสกปรกในทุกที่ ๆ จับกับเทรนด์สุขภาพ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย AnyWherewithme ขึ้นมา
โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อการใช้งานและสิ่งแวดล้อม สามารถประกอบเข้าด้วยกันและถอดออกได้ จับถนัด เพื่อความสะดวกในการพกพา อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุ HDPE และ PP ที่สามารถรีไซเคิลได้ ลดการสร้างขยะ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เน้นเจาะตลาดทั้ง B2C และ B2B อย่างธุรกิจฟิตเนส
รางวัล Bronze Star Award 
1. ผลงาน "บริกศ์" แบรนด์น้ำดื่มจากทีม Brix ซึ่งประกอบด้วยปภังกร โล่ห์เพชรัตน์ และภวิศ ติยะวัชรพงศ์ จาก Chulalongkorn School of Integrated Innovation และปราณปริยา ธรรมประทานกุล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ทางทีมได้มองเห็นปัญหาขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติก จึงนำปัญหานี้มาแก้ไขด้วยการออกแบบขวดน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้ฉลากกระดาษ พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ถั่วเหลือง และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ อีกทั้งยังออกแบบรูปทรงของขวดให้สามารถนำมาประกอบกันกลายเป็นอุปกรณ์อย่างโต๊ะ เก้าอี้ที่มีความแข็งแรงและใช้งานได้จริง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขวดน้ำที่ดื่มแล้วและช่วยลดขยะได้ มาพร้อมการตลาด Partnership เพื่อส่งเสริม CSR
2. ผลงาน "ชโลม" แบรนด์ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมจากทีม GRAND the one and only ซึ่งประกอบด้วยรัชดาภรณ์ กมลช่วง, วิจิตรา บรรณารักษ์ และปวีณา จันสว่าง จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ซึ่งได้มองเห็นปัญหาความยุ่งยากในการย้อมผมและปัญหาขยะจากอุปกรณ์ย้อมผม บวกกับศักยภาพของตลาดผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเติบโตเรื่อย ๆ นำมาสู่ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมสูตรออร์แกนิคจากสมุนไพรจากเกษตรกรไทย โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้เป็นที่ผสมครีมย้อมผมได้ในตัว ผลิตจากกระดาษคราฟท์เคลือบ PLA และใช้หมึกพิมพ์ถั่วเหลือง ซึ่งย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาพร้อมกลยุทธ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับบอกเล่าสตอรี่การนำผลผลิตเกษตรกรไทยมาใช้เป็นส่วนผสม
3. ผลงาน "บีบเบิ้ล" จากทีม Rocket WBD ซึ่งประกอบด้วยชนทัต บัวเพชร, พรปรียา อมรประภาธีรกุล และยุทธพิชัย โฉลกดี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยาสีฟันเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันในทุกวันและมักจะทิ้งทันที ก่อให้เกิดขยะจากกล่องยาสีฟันจำนวนมาก ซึ่งทางทีมได้หยิบปัญหานี้มาแก้โดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่กล่องบรรจุภัณฑ์สามารถใช้ช่วยบีบยาสีฟันได้ เพื่อให้ใช้ยาสีฟันได้หมดและใช้กล่องได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุกระดาษรีไซเคิลซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตีตลาดคน Gen Z โดยสื่อสารการตลาดผ่านคอนเทนต์ชาเลนจ์ในโซเชียลมีเดีย
รางวัล Honorable Mentions 
1. ผลงาน "SaiJai" จากทีม SaiJai ซึ่งประกอบด้วยธัชปภา เมธากิตติภพ, วาดฝัน จินต์วุฒิ และสรรญสรส บุญวรรณ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้หยิบโจทย์ปัญหาอุตสาหกรรม Fast Fashion ซึ่งมีการใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการผลิต มาใช้สร้างสรรค์แบรนด์ Eco-Clothing เจาะตลาดกลุ่มเป้าหมาย Gen Z ที่มีแนวโน้มในการใช้จ่ายกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ มาพร้อมกับกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษลูกฟูกรีไซเคิลได้และสามารถพับเป็นไม้แขวนเสื้อเพื่อใช้งานต่อได้ มีการวางกลยุทธ์การสื่อสารสตอรี่เกี่ยวกับการเติมน้ำสะอาดคืนให้กับโลก สนับสนุนแนวทางการผลิตที่ยั่งยืนและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ
2. ผลงาน "3 ALL Packaging จากแบรนด์ SASU" จากทีม Selakhun โดยศรุตา เสลาคุณ จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
เจ้าของไอเดียบรรจุภัณฑ์อาหารเดลิเวอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ธุรกิจร้านอาหาร โดยออกแบบกล่องใส่อาหารจากวัสดุพลาสติก PP ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้และมีฟังก์ชันครบ จบ ในกล่องเดียว ไม่ทำให้หกเลอะ และสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ ตอบโจทย์ทั้งการขนส่งและการใช้งาน เพื่อความสะดวกและลดการใช้พลาสติกเกินความจำเป็น
3. ผลงาน "ชาชง" จากทีม  Star stuff02 ซึ่งประกอบด้วยขวัญแก้ว อยู่ชมวงษ์, อภัสรา คล้ายรักษ์ และสุธาสินี สวัสดี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ได้หยิบชาของเกษตรกรไทยมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาสูตรต้นตำหรับ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุ PP ที่รีไซเคิลได้ และมีดีไซน์ 2 in 1 สามารถเป็นได้ทั้งขวดและนำมารียูสกลายเป็นแก้ว ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะจากขวดพลาสติกเครื่องดื่ม และทำการสื่อสารการตลาดผ่าน Online และ Offline ร่วมกับการทำโปรโมชัน หวังเจาะตลาดทั้ง B2C และ B2B
4. ผลงาน "Smit" จากทีม tims ซึ่งประกอบด้วยภาสินี เกียรติเสริมสกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปารย์ฝัน เทียนบุญ และปุณิกา อจละนันท์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ได้มองเห็นปัญหาขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เครื่องปรุงรส จึงนำปัญหานี้มาแก้โดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส eco-friendly เจาะกลุ่มเป้าหมายคนทำอาหารที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเลือกใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรไทยและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก Bioplastic ซึ่งใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปและสามารถรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ตัวกล่องยังสามารถพับเพื่อใช้เป็นชั้นวางเครื่องปรุงได้ อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ขวดก็สามารถแปลงร่างเป็นแจกันจิ๋ว เพื่อรียูสใส่ของใช้ต่าง ๆ ได้ ทั้งยังมีแคมเปญในการเก็บขวดมาแลกส่วนลด เพื่อกระตุ้นการซื้อซ้ำ
Tag:SCGP
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.