สรุปแบรนด์ Warrix จากโรงงานทอผ้า สู่แบรนด์สินค้ากีฬา 3,000 ล้าน | BrandCase

สรุปแบรนด์ Warrix จากโรงงานทอผ้า สู่แบรนด์สินค้ากีฬา 3,000 ล้าน | BrandCase

11 ก.ค. 2024
Warrix คือแบรนด์ชุดและอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทย มีสินค้ายอดฮิตอย่าง เสื้อฟุตบอลทีมชาติ เสื้อฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ หรือชุดกีฬาออกกำลังกายพื้น ๆ 
โดยสินค้าบางไอเทมของ Warrix ขายดีมาก จนมียอดขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นแสน ๆ ชิ้นเลย
จากจุดเริ่มต้นของ Warrix ที่เริ่มจากโรงงานทอผ้า
มาวันนี้ เป็นแบรนด์ไทยในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าราว ๆ 3,000 ล้านบาท
มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ Warrix เริ่มจาก คุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล 
เขาเรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และด้วยความที่เขาชอบงาน ด้านการตลาดและการขายอยู่แล้ว จึงทำให้หลังจากเรียนจบ เขาจึงเลือกทำงานในสายงานการตลาด
โดยเขาได้ทำงานที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG เป็นเวลา 3 ปี
และ บริษัท นันยาง เท็กซ์ไทล์ จำกัด เจ้าของรองเท้าแบรนด์นันยาง เป็นเวลาอีก 3 ปี
จากประสบการณ์ทำงานทั้ง 2 ที่ ทำให้เขาเริ่มมองเห็นตลาดในภาพกว้าง
ว่าธุรกิจโรงงานผลิตเสื้อผ้า น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้ามีนวัตกรรมการทอผ้าที่ดีพอ ที่จะทำให้เสื้อผ้าที่ทำออกมานั้นมีคุณภาพสูง
ประกอบกับตัวเขาเอง ก็มีความรู้เกี่ยวกับการถักทอเสื้อผ้าอยู่บ้าง จากธุรกิจครอบครัวของเขา
ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน มาทำธุรกิจโรงงานรับจ้างผลิตเสื้อผ้าอย่างเต็มตัว
โดยตั้งเป็น บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด 
ด้วยความที่โรงงานของเขา เป็นโรงงานเล็ก ๆ 
ซึ่งถ้าจะรับออร์เดอร์ผลิตเสื้อผ้า ในปริมาณมาก ๆ แล้วสู้ราคาแข่งกับคนอื่น ก็อาจจะทำไม่ไหว
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าพรีเมียม ที่ยังมีคู่แข่งในตลาดน้อย โดยเน้นรับออร์เดอร์ผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูง ในปริมาณที่ไม่มากแทน
จนกระทั่งธุรกิจโรงงานทอผ้า เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถสะสมทุนทรัพย์ แล้วเข้าซื้อกิจการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด 
เจ้าของเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ Warrix ต่อจาก คุณณัฐธนนท์ วงศ์ปฏิปทานนท์ มาได้ในปี 2557  
โดยช่วงแรก Warrix ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้ากีฬา ให้กับทีมสโมสรฟุตบอลของไทยตามต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค
ซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็คือ ในปี 2559  
Warrix สามารถชนะการประมูลลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งขันทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ในช่วงระหว่างปี 2560-2563 โดยมีมูลค่าการประมูล 400 ล้านบาท 
