อธิบายโมเดลธุรกิจ MEGA บริษัทยาไทย ที่รายได้กว่า 1 ใน 3 มาจาก เมียนมา

อธิบายโมเดลธุรกิจ MEGA บริษัทยาไทย ที่รายได้กว่า 1 ใน 3 มาจาก เมียนมา

17 ก.พ. 2024
อธิบายโมเดลธุรกิจ MEGA บริษัทยาไทย ที่รายได้กว่า 1 ใน 3 มาจาก เมียนมา | BrandCase
“MEGA We care” แบรนด์ยาและอาหารเสริม ที่หลายคนอาจคุ้นหู ถ้าแวะไปร้านขายยาบ่อย ๆ ..
รู้หรือไม่ ? ว่า MEGA We care เป็นยาและอาหารเสริมแบรนด์ไทย ที่ไม่ได้มีจำหน่ายแค่ร้านขายยาในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว
แต่ทุกวันนี้ แบรนด์ยา MEGA We care ยังได้ขยายตลาดออกไปต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักกว่า 35 ประเทศทั่วโลกแล้ว
ที่น่าสนใจคือ รายได้ของ MEGA มากกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศเมียนมา เพียงประเทศเดียว
แล้วโมเดลธุรกิจของ MEGA มีความน่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ถ้าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น.. MEGA มีชื่อเดิมว่า บริษัท เมดิแคป จำกัด
ก่อตั้งโดย นายกิริต ชาห์ นักธุรกิจชาวอินเดีย ซึ่งได้เดินทางมายังประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2525 หรือเมื่อ 42 ปีก่อน
ในตอนนั้นเขาก็ได้เห็นว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้ายาที่เป็นแคปซูลจากต่างประเทศ เพราะไม่มีโรงงานในประเทศไทยที่ไหนผลิต
เมื่อเห็นโอกาสในธุรกิจ นายกิริต ชาห์ จึงได้ก่อตั้งโรงงานผลิตแคปซูลเจลนิ่ม ที่ไว้สำหรับบรรจุยาข้างใน
โดยรับจ้างผลิตเฉพาะตัวแคปซูลเจลนิ่ม แล้วส่งให้ลูกค้าที่เป็นแบรนด์ยาต่าง ๆ
ต่อมาบริษัท ก็เริ่มรับจ้างผลิตตัวยา ให้กับบริษัทภายนอกเพิ่ม
เมื่อธุรกิจรับจ้างผลิตยาหรือแคปซูลเจลนั้นเริ่มไปได้ดี ทำให้บริษัท
เริ่มหันมาทำยาและอาหารเสริมแบรนด์ตัวเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ MEGA ในปี 2537
จากนั้น ก็เริ่มขยายตลาดจากประเทศไทย ไปตีตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างประเทศเมียนมาและเวียดนาม ในปี 2538
และต่อด้วยกัมพูชาในปี 2539
ซึ่งแบรนด์ MEGA ถือเป็นแบรนด์ยาแบรนด์แรก ๆ ที่ไปตีตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้
โดยบริษัท ได้เลือกใช้วิธีการเจาะตลาด ด้วยการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท
ในต่างประเทศ
เพื่อนำยาและอาหารเสริมแบรนด์ MEGA ไปจัดจำหน่ายตามโรงพยาบาล และร้านขายยาต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของตัวเองแล้ว
บริษัทก็ยังเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ รับกระจายสินค้าแบรนด์อื่น ๆ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งโดยหลัก ๆ ก็จะเป็นแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค
ต่อมาบริษัทก็ได้ขยายตลาด ไปยังประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม
อย่างทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา
แล้วก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด ในปี 2548
บริษัทก็ได้เริ่มต้น IPO หรือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2556 โดยใช้ชื่อตัวย่อว่า MEGA
หลังจากที่ MEGA ได้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว MEGA ก็ได้มุ่งเน้นการทำตลาด
ในทวีปแอฟริกามากขึ้น อย่างประเทศไนจีเรีย แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย
โดยโมเดลธุรกิจของ MEGA ปัจจุบันมีธุรกิจหลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง ได้แก่
ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า แบรนด์ MEGA We care
โดยบริษัท ได้ทำการวิจัยและพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ MEGA We care
ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศอีกกว่า 35 ประเทศทั่วโลก
โดยตัวอย่างประเทศที่ MEGA ได้ไปทำตลาด
ก็เป็นประเทศในทวีปเอเชีย อย่างประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ
ประเทศในทวีปแอฟริกา อย่างประเทศไนจีเรีย แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย
หรือประเทศในทวีปอเมริกาใต้ อย่าง ประเทศเปรู และโคลอมเบีย
ซึ่งทั้ง 35 ประเทศทั่วโลกนี้ MEGA จะจัดจำหน่ายสินค้า โดยใช้ตัวแทนจำหน่ายหรือ Third Party Distribution ในประเทศนั้น ๆ
สำหรับสินค้าภายใต้แบรนด์ MEGA We care ที่ออกจำหน่ายใน 35 ประเทศทั่วโลก
ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอาหารเสริม เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวผลิตภัณฑ์ยาตามใบสั่งแพทย์ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจผลิตภัณฑ์ยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ เช่น ผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวด ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้
ธุรกิจขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย Maxxcare
Maxxcare จะเป็นตัวแทนกระจายสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าของแบรนด์ MEGA We Care เอง
รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์อื่น ๆ ด้วย
โดยตัวแทนจำหน่าย Maxxcare จะมีเฉพาะใน 3 ประเทศ
นั่นคือ ประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม
ซึ่งก็เป็นกลุ่มประเทศที่ MEGA ได้เข้าไปตีตลาดในช่วงแรก ๆ
ธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้าหรือ OEM
