ซีอาร์ซี ไทวัสดุ สร้างแรงบันดาลใจคนไทยรักบ้านเกิด จากโครงการ“รวมหัวใจให้บ้านเกิด” ปีที่ 5 เดินต่อโครงสร้างสุขภาพให้คนในชุมชนกว่า 9,000 ชีวิต

ซีอาร์ซี ไทวัสดุ สร้างแรงบันดาลใจคนไทยรักบ้านเกิด จากโครงการ“รวมหัวใจให้บ้านเกิด” ปีที่ 5 เดินต่อโครงสร้างสุขภาพให้คนในชุมชนกว่า 9,000 ชีวิต

25 มี.ค. 2024
การขาดแคลนอุปกรณ์ด้านการแพทย์นับเป็นหนึ่งอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
เพราะการมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม
ดังนั้นการมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอกับความต้องการของคนในท้องถิ่น
จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาล
ให้สามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้ในเบื้องต้น
บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้วยหลักการสร้างความยั่งยืน
ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคม
ซึ่งเป็นนโยบายที่กลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้นำธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน มุ่งมั่นผลักดันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
โดยหนึ่งในโครงการที่เป็นไฮไลต์ก็คือ "รวมหัวใจให้บ้านเกิด" Loving Hometown ที่ส่งเสริมให้พนักงานไทวัสดุได้มีโอกาสในการร่วมพัฒนาชุมชนภูมิลำเนาของตัวเองและส่งต่อความภาคภูมิใจ
โดยโครงการฯ ดังกล่าวไทวัสดุได้มีการดำเนินงานและพัฒนามาเป็นปีที่ 5 แล้ว
ซึ่งในปีนี้ได้มุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา ความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์กับเดิมพันชีวิตของคนในชุมชน
นายอัครา ปวนสิงห์ ผู้จัดการไทวัสดุ สาขาน่าน ผู้เสนอโครงการพัฒนารพ.สต.แม่อ้อ
และได้รับคัดเลือกในปีนี้ จากทั้งหมด 37 โครงการที่พนักงานได้ร่วมส่งเข้ามา
เล่าให้ฟังถึงที่มาในการนำเสนอโครงการว่า เป็นคนตำบลแม่อ้อตั้งแต่เกิด ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน
แม้ว่าปัจจุบันจะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ในด้านสาธารณสุขยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะรพ.สต.แม่อ้อ ที่เป็นสถานพยาบาลในตำบลนั้น ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาชาวบ้านในพื้นที่
ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 9,000 คน จาก 20 หมู่บ้าน ที่เดินทางมารักษาที่ รพ.สต.แห่งนี้ และด้วยระยะทางที่ไกลจาก โรงพยาบาลพาน ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร
จึงทำให้ทางรพ.สต.ต้องรับผู้ป่วยจำนวนมากต่อวัน ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์มีไม่เพียงพอต่อการรักษาในแต่ละวัน ตนเองจึงปรารถนาเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขเพื่อให้คนในชุมชนตำบลแม่อ้อ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เหตุการณ์ที่ผมจำได้ไม่มีวันลืมเลย คือ เมื่อครั้งที่คุณลุงของผมป่วยด้วยโรคชรา และหมอให้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อมารักษาตัวต่อที่บ้านและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ทางครอบครัวไม่มีทุนทรัพย์
จึงได้ไปขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน จากรพ.สต.แม่อ้อ ซึ่งมีเพียงเครื่องเดียวและขณะนั้นก็มีผู้ป่วยใช้อยู่ ผมจึงต้องประกาศขอยืมจากชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงผ่านเฟสบุ้คของตำบล
โชคดีที่มีชาวบ้านท่านหนึ่งให้ยืมเครื่องผลิตออกซิเจนที่มีอยู่ ผมจึงได้ยืมเครื่องมาใช้ต่อลมหายใจของคุณลุงจนช่วยชีวิตท่านไว้ได้” นายอัคราเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยได้รับผลกระทบโดยตรง
ไทวัสดุรวมใจเร่งรุดพัฒนาสถานพยาบาลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการนำเสนอโครงการพัฒนารพ.สต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโครงการ “รวมหัวใจให้บ้านเกิด” ปีที่ 5 แล้ว
ทางทีมงานได้ลงไปสำรวจพื้นที่ พบว่ารพ.สต.แห่งนี้ ให้บริการแก่ประชาชนกว่า 9,346 คน จาก 3,646 หลังคาเรือน ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ
อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังขาดห้องปลอดเชื้อสำหรับทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากห้องปลอดเชื้อเดิม เป็นห้องที่ดัดแปลงมาจากห้องทั่วไป ไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน ทางโครงการรวมหัวใจให้บ้านเกิด
จึงได้จัดงบประมาณมากกว่า 4 แสนบาท ที่มาจากการบริจาคหัวใจการทำความดีของพนักงานและผู้บริหาร ซีอาร์ซี ไทวัสดุ ร่วมกันมอบเครื่อง PC-100 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องผลิตออกซิเจน จำนวน 2 เครื่อง
และสร้างห้องปลอดเชื้อใหม่ที่ถูกสุขอนามัย เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยได้มีพิธีส่งมอบเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางทรงศรี คมขำ รองนายกอบจ.เชียงราย
เป็นประธานรับมอบจากนางอัมพร ปัญญาดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล นางสาวชุติพร คงเจริญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด ซีอาร์ซี ไทวัสดุ
และผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสำราญ ศิริ ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่อ้อ กล่าวถึงกิจกรรมของโครงการ “รวมหัวใจให้บ้านเกิด” ว่าการมีเครื่องผลิตออกซิเจน และห้องปลอดเชื้อใหม่นี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่
สามารถต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยในชุมชน เพิ่มความสะดวกในการรักษาได้เป็นอย่างมาก ทำให้โรงพยาบาลของเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลคนในชุมชนได้ ในนามของรพ.สต.แม่อ้อ
ขอขอบคุณและซาบซึ้งในน้ำใจของทางบริษัทที่เล็งเห็นความสำคัญความสำคัญด้านสุขภาพของคนในชุมชนแห่งนี้ และรู้สึกประทับใจที่บริษัทได้มีโครงการดีๆแบบนี้
เปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ พัฒนาและยกระดับชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง
“ผมขอขอบคุณผู้บริหาร ซีอาร์ซี ไทวัสดุ ที่ได้อนุมัติโครงการพัฒนารพ.สต.แม่อ้อ และขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกคนที่ได้ร่วมกันบริจาคหัวใจเพื่อโครงการนี้” นายอัครากล่าวทิ้งท้ายด้วยความตื้นตัน
ไทวัสดุกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม
นายสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล
กล่าวว่า โครงการ “รวมหัวใจให้บ้านเกิด” (Loving Hometown) เป็นการสร้างโอกาสให้พนักงานไทวัสดุได้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคม
สร้างความภาคภูมิใจให้พนักงานที่ได้กลับไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนภูมิลำเนาของตัวเอง โดยทางบริษัทฯ ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว
ด้วยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทวัสดุได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิลำเนา โรงเรียนชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดต่างๆ
“ซีอาร์ซี ไทวัสดุ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปพร้อมกับความรับผิดชอบในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไทวัสดุ ได้ขยายสาขาไปทั่วประเทศ
เราได้มีส่วนร่วมสนับสนุนพัฒนาชุมชนในทุกพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนมาโดยตลอด
ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนและอยู่เคียงข้างชุมชนในสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน”
โครงการรวมหัวใจให้บ้านเกิด ดำเนินงานภายใต้บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้เล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างพนักงานและองค์กร
เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสตอบแทนสังคมและชุมชนภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการบริจาคที่ได้รวบรวมมาจากพนักงาน
และผู้บริหารไทวัสดุในการปรับปรุงโรงเรียน และโรงพยาบาลท้องถิ่นไปแล้ว รวมมูลค่ากว่า 1,800,000 บาท ซี่งทางไทวัสดุยังคงสานต่อโครงการและทำต่อเนื่องเพื่อสาธารณะประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีที่สุด
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.