สรุปเคล็ด (ไม่) ลับ สร้างตัวตนให้เป็น เพิ่มยอดขายให้ปัง จากงาน “SME x Influencer” 

สรุปเคล็ด (ไม่) ลับ สร้างตัวตนให้เป็น เพิ่มยอดขายให้ปัง จากงาน “SME x Influencer” 

17 พ.ค. 2024
ซีพี ออลล์ x BrandCase
ทางลัดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้ มีอยู่มากมายก็จริง
แต่หนึ่งในเคล็ดลับที่ใคร ๆ ก็ทำตามได้ไม่ยาก คือ การสร้างตัวตนให้กับแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจ 
เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์
งานนี้ สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า แล้วการสร้างตัวตนที่ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ?
ที่สำคัญ จะเป็นอาวุธลับที่มาช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างไร ?
BrandCase ชวนไปหาคำตอบในงาน​ “SME x Influencer” SME NewGen สร้างตัวตนให้เป็น ยอดขายก็ปัง 
ซึ่งซีพี ออลล์ ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และ สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย จัดขึ้น 
ภายในงานจะมีอินไซต์ และเคล็ดลับอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เริ่มจากคุณแอ๊ม - ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต เจ้าของช่อง “การตลาดการเตลิด” ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ว่า 
ในยุค Age of choice ที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย
การสร้างแบรนด์ หรือ การสร้างภาพจำที่สามารถร้องอ๋อได้ทันที เมื่อไถหน้าจอผ่านในเฟซบุ๊ก, ได้ยินเพื่อนคุยกัน หรือเมื่อจะใช้งานจะนึกถึงแบรนด์ของเราเป็นอันดับแรก ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
อย่างไรก็ตาม​ การสร้างแบรนด์​ เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต 
นอกจากจะต้องใช้เวลา และยังไม่ได้สร้างยอดขายโดยตรง แตกต่างกับการทำการตลาด
แต่ในระยะยาวการสร้างแบรนด์ กลับให้ประโยชน์มากมาย อาทิ 
- การนำแบรนด์หรือตัวเราไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ของโอกาส 
เช่น สินค้าที่มีแบรนด์โดดเด่นกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีสินค้าคล้าย ๆ กัน ก็มีโอกาสจะได้เข้าไปวางขายใน 7-Eleven มากกว่า
- ช่วยประหยัดงบในการทำการตลาด ทำให้สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น ในเวลาที่สั้นลง
- การสร้างแบรนด์ ช่วยให้เจ้าของแบรนด์นอนหลับ 
เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความโดดเด่นจากคู่แข่ง ยังช่วยคลายกังวล อย่างน้อย ถ้ามีใครจะมาก๊อปสินค้า ก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบตัวตนของแบรนด์ได้
ยกตัวอย่าง ตลาดครีมซองที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด เมื่อไหร่ก็ตามที่แบรนด์ไหนก็ตามสามารถสร้างตัวตน จนลูกค้าจดจำ 
ต่อให้จะมีสินค้าให้เลือกมากแค่ไหน ลูกค้าก็จะเลือกแบรนด์ที่ชอบเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อาจจะทุนน้อย ไม่ได้มีงบการตลาดหรือสร้างแบรนด์มากนัก 
ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะยุคนี้ มีโซเชียลมีเดียมากมาย ที่พร้อมเป็นประตูแห่งโอกาส
คุณแอ๊มแนะนำให้เริ่มต้นจากแพลตฟอร์มที่ชอบหรือใช้เก่งก่อน จากนั้น ค่อยขยายไปช่องทางที่อยู่ในกระแส
คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างของ SME และ Influencer ที่สร้างแบรนด์และตัวตน (Personal Branding) จนปั้นยอดขายได้ปัง
เริ่มจากคุณนิค - พลากร​ เชาวน์​ประดิษฐ์ 
เจ้าของแบรนด์ จอลลี่ แบร์ ขนมเยลลีหมี ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี
คุณนิค บอกว่า การจะปั้นแบรนด์ให้สำเร็จ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น เริ่มต้นจากการหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ
อย่างจอลลี่ แบร์เอง มีจุดแข็งที่สำคัญ คือ เป็นแบรนด์เยลลี ขนมขบเคี้ยว ที่คนไทยคุ้นเคยมากว่า 50 ปี (ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2516)
โดดเด่นในเรื่องความอร่อย ปลอดภัย คุ้มค่า คุณภาพดีในราคาที่ย่อมเยา
ที่สำคัญ คือ มีความสามารถในการ Adapt to change หรือ พร้อมปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง 
“ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน จนตอนนี้ส่งต่อมาถึงเจน 3 
จะเห็นว่าที่ผ่านมา เราแทบไม่ทำการตลาด และขายสินค้าเดิม ๆ อยู่เกือบ 20 ปี ​
จนเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เราเห็นว่าแบรนด์เราแข็งแรงก็จริง แต่ก็เริ่มมีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามามากมาย
ทำให้เราต้องเริ่มปรับตัว โดยมองว่า การทำธุรกิจยุคนี้ ถ้าจะอยู่คนเดียวอาจจะยาก เราต้องสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง”
จะเห็นว่าที่ผ่านมา ทางแบรนด์มีการไป Collab กับพาร์ตเนอร์มากมาย
แต่หนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่อยู่ด้วยกันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2530 คือ 7-Eleven
“ข้อดีของ 7-Eleven คือ เขามีระบบการคัดสรรสินค้าเป็นอย่างดี และยังพร้อมให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิต มีการลงพื้นที่มาดูโรงงาน พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทรนด์หรืออินไซต์ของผู้บริโภคจากดาต้าที่มี เพื่อให้แบรนด์สามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาสินค้า
ที่สำคัญทีมงานของ  7-Eleven ยังทำงานแบบมืออาชีพ มีการสื่อสารที่กระชับ รวดเร็ว”
ที่น่าสนใจ นอกจากจอลลี่ แบร์ จะมี  7-Eleven เป็นหนึ่งในช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง
จอลลี่ แบร์ ยังจับมือกับ 7-Eleven เพื่อพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ เพื่อวางจำหน่ายเฉพาะใน 7-Eleven
ที่กลายเป็นกระแสไวรัลก็อย่างเช่น จัมโบแบร์ หมียักษ์ ซึ่งเป็นการออกสินค้าใหม่ในรอบหลายสิบปี
หรืออย่างล่าสุด จอลลี่ แบร์ ออกแพ็กเกจใหม่เป็นน้องการ์ฟีลด์ 
ในด้านการทำการตลาด คุณนิคบอกว่า สมัยก่อน ทางแบรนด์เน้นใช้ Push Marketing หรือ การออกสื่อหลัก เพื่อให้ผู้บริโภคเห็น 
แต่ปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยน ก็หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ มีการยิงแอด ​สื่อสารผ่าน KOL และอินฟลูเอนเซอร์ 
ข้อดีคือ นอกจากต้นทุนจะถูกลง ยังเป็นการสื่อสารสองทาง ทำให้แบรนด์ได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้ามาพัฒนาและต่อยอด
“ผมเชื่อว่าการตลาดจะดีแค่ไหน ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จ 
สิ่งที่การันตีคือ คุณภาพของสินค้า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องศึกษาฟีดแบ็กและดาต้าตลอดเวลา”
ทั้งนี้ คุณนิคกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า การสร้างแบรนด์ ก็เหมือนการเลี้ยงลูก ต้องใช้เวลา และความพยายาม เพื่อให้ผู้บริโภคไว้ใจและเข้าใจ
ดังนั้น อย่าทำอะไรที่ฉาบฉวย อย่าพูดหรือโฆษณาอะไรที่เกินจริง แต่ให้เน้นความจริงใจพร้อมรับคำติชม
สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ แนะนำว่า ควรวางแผนการเงิน ให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา อย่าคิดว่าดีมานด์จะขึ้นตลอด อาจจะมีช่วงที่ลง 
ดังนั้น ทางที่ดี ควรปั้นธุรกิจให้ค่อย ๆ โต มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการทำสินค้าหลาย ๆ อย่าง 
อย่าทำสินค้า Segment เดียว เพราะยิ่งสินค้ามีความหลากหลาย ยิ่งเป็นรากฐานให้แบรนด์แข็งแรง
ด้านคุณเมอา - พรพรรณ เรืองปัญญาธรรม Influencer ชื่อดัง จากช่อง Mayy R 
และเป็นเจ้าของร้าน 11AM cafe and space ร้านดังในขอนแก่น แนะนำว่า 
การเริ่มทำแบรนด์ นอกจากจะอาศัยความชอบ ยังต้องใช้แรงกายและแรงใจ ควบคู่ไปกับการศึกษาตลาด และกระแสด้วยว่ามีโอกาสไปต่อหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จแค่ไหน 
“ตอนที่ตัดสินใจเริ่มทำคาเฟ่ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่เราชอบ และมองว่ามีโอกาสไปต่อได้อีกมาก
ช่วงที่เริ่มต้น นอกจากจะทำการบ้าน เตรียมตัว เตรียมใจ และหาความรู้
ยังใช้ทางลัดด้วยการเรียนรู้จากคนที่เคยผิดพลาดมาก่อน เพราะเราคงไม่สามารถลองผิดลองถูกเองได้ทุกอย่าง”
สำหรับความท้าทายของอินฟลูเอนเซอร์ที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ คือ สามารถใช้ช่องทางของตัวเองในการโปรโมต โดยไม่ต้องใช้งบโฆษณา
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ บางครั้งผลกระทบในด้านลบจากธุรกิจก็อาจจะส่งผลต่อ Personal Branding ที่สร้างมาได้
อย่างไรก็ตาม คุณเมอาเชื่อว่า สำหรับคนที่อยากสร้าง Personal Branding ไม่จำเป็นต้องอาศัย Beauty Privilege เสมอไป
เพราะคนเสพคอนเทนต์ ไม่ได้เสพแค่อะไรที่สวย ๆ งาม ๆ เพื่อความจรรโลงใจอย่างเดียว
แต่จะเสพคอนเทนต์ที่ให้อะไรบางอย่าง เช่น ตลก ดูแล้วมีความสุข
ดังนั้น 3 หัวใจสำคัญ สำหรับใครที่อยากสร้าง Personal Branding คือ 
1. มั่นใจ กล้าคิดและลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ 
2. คิดแล้วต้องลงมือทำ 
3. ไม่หยุดที่จะพัฒนา
ส่วนใครที่ไม่มั่นใจ ที่จะพาตัวเองมาอยู่ในโลกโซเชียล คุณเมอา แนะนำว่า ให้ลองมองหาจุดแข็งอื่น ๆ มาเสริม ยกตัวอย่าง เธอเอง ​ก็พบว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการที่คาเฟ่ ไม่ได้มีเฉพาะคนที่ติดตามหรือรู้จักเธอผ่านโลกออนไลน์
แต่มีลูกค้าจำนวนไม่น้อย ที่เลือกมาเช็กอินที่คาเฟ่ เพราะชอบคอนเซปต์ไลฟ์สไตล์คาเฟ่ มาที่เดียวครบ สามารถมานั่งดื่มเครื่อมดื่ม นั่งทำงาน หรือถ่ายรูป
“เมจะพยายามเปลี่ยนดิสเพลย์ร้านทุกซีซัน ให้มาแล้วไม่เบื่อ มีเครื่องดื่มที่เป็นซีซันนัลเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าด้วย”
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของเคล็ด (ไม่) ลับ ในการสร้างตัวตนให้เป็น เพิ่มยอดขายให้ปัง 
ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเลือกนำไปปรับใช้ได้ 
งานนี้ไม่มีคำว่าช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับว่า คิดแล้ว ใครจะลงมือทำหรือไม่ทำ
อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีบูธแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการภายใต้การบ่มเพาะธุรกิจของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และผู้ประกอบการในพื้นที่อีกมากมาย 
เพื่อให้เดินชม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์นั่นเอง
หนึ่งในไฮไลต์ คือ การจัดบูธ SME NewGen ให้ผู้เข้าร่วมงานนั่งพูดคุยและขอคำแนะนำจากเหล่าวิทยากร 
รวมไปถึงบูธจากศูนย์เซเว่น อีเลฟเว่น สนับสนุน เอสเอ็มอี ที่จะมาแสดงให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของศูนย์ฯ ในการให้ข้อมูลเรื่องพัฒนาสินค้า และการคัดเลือกสินค้าเข้าวางขายใน 7-Eleven 
พร้อมเปิดลงทะเบียนให้เหล่า SME ที่สนใจต้องการนำสินค้าวางขายใน 7-Eleven พร้อมรับคำปรึกษาจากตัวแทนศูนย์ฯ อีกด้วย
#SMEโตไกลไปด้วยกัน #CPALL #7Eleven #SMExInfluencer #SMENewGen
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.