สรุปอาณาจักร Asset World บริษัทอสังหาฯ 120,000 ล้าน ในเครือธุรกิจ เจ้าสัวเจริญ

สรุปอาณาจักร Asset World บริษัทอสังหาฯ 120,000 ล้าน ในเครือธุรกิจ เจ้าสัวเจริญ

16 มี.ค. 2024
สรุปอาณาจักร Asset World บริษัทอสังหาฯ 120,000 ล้าน ในเครือธุรกิจ เจ้าสัวเจริญ | BrandCase
Asset World Corporation (AWC) หรือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป คือเจ้าของโครงการใหญ่ ๆ ที่เรารู้จักดี ในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น
เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ในย่านสาทรห้างพันธุ์ทิพย์โรงแรมหรู เช่น บันยันทรี สมุย, โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล
คือ AWC เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญ ในเครือธุรกิจที่ชื่อว่า TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง
จุดเริ่มต้นของ AWC เกิดขึ้นมาจากจุดไหน ?
แล้วมาเป็นบริษัทมูลค่า 120,000 ล้านบาท ในวันนี้ ได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
AWC หรือ Asset World Corporation เป็นบริษัทในเครือ TCC Group
ซึ่งก็คือเครือธุรกิจใหญ่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
โดยเจ้าสัวเจริญ เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการซื้อที่ดินสะสมไว้หลายแปลง
รวมถึงซื้อห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน เข้ามาอยู่ในมือเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น
ซื้อห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ย่านประตูน้ำ จากตระกูลบุนนาค เมื่อปี 2532
แล้วนำมารีโนเวตเป็น ห้างขายสินค้าไอทีครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยซื้อกิจการโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง ในจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของ TCC Group เมื่อปี 2534ซื้อตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ในย่านสาทร ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร
ในตอนนั้น ต่อจากกลุ่มทุนฮ่องกง ในช่วงวิกฤติปี 2540
ซึ่งนอกจากการซื้อกิจการจากคนอื่นแล้ว เจ้าสัวเจริญ ก็ยังได้นำที่ดินใจกลางเมือง
มาปลุกปั้นห้าง และศูนย์การค้าดัง ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
การเช่าที่ดินระยะยาว บริเวณตรงข้ามซอยเอกมัย จากสภากาชาดไทย
มาสร้างเป็นศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย เมื่อปี 2555การนำที่ดินรกร้าง ที่เคยเป็นอดีตโรงเลื่อยและท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ในย่านถนนเจริญกรุง ของบริษัท อีสท์ เอเชียติก
มาพัฒนาเป็นโครงการ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ เป็นแลนมาร์กสำคัญอีกแห่ง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร
โดยตัวโครงการมีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงละคร และชิงช้าสวรรค์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย..
ต่อมาในปี 2562 เจ้าสัวเจริญ​ ก็ได้นำโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมา
ไม่ว่าจะเป็น ห้างพันธุ์ทิพย์ โรงแรมแม่ปิง ตึกเอ็มไพร์ ไปจนถึงเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์
และโครงการอสังหาริมทรัพย์อีกหลาย ๆ แห่งในเครือ TCC Group
มารวมกันไว้ภายใต้บริษัทเดียวชื่อ Asset World Corporation แล้วนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อตัวย่อว่า AWC
โดยปัจจุบันมี คุณวัลลภา ไตรโสรัส ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ AWC
ปัจจุบัน AWC เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 35 โครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น
โรงแรมและรีสอร์ตหรูกว่า 22 แห่ง
โดยเปิดภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เช่น แมริออท, เลอ เมอริเดียน, เชอราตัน และฮิลตันศูนย์การค้า คอมมิวนิตีมอลล์ และห้างค้าส่ง 9 แห่ง
อย่างเช่น เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์, พันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ เชียงใหม่, ศูนย์การค้าตะวันนา บางกะปิอาคารสำนักงานทั้งหมด 4 แห่ง เช่น ตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์, อินเตอร์ลิ้งค์ ทาวเวอร์ บางนา
ซึ่งแน่นอนว่า รายได้และกำไรของ AWC โดยหลัก ๆ แล้ว ก็มาจากการบริหารและให้เช่าพื้นที่ ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม
ซึ่งถ้าไปดูรายได้และกำไรของ Asset World Corporation หรือ AWC เราก็จะเห็นว่า
ปี 2564 มีรายได้ 4,396 ล้านบาท กำไร 861 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 9,603 ล้านบาท กำไร 3,854 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 14,035 ล้านบาท กำไร 5,038 ล้านบาท
โดยรายได้ทุก ๆ 100 บาท จะมาจาก
ธุรกิจโรงแรม 58 บาทธุรกิจสำนักงานให้เช่า 27 บาทธุรกิจศูนย์การค้า และธุรกิจห้างค้าส่ง 15 บาท
ซึ่งกำไรของ AWC ที่เติบโตโดยหลัก ๆ
ก็มาจากกำไรจากการดำเนินงาน ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตหรูของเครือ AWC
โดยในปี 2566 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตหรู มีกำไรจากการดำเนินงาน
เติบโตจากปี 2565 ถึง 115% หรือเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่า
โดยสาเหตุ ที่ธุรกิจโรงแรมเติบโต ก็เพราะว่าในปี 2566 เป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้เต็มที่ จากวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา
มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่กระเป๋าหนักหรือมีกำลังซื้อสูง เข้ามาพักในโรงแรมหรู 5 ดาวมากขึ้น