ซึ่ง MEGA ก็จะรับจ้างผลิตสินค้า ก็ต่อเมื่อโรงงานผลิต มีกำลังผลิตส่วนที่เหลือ
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเครื่องจักรในไลน์ผลิตว่างเมื่อไร
ก็จะนำไปผลิตงาน OEM เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้เข้าบริษัท
โดยในตอนนี้ MEGA ก็มีโรงงานผลิต พร้อมกับศูนย์วิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมใน 3 ประเทศด้วยกัน
นั่นคือ ประเทศไทย ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน MEGA มีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยเราจะเห็นได้จาก รายได้และกำไร ของ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ เมื่อ 10 ปีก่อน
ปี 2555 มีรายได้ 6,035 ล้านบาท กำไร 557 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 9,640 ล้านบาท กำไร 1,113 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 15,767 ล้านบาท กำไร 2,242 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า MEGA มีกำไรเติบโตเป็น 2 เท่า ในทุก ๆ 5 ปีเลยทีเดียว
โดยสัดส่วนรายได้ของ MEGA ในปี 2565 ทุก ๆ 100 บาท ก็จะแบ่งเป็น
รายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ MEGA We care 51 บาทรายได้จากตัวแทนจำหน่าย Maxxcare ในประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม 47 บาทรายได้จากการรับจ้างผลิต หรือ OEM 2 บาท
แล้วถ้าเราไปเจาะลึก ถึงอัตรากำไรขั้นต้น หรือก็คือรายได้ หักลบด้วย ต้นทุนขาย
ของแต่ละธุรกิจ ก็จะเห็นว่า
รายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ MEGA ทุก ๆ 100 บาท คิดเป็นกำไรขั้นต้น 65 บาทรายได้จากตัวแทนจำหน่าย Maxxcare ในประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ทุก ๆ 100 บาท คิดเป็นกำไรขั้นต้น 24 บาท
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธุรกิจผลิตยาขายในแบรนด์ของตัวเอง จะทำกำไรขั้นต้น ได้ดีกว่าธุรกิจตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ซื้อมาขายไปนั่นเอง
และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ รายได้จากธุรกิจตัวแทนจำหน่าย Maxxcare ในปี 2565
มาจากประเทศเมียนมา คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 73%
ซึ่งถ้าลองคำนวณดู เราก็จะเห็นว่ารายได้รวมทั้งหมดของ MEGA
กว่า 34% หรือมากกว่า 1 ใน 3 มาจากธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศเมียนมา เพียงประเทศเดียว..
มาถึงตรงนี้ เราก็พอจะสังเกตได้ว่า กลยุทธ์ที่ MEGA เลือกใช้มาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันคือ
MEGA จะเน้นเจาะตลาด ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศรายได้น้อย
ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา
รวมไปถึงประเทศในแถบทวีปแอฟริกา อย่างประเทศไนจีเรีย แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย
นั่นก็เพราะว่า ประเทศเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูง
ในขณะที่ยังไม่มีสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างแบรนด์ยาและอาหารเสริม เข้าไปตีตลาดในประเทศเหล่านี้มากนัก
ในทางกลับกัน ถ้าเลือกที่จะไปตีตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ก็ต้องบอกว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้ ล้วนมีแบรนด์ยาและอาหารเสริมที่แข็งแกร่ง
และหลายแบรนด์ก็ล้วนติดตลาดในประเทศกลุ่มนี้อยู่แล้ว จึงทำให้ MEGA เข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ลำบาก
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ MEGA เลือกที่จะไปทำตลาดในประเทศรายได้น้อย หรือประเทศที่กำลังพัฒนา
เป็นแบรนด์แรก ๆ
เพื่อหวังว่า ถ้ากลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มมีเศรษฐกิจเติบโต หรือประชากรมีรายได้สูงขึ้น กลุ่มคนในประเทศเหล่านี้ ก็จะคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น
ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจของ MEGA ในประเทศเหล่านี้เติบโตตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องบอกว่า การเลือกตีตลาดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ ก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน
ทั้งในเรื่องของความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องการเมืองของแต่ละประเทศ
อย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นประเทศเมียนมา
ที่ปัจจุบันก็มีปัญหาเรื่องการเมืองและสงครามภายในประเทศ เพราะปัญหาเรื่องชาติพันธุ์
จนทำให้ MEGA ที่มีรายได้มากกว่า 1 ใน 3 มาจากเมียนมานั้น ต้องยอมรับความเสี่ยงกับเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายของ MEGA ในการบริหารความเสี่ยง
เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
ซึ่งเราก็ต้องดูต่อไปว่า กลยุทธ์ที่ MEGA เลือกใช้
คือการเลือกเข้าไปตีตลาด เป็นแบรนด์แรก ๆ ในประเทศกลุ่มนี้
จะเติบโตได้ดีมากน้อยแค่ไหน..
References
-รายงานประจำปี บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ ปี 2565
-รายการ THE BRIEFCASE วิเวก ดาวัน ผู้สร้าง MEGA บริษัทยา สัญชาติไทย 10,000 ล้าน
-รายการ Wealth in Depth ตอน MEGA บริษัทยาสัญชาติไทย 3 หมื่นล้าน เจาะตลาด 35 ประเทศด้วยวิธีไหน
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/mega/factsheet
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.