สรุปอินไซต์ จากโรงงาน อิชิตัน กรีนแฟคทอรี ที่เกิดขึ้นเพราะ น้ำท่วมปี 2554

สรุปอินไซต์ จากโรงงาน อิชิตัน กรีนแฟคทอรี ที่เกิดขึ้นเพราะ น้ำท่วมปี 2554

12 มิ.ย. 2024
“หลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย ปี 2554 ผมก็เข้าใจถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง” คือ ประโยคที่คุณตัน อิชิตัน กล่าวไว้
และจากเหตุการณ์น้ำท่วมในวันนั้น ได้กลายเป็นโรงงานอิชิตัน กรีนแฟคทอรี โรงงานใหม่ของอิชิตันที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่ผู้ประกอบการเจ้าหนึ่งจะทำได้
ปัจจุบันสินค้ากลุ่มแรกของอิชิตันที่เป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% คือ อิชิตันกรีนที 500 มล. และชิซึโอกะกรีนที 440 มล.
และในเดือนหน้า อิชิตันจะเริ่มใช้พลาสติกรีไซเคิล 30% แทนการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตขวด
ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 175 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าเครื่องดื่มอิชิตันถึง 10 ล้านขวด
นอกจากเรื่องนี้แล้ว มีอะไรน่าสนใจที่โรงงานอิชิตัน กรีนแฟคทอรีทำเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้าง?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ 
- อย่างแรกที่อิชิตันทำ คือการลงทุนซื้อเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ที่มีระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อที่คงคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ใช้พลาสติกน้อยกว่าเครื่องจักรรุ่นเก่า
จากเดิมที่เคยใช้พลาสติกปริมาณ 26 กรัมต่อการผลิตอิชิตัน 1 ขวด 
ปัจจุบันก็ลดปริมาณการใช้พลาสติกลงเหลือเพียง 17.5 กรัมต่อ 1 ขวดแทน 
เท่ากับว่าใน 1 ปี อิชิตันจะสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ได้มากถึง 7,000 ตัน 
หรือเทียบเท่าขวดอิชิตันปริมาณ 400,000,000 ขวด ต่อปี
- ต่อมาคือการนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% เพื่อให้ขยะที่เกิดจากสินค้าของอิชิตันพร้อมสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งขวด ฝาปิด ฉลาก รวมถึงลังกระดาษที่ใช้แพ็กสินค้า
ซึ่งสินค้ากลุ่มแรกที่เป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% คือ อิชิตันกรีนที 500 มล. และชิซึโอกะกรีนที 440 มล.
โดยในปี 2567 อิชิตันสามารถพัฒนาขวดพลาสติกรีไซเคิลแปรสภาพใหม่ได้สำเร็จ หรือที่เรียกว่า ขวด rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขวดพลาสติกที่ได้จากการนำขวด PET ที่ใช้แล้วมารีไซเคิลและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง 
โดยกระบวนการนี้จะทำให้ขวด rPET มีความสะอาดและปลอดภัยเหมือนขวดพลาสติกทั่วไป แถมยังช่วยให้ขวด PET เก่าสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่กลายเป็นขยะไปสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังได้ประกาศอีกว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ สินค้าของอิชิตันจะใช้พลาสติกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ rPET ในสัดส่วน 30%
ซึ่งจะช่วยให้อิชิตันสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตขวดได้ถึง 175 ตันต่อปี เทียบเท่าเครื่องดื่มอิชิตันถึง 10 ล้านขวด
พร้อมตั้งเป้าหมาย ปรับผลิตภัณฑ์เป็นขวด rPET ทั้งหมด 100% ภายในปี 2569
โดยหากอ้างอิงจากปริมาณการผลิตสินค้าของอิชิตันในปีที่ผ่านมา ที่มีการผลิตราว 1,065 ล้านขวด และหากเราคิดปริมาณพลาสติกที่ 17.5 กรัมต่อขวด
เท่ากับว่าบริษัทสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ ผ่านการใช้ขวด rPET มากถึง 18,640 ตันต่อปีเลยทีเดียว
- โรงงานอิชิตันหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ด้วยการติดตั้งแผ่นโซลาร์รูฟขนาด 4,383 เมกะวัตต์ (MWp) บนพื้นที่ของหลังคาโรงงานขนาด 35,592 ตรารางเมตร
ทำให้ในปี 2566 บริษัทสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนได้มากถึง 5,830,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 1,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 108,300 ต้น
- ใช้น้ำให้คุ้ม ประหยัดน้ำมากขึ้น และลดการใช้น้ำให้น้อยลง ด้วยการใช้ระบบ Boiler ในการนำไอน้ำไปใช้กับส่วนต่าง ๆ
เช่น ไอน้ำที่ใช้ในระบบการผลิต จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ แล้วหมุนเวียนกลับสู่ Boiler เพื่อผลิตเป็นไอน้ำใหม่อีกครั้ง
โดยจากกระบวนการดังกล่าวสามารถลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้ถึง 58,400 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่าปริมาณน้ำ 23 สระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก
และทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งที่อิชิตันได้ทำเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของบริษัท ที่ต้องการจะเป็น Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 
ซึ่งหมายถึง การลด ชดเชย หรือดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เท่ากับปริมาณที่ปล่อยออกมา 
รวมทั้งเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากเท่าที่ทำได้ เพราะบริษัทได้เข้าใจถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนจากประสบการณ์จริงเมื่อปี 2554
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัย ว่าการลงทุนซื้อเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเปลี่ยนไลน์ผลิตให้สามารถใช้วัสดุรีไซเคิลได้ จะส่งผลต่อต้นทุนและกำไรของอิชิตันมากน้อยแค่ไหน ? 
โดยคุณตัน ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า 
“ถึงแม้เครื่องจักร วัตถุดิบ ราคาจะเพิ่มสูงขึ้น และได้กำไรน้อยลง แต่เพื่อรักษาโลกเอาไว้ให้ลูกหลานใช้ ก็ยอม
และในมุมมองของคุณตัน ก็มองว่าเมื่อมีคนใช้สินค้ารีไซเคิลมากขึ้น กำลังความต้องการทั้งฝั่งโรงงานและฝั่งผู้บริโภคมากขึ้น จนเกิด Economies of Scale ต้นทุนก็จะค่อย ๆ ถูกลงเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา..”
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อิชิตันอยากจะส่งสารไปถึงผู้บริโภคจริง ๆ คือ ตอนนี้โลกของเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับเรื่องโลกเดือด
ซึ่งมีตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสเป็น “จุดเปลี่ยนหลัก” ที่หากโลกของเรามีอุณหภูมิสูงกว่านี้ ธรรมชาติจะอยู่ในสภาพเกินรับไหวจนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก 
โดยเราจะเรียกจุดนี้ว่า จุดที่ไม่อาจหวนกลับ (Point of no return) ซึ่งหากพวกเรายังปล่อยปละละเลยเรื่องนี้กันอยู่ ก็จะนำไปสู่จุดที่ไม่อาจหวนกลับจริง ๆ 
และเมื่อถึงเวลานั้นมันก็อาจไม่มีโลก ให้เราหันกลับมารักษ์อีกต่อไปเสียแล้ว..
ดังนั้น หากเป็นไปได้ อิชิตันก็อยากให้ผู้บริโภคหันมาตระหนักถึงผลกระทบของเรื่องนี้ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 
เพื่อกดดันให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงให้ผลิตภัณฑ์ กระบวนการทำงาน หรือกระบวนการผลิตของตนเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เรายังมีโลกใบนี้ส่งให้ลูกหลานในอนาคตต่อไปได้นั่นเอง..
References
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
-ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.