คุยกับเจ้าของ What The Duck “ทำธุรกิจค่ายเพลง ต้องเหมือนวิ่งมาราธอน”

คุยกับเจ้าของ What The Duck “ทำธุรกิจค่ายเพลง ต้องเหมือนวิ่งมาราธอน”

21 ต.ค. 2023
คุยกับเจ้าของ What The Duck “ทำธุรกิจค่ายเพลง ต้องเหมือนวิ่งมาราธอน” | BrandCase
“การทำธุรกิจค่ายเพลง ก็เปรียบเสมือนกับการวิ่งมาราธอน ต้องใช้ทั้งความอดทน และความพยายามอย่างหนัก กับระยะเวลาที่ไม่รู้ว่าต้องยาวนานแค่ไหน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ
และเมื่อถึงจุดสำเร็จจุดแรก ก็ต้องพยายามไปจุดสำเร็จที่ 2, 3, 4.. ไปเรื่อย ๆ”
นี่คือมุมมองการทำธุรกิจของ คุณมอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์​ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการค่ายเพลง What The Duck
What The Duck คือ ค่ายเพลงของคนรุ่นใหม่ และเป็นหนึ่งในค่ายเพลงขนาดเล็ก ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการดนตรี
ในค่ายเพลงนี้มีศิลปินคนดังหลากหลายสไตล์ เช่น Musketeers, The TOYS, BOWKYLION, Mirrr, WHAL & DOLPH
และล่าสุดค่ายเพลง What The Duck กำลังจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ เพื่อฉลองครบรอบ 9 ปี
BrandCase มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณมอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์​ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการค่ายเพลง What The Duck
เราคุยกันถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจค่ายเพลงสำหรับคนรุ่นใหม่ มุมมองต่อธุรกิจนี้ รวมถึงเบื้องหลังและความท้าทาย ในการทำธุรกิจค่ายเพลงตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา
เรื่องราวของ What The Duck น่าสนใจแค่ไหน ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ค่ายเพลง What The Duck เกิดขึ้นมาจาก ผู้ก่อตั้ง 3 คน ที่เคยทำงานอยู่ในธุรกิจบันเทิงมาก่อน คือ
คุณมอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการ (Managing Director)
คุณบอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา ผู้อำนวยการฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน (Artist And Repertoire Director)
คุณออน-ชิชญาสุ์ กรรณสูต กรรมการบริหาร (Executive Director)
คุณมอยเล่าให้ฟังว่า
“จริง ๆ ผมมีความฝันอยากเป็นนักดนตรีนะ แต่เมื่อชีวิตมันเดินมาถึงจุดหนึ่ง ทำให้เราคิดว่า การเป็นนักดนตรีมืออาชีพ หรือเป็นศิลปิน มันยาก แต่เรายังมีความสุข และอยากทำงานกับคนในวงการดนตรี”
จากจุดนั้นเอง ทำให้คุณมอยตัดสินใจเข้าไปทำงานอยู่เบื้องหลังแทน
โดยเริ่มต้นด้วยการเป็นฝ่าย Marketing และ PR ให้กับค่ายเพลงสากลในไทย
ในขณะที่ฝั่ง คุณบอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา หรือ พี่บอล มือกีตาร์วง Scrubb ก็กำลังทำหน้าที่เป็นฝ่ายคัดสรรศิลปินให้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในไทย
คุยมอยเล่าต่อว่า ในช่วงที่อุตสาหกรรมดนตรีอยู่ในช่วงขาลง ค่ายเพลงใหญ่หลายค่าย ต้องเจอกับความท้าทายในเรื่องของการหารายได้จากการทำเพลง
คือในช่วงที่ความนิยมของ CD เพลงเริ่มลดลง และทุกคนสามารถฟังเพลงได้ฟรี ๆ จากอินเทอร์เน็ต ทำให้หลายค่ายเพลงเริ่มทยอยปิดตัวลง
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ตัวคุณมอยเองก็ได้รับผลกระทบ และตกงานอยู่นานถึง 6 เดือน
จนถึงเวลาที่คุณมอยรู้สึกว่าอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง เลยตัดสินใจเปิดบริษัทเกี่ยวกับ Artist Management ดูแลศิลปินโดยเฉพาะ
เมื่อคิดไว้แบบนั้น คุณมอยจึงได้ชวนคุณออนและคุณบอล เข้ามาทำธุรกิจนี้ด้วยกัน
และเกิดเป็น What The Duck ขึ้นมา โดยมีศิลปินคนแรก คือ คุณสิงโต นำโชค
เมื่อทำธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง คุณมอยก็เริ่มเห็นแล้วว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมดนตรี กำลังเปลี่ยนไปอยู่ในโลก Digital มากขึ้น
ซึ่งอย่างแรกที่คุณมอยเห็นคือ การเข้ามาของ YouTube
ช่วงนั้นคุณมอยเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า คนเริ่มหันมาฟังเพลงใน YouTube มากขึ้น
ถึงแม้ว่าตอนนั้น YouTube เอง จะยังไม่มีระบบสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์ก็ตาม
แต่สำหรับค่ายเพลงแล้ว YouTube ก็คือหนึ่งในช่องทางสำหรับโปรโมตศิลปินของค่ายนั่นเอง
แต่เมื่อมีปริมาณคนดู YouTube เยอะขึ้น โฆษณาก็เริ่มเข้ามา และทำให้เกิดการแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของช่อง ค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของช่องเริ่มมีรายได้เข้ามา
ต่อมาคือ การสตรีมมิงเพลงของ Spotify, JOOX และ Apple Music
แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับสตรีมมิงเพลงเหล่านี้
ซึ่งนั่นหมายความว่า การฟังเพลงจะไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไป ทำให้ค่ายเพลงและศิลปินเริ่มกลับมามีรายได้จากตัวเพลงอีกครั้ง
และอย่างสุดท้ายคือ ศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดเยอะขึ้น
คุณมอยเล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อน การเป็นศิลปินนั้นยากมาก เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ในการทำเพลงและประชาสัมพันธ์เพลงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการทำ Music Video รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพลงในช่องทางด่าง ๆ ด้วย
มันเลยทำให้อุตสาหกรรมดนตรีสมัยก่อน มีแค่ค่ายเพลงใหญ่ ๆ เท่านั้น
แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ในยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นศิลปินได้ ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ซัพพอร์ตให้ทุกคนสามารถสร้างผลงานเพลงเองได้ง่ายขึ้น และมีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานเพลงด้วยตัวเอง
ดังนั้นเมื่อศิลปินเยอะขึ้น ก็ทำให้ค่ายเพลงมีตัวเลือกมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ศิลปินอิสระที่ดัง ๆ ก็มีจำนวนเยอะขึ้นเช่นกัน
พอเห็นเทรนด์ต่าง ๆ เหล่านี้ What The Duck จึงเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจ
จากแค่บริษัทดูแลศิลปิน กลายมาเป็นค่ายเพลงที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจ แบบให้อิสระแก่ศิลปินในการเป็นผู้นำสร้างสรรค์เพลง
เพราะแนวคิดหลักของ What The Duck คือการเชื่อมั่นในตัวตน และผลงานของศิลปิน
ดังนั้นตัวค่ายจึงเป็นเพียงคนที่คอยสนับสนุน ต่อยอด พัฒนา รวมถึงช่วยผลักดันให้ศิลปินเติบโตขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันค่ายเพลง What The Duck มีศิลปินภายใต้การดูแลอยู่ทั้งหมด 35 ศิลปิน
ซึ่งแต่ละคนมีสไตล์และเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน
เช่น The TOYS, BOWKYLION, Musketeers, Whal & Dolph, Mirrr, Valentina Ploy หรือ De Flamingo
ถึงแม้ศิลปินแต่ละคนจะมีสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่ศิลปินของค่ายเพลง What The Duck มีเหมือนกัน
คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้ด้วยตัวเอง หรือเรียกให้ง่ายคือ เขียนเพลงได้ด้วยตัวเอง
แล้ว What The Duck ใช้วิธีไหน ในการตามหาศิลปินเหล่านี้ ?
คุณมอยตอบว่า “ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่ทันสมัยนะ ที่ทำให้การหาศิลปินง่ายขึ้น”
เพราะสมัยก่อน ค่ายเพลงต้องตามหาศิลปินตามสถานบันเทิง หรือตามเทศกาลดนตรี ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันค่ายเพลงสามารถตามหาศิลปินได้จากช่องทาง Social Media ของศิลปินนั้น ๆ ได้
ทำให้หลาย ๆ ศิลปินที่เข้ามาอยู่ในค่าย What The Duck คือศิลปินที่เคยออกผลงานด้วยตัวเอง ในช่องทางออนไลน์มาก่อน
ดังนั้นการหาศิลปินในช่วงแรกของ What The Duck จึงมาจากช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้
ซึ่งแรก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเนื่องจากเป็นค่ายเพลงขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและศิลปินหลายคนก็ยังไม่เชื่อในฝีมือของค่ายเท่าไร
แต่หลังจากทำมาได้สัก 2-3 ปี เมื่อค่ายเพลงเติบโตขึ้น และชื่อของ What The Duck เริ่มมีตัวตน น่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้การตามหาศิลปินของค่ายในปัจจุบันก็ง่ายขึ้นด้วย
จากค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน
ก็เริ่มเติบโตขึ้น กลายเป็นค่ายเพลงอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ถ้าถามต่อว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาในการทำธุรกิจค่ายเพลง สิ่งที่ยากที่สุด สำหรับการทำธุรกิจนี้คืออะไร ?
คุณมอยสรุปออกมาได้ 3 ข้อ คือ
1.การทำงานกับ “Special One”
Special One ที่ว่านี้ คือหมายถึง ศิลปินแต่ละคน ที่มีความพิเศษในแบบฉบับของตัวเอง
เพราะการทำธุรกิจค่ายเพลง สินค้าของค่ายก็คือ “ตัวศิลปิน สิ่งมีชีวิตที่มีหลากหลายอารมณ์”
ทำให้การดูแลหรือการรักษาศิลปินให้อยู่กับค่ายได้นาน ๆ นั้น เป็นเรื่องที่ยากพอตัว
ดังนั้นการทำงานที่ต้องดูแลคนพิเศษเหล่านี้ ค่อนข้างมีความซับซ้อน
และค่ายจำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดการศิลปินแต่ละคนที่แตกต่างกัน
ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำหรับทีมงาน What The Duck ทุกคน
2.วงการเพลงเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังวันนี้ ไม่ได้การันตีว่าจะ ดังตลอดไป
คุณมอยมองว่า ปัจจุบันวงการเพลงมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จนค่ายเพลงยังมีวันที่รู้สึกท้อ
บางครั้งต่อให้ทีมงานและศิลปินทุ่มเทในผลงานมากขนาดไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ
เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จของศิลปินและบทเพลง
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เพลงดี การตลาดดี หรือศิลปินหน้าตาดี แล้วเพลงจะขายออก
แต่กลับขึ้นอยู่กับว่า วันนี้ฟีดในโซเชียลมีเดียของผู้ชม เป็นอย่างไร
เนื่องจากในหนึ่งวันมีร้อยเรื่องราว ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย
อีกทั้งอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ทำให้หลายครั้งที่แม้แต่แฟนคลับของศิลปินเอง ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวงที่เขาชอบ ปล่อยเพลงใหม่ออกมาแล้ว
ดังนั้นคุณมอยจึงมองว่า สิ่งที่ท้าทายในธุรกิจนี้ สำหรับ What The Duck คือ
“การนำเพลงของศิลปินในค่าย ไปให้ถึงมือคนฟังที่เหมาะสม”
แล้วจะทำอย่างไรให้เพลงของศิลปินในค่าย What The Duck สามารถเข้าไปอยู่ในหน้าฟีดของผู้ชมได้ ?
คำตอบของคำถามนี้ เป็นสิ่งที่คุณมอยและทีมงาน What The Duck ต้องไล่หาคำตอบใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เพราะวิธีการบางอย่างที่เคยทำแล้วสำเร็จเมื่อ 3 เดือนก่อน แต่มาตอนนี้วิธีนั้นกลับใช้ไม่ได้ผลแล้ว
3.สุดท้ายแล้วคุณมอยมองว่า “การทำธุรกิจค่ายเพลง ก็เปรียบเสมือนกับการวิ่งมาราธอน”
ต้องใช้ทั้งความอดทน และความพยายามอย่างหนัก กับระยะเวลาที่ไม่รู้ว่าต้องยาวนานแค่ไหน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ
และเมื่อถึงจุดสำเร็