ด้วยมูลค่าเท่านี้ สูงกว่ามูลค่าที่ Grand Sport เคยประมูลไว้เมื่อคราวก่อนถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนี้ Warrix ก็ชนะการประมูลลิขสิทธิ์ ผู้ผลิตชุดแข่งขันให้กับทีมฟุตบอลทีมชาติไทยรอบ 2 ในช่วงระหว่างปี 2564-2571 อีกด้วย
แต่ต้องบอกว่า นอกจากชุดแข่งแล้ว Warrix ยังได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าและสินค้าอื่น ๆ เพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก สำหรับแฟนบอลทีมชาติไทยแต่เพียงผู้เดียว ถึงปี 2571 อีกด้วย
ซึ่งนอกจากเสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาที่มีลิขสิทธิ์สโมสรฟุตบอล และทีมชาติแล้ว 
แบรนด์ Warrix เองก็ยังได้ขยายไลน์สินค้าของแบรนด์ ไปยังสินค้าอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- สินค้าคอลเลกชัน (Collection) หรือสินค้าไลฟ์สไตล์ อย่างเช่น รองเท้า เสื้อกีฬา เสื้อโปโล กางเกงกีฬา หรือเสื้อแจ็กเก็ต
ที่ออกแบบตามความนิยมในช่วงนั้น ๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แฟชั่น หรือเปลี่ยนไปตามฤดูกาล 
โดยสินค้าประเภทนี้ จะมีหลายคอลเลกชัน 
อย่างเช่น
Sport Collection หรือ คอลเลกชันชุดกีฬา
Training Collection หรือ คอลเลกชันชุดออกกำลังกาย หรือ ชุดเทรนนิง
Polo Collection หรือ คอลเลกชันชุดโปโล ที่ผลิตจากเนื้อผ้าเกรดพรีเมียม
- สินค้าคลาสสิก (Classic) คือเสื้อผ้าหรือชุดกีฬา ที่ใส่ได้ในทุกโอกาส โดยไม่เน้นแฟชั่นมากนัก
สินค้าประเภทนี้ จะเน้นความเรียบง่าย คงความนิยม และมีการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง
โดยสินค้าแบบ Classic จะเน้นการขายแบบ Wholesale หรือขายส่งให้กับร้านค้าต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- สินค้าทำตามสั่ง (Made to Order) คือสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อ อิเวนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ
เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอน ไปจนถึงเสื้อสั่งทำให้กับหน่วยงานราชการ หรือบริษัทต่าง ๆ
- สินค้าลิขสิทธิ์อื่น ๆ อย่างชุดกีฬาสำหรับโรงเรียน สถานศึกษา
เช่น ชุดแข่งขันกีฬาจตุรมิตร หรือชุดกีฬาแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์
- สินค้าอื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริม เช่น กระเป๋า หมวก และอุปกรณ์ออกกำลังกายต่าง ๆ
ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ของ Warrix นั้น จะถูกจัดจำหน่าย ผ่านช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- ผ่านร้านค้าอุปกรณ์กีฬาทั่วไป โดย Warrix ส่งเสื้อผ้าไปขายผ่านร้านค้าอุปกรณ์กีฬาทั่วประเทศมากกว่า 270 ร้านค้า
- ผ่านร้าน Modern Trade เช่น ห้างสรรพสินค้า และร้านขายสินค้ากีฬาอย่าง Supersports
- ผ่านช็อปในศูนย์การค้า ซึ่งปัจจุบัน Warrix มีช็อปอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศ
- ผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าง Shopee, Lazada และ TikTok Shop
ซึ่งที่น่าสนใจคือ สินค้าบางไอเทมของแบรนด์ Warrix เช่น เสื้อบอลทีมชาติไทย สามารถทำยอดขายได้หลายหมื่นชิ้นหรือกางเกงวิ่ง ก็สามารถทำยอดขายได้เป็นแสนชิ้นเลยทีเดียว..
ต่อมา เมื่อแบรนด์ Warrix ได้รับผลตอบรับดี
คุณวิศัลย์ ก็ได้นำ Warrix เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2565
เพื่อนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจ ปรับปรุงระบบการขายหลังบ้าน และพัฒนานวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ
ทีนี้ เราไปดูรายได้ของ Warrix กันบ้าง
บมจ. วอริกซ์ สปอร์ต
ปี 2565 มีรายได้ 1,069 ล้านบาท กำไร 128 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 1,237 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท
และไตรมาสแรกของปี 2567 มีรายได้ 336 ล้านบาท กำไร 20 ล้านบาท
โดยรายได้ของ Warrix ในปี 2566 ทุก ๆ 100 บาท มาจาก
- สินค้าคลาสสิก 31 บาท
- สินค้าคอลเลกชัน 25 บาท
- สินค้าทำตามสั่ง หรือ Made to Order 22 บาท
- สินค้าฟุตบอลทีมชาติ 15 บาท
- สินค้าสโมสรฟุตบอล 2 บาท
- สินค้าอื่น ๆ เช่น ชุดกีฬาสำหรับโรงเรียน คลินิกกายภาพ 5 บาท
จะเห็นว่ารายได้ของ Warrix มากกว่าครึ่งหนึ่ง มาจากสินค้าคลาสสิกและสินค้าคอลเลกชัน ที่ไม่ได้ติดชื่อทีมกีฬา หรือสโมสรใด ๆ
ทีนี้ เราลองไปดูรายได้ โดยแบ่งตามช่องทางการขายบ้าง 
รายได้ของ Warrix ทุก ๆ 100 บาท จะมาจาก
- งานโครงการ (Project Base) คือ งานที่ผลิตเสื้อผ้า ให้กับองค์กร โรงเรียน หรืองานอิเวนต์ต่าง ๆ 30 บาท
- ร้านค้าอุปกรณ์กีฬาทั่วไป ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด 26 บาท
- ขายผ่านช่องทางออนไลน์ 14 บาท
- ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ 12 บาท
- ร้านช็อปแบรนด์ Warrix ตามศูนย์การค้า 6 บาท
- รายได้อื่น ๆ 12 บาท
ซึ่งในตอนนี้ คุณวิศัลย์ เจ้าของแบรนด์ Warrix เองก็มีแผนในการขยายธุรกิจหลายทางด้วยกัน เริ่มตั้งแต่
1. เน้นสร้าง Brand Awareness ผ่านการขายสินค้าที่ติด License หรือ 
สินค้าที่ติดลิขสิทธิ์ของทีมกีฬาต่าง ๆ เช่น ทีมชาติ หรือสโมสรฟุตบอล 
เพื่อให้คนได้รับรู้ ว่ามีโลโกแบรนด์ Warrix อยู่หลังเสื้อทีมชาติ หรือเสื้อสโมสรกีฬาต่าง ๆ
2. เน้นขยายร้านช็อป Warrix ไปในศูนย์การค้าตามต่างจังหวัดหัวเมือง ทั่วประเทศ
3. เน้นขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
- ขยายไปในประเทศสิงคโปร์ โดย Warrix ได้ซื้อกิจการ Premier Football 
ร้านค้าปลีกสินค้าฟุตบอลในสิงค์โปร์ ด้วยมูลค่า 22 ล้านบาท
- ขยายไปในประเทศจีน โดย Warrix ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ 
นั่นคือ ร้าน HIMAXX ห้างสรรพสินค้าเอาต์เล็ตชื่อดังในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 
ที่มีสาขาอยู่มากกว่า 20 สาขา
นอกจาก การสร้าง Brand Awareness ขยายสาขาช็อปใหม่ ๆ และขยายตลาดไปในต่างประเทศแล้ว
Warrix ก็ยังเน้นในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมการผลิต เพื่อให้เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาที่ผลิตออกมา มีคุณภาพสูง ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงอีกด้วย
ด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ ทำให้คุณวิศัลย์ เจ้าของแบรนด์ Warrix ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะมีรายได้ทั้งหมด 2,700 ล้านภายในปี 2569
ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่า ในอนาคตแบรนด์ Warrix จะมีรายได้เติบโต
และแบรนด์ Warrix จะสามารถตีตลาดในต่างประเทศได้หรือไม่ 
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวของแบรนด์เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทย
จากเดิมที่เปิดโรงงานทอผ้ารับจ้างผลิต สู่การปั้นแบรนด์ของตัวเองอย่าง Warrix ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ 
มาจนวันนี้ แบรนด์ Warrix ได้กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬา
ที่มีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท..
References
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.วอริกซ์ สปอร์ต หรือ Warrix
Tag:Warrix
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.