ซึ่ง AWC ก็ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากพอร์ตโรงแรมหรูที่มีอยู่ในมือกว่า 22 แห่ง
ทำให้ AWC ก็เห็นโอกาส ในธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง
และหันไปปลุกปั้นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่
โดยเป็นการลงทุนในหัวเมืองต่างจังหวัด ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
อย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี อย่างเต็มที่
โดยทาง AWC ได้ตั้งงบสำหรับลงทุนในโครงการทั้ง 2 แห่งไว้ที่ 52,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น
โครงการ อควอทีค ที่เมืองพัทยา มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท
โดย AWC ได้นำรูปแบบจาก Asiatique The Riverfront
ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร มาปรับใช้กับโครงการนี้
และตั้งใจให้เป็นอีกจุดหมายปลายทางหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนให้ได้ในเมืองพัทยา
โดยโครงการมิกซ์ยูส จะตั้งอยู่ที่ริมหาดพัทยา บนเนื้อที่กว่า 16 ไร่
ประกอบไปด้วยศูนย์การค้าหรู โรงแรมหรู 5 แบรนด์ ในเครือ IHG และ Marriott
และคอนโดมิเนียมที่พัฒนาร่วมกับแบรนด์โรงแรมดัง อีก 2 แบรนด์
โครงการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท
ซึ่งทาง AWC ตั้งใจให้ถนนช้างคลาน กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างชาติ
โดยพื้นที่รอบ ๆ ก็จะมีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม สถานที่ช็อปปิง และตลาดนัดกลางคืน
ซึ่งทั้ง 12 โครงการนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปรับปรุงจากโครงการเดิม ที่เจ้าสัวเจริญได้ไปซื้อกิจการมา
ตัวอย่างเช่น
รีโนเวตโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เชียงใหม่ โรงแรมแห่งแรกของ TCC Group ให้กลายเป็นโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมลักชัวรีระดับ 5 ดาว อีกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่
โดยโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 ที่ผ่านมานี้เอง
รีโนเวตศูนย์การค้า พันธุ์ทิพย์เชียงใหม่ ให้กลายเป็น The Pantip Lifestyle Hub
ที่รวบรวมโรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหารท้องถิ่น และร้านขายสินค้าหัตถกรรม ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์การค้า เพื่อดึงกลุ่มเด็กและครอบครัว ให้เข้ามาในศูนย์การค้ามากขึ้น
โดย The Pantip Lifestyle Hub เพิ่งเปิดศูนย์การค้าโฉมใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
รีโนเวต สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ ให้เป็นร้านหนังสือและเป็นคอมมิวนิตีมอลล์ สำหรับนั่งทานกาแฟชิล ๆ ไปในตัวรีโนเวตตลาดอนุสาร ให้กลายเป็นแหล่งกิน ช็อป ชิล และเป็นสถานบันเทิงแห่งใหม่ สำหรับชาวเชียงใหม่พัฒนาพื้นที่ไนท์บาซาร์เชียงใหม่และบริเวณโดยรอบ ให้กลายเป็น “ลานนาทีค”
คือจะมีทั้งตลาดไนท์บาร์ซาร์ ที่เน้นขายสินค้าท้องถิ่น ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมชั้นนำโดยรอบ
โดยทาง AWC ได้ตั้งเป้าหมายว่าลานนาทีค จะกลายเป็น Tourist Destination
หรือเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
เหมือนกับ เอเชียทีค ที่เคยประสบความสำเร็จ จากการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร
นอกจากจะถอดแบบ เอเชียทีค มาเป็นเป็น อควอทีค ที่พัทยา และลานนาทีค ที่เชียงใหม่แล้ว..
AWC ก็ยังมีแผนพัฒนาที่ดินตรงเวิ้งนาครเขษม ใกล้ ๆ กับเยาวราช
ซึ่งบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ในเครือของเจ้าสัวเจริญ ก็ได้ที่ดินตรงนี้ไป
จากการชนะการประมูลอาคารพาณิชย์เก่า 440 คูหา จากราชสกุลบริพัตร ในราคาประมาณ 4,507 ล้านบาท
ซึ่งเวิ้งนาครเขษม ก็ได้ถูกโอนสินทรัพย์ เข้าไปอยู่ภายใต้เครือ AWC ในเวลาต่อมา
โดย AWC จะพัฒนาเวิ้งนาครเขษม ให้กลายเป็นโครงการมิกซ์ยูส อย่างศูนย์การค้า และโรงแรม
ในรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน อันเป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่ย่านเยาวราช
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นการสรุปคร่าว ๆ ของ AWC หรือ Asset World Corporation
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกขาหนึ่ง ในกลุ่มธุรกิจ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ
ซึ่งก็ต้องบอกว่า นอกจาก AWC แล้ว
TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ ก็ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ผ่านบริษัทอื่น ๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์อีกมากมาย
ตัวอย่างเช่น
Univentures หรือ UV ทำธุรกิจสร้างคอนโดมิเนียม ภายใต้แบรนด์ Grand UnityFrasers Property Thailand หรือ FPT
เจ้าของโครงการชื่อดัง อย่างสามย่านมิตรทาวน์, สีลมเอจ, โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพ และ FYI Center
และยังเป็นเจ้าของโรงงาน คลังสินค้าให้เช่า
ไปจนถึงโครงการหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ กว่า 78 โครงการ ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ
TCC Asset ที่เป็นเจ้าของโครงการบนถนนพระรามที่ 4 หลายแห่ง อย่าง The Parq
และเป็นหัวหอก ของโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า แสนล้าน ที่กำลังก่อสร้าง อย่าง One Bangkok
ที่กำลังสร้าง ตึกสูงสุดในไทยแห่งใหม่ อยู่ข้างในนั้น
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
หลายคนน่าจะสงสัยว่า TCC Group ที่ครอบครองบริษัท AWC อยู่นั้น ย่อมาจากอะไร ?
คำตอบคือ มาจากคำว่า “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” หรือ “Thai Charoen Corporation Group”
ซึ่งก็ตรงกับชื่อ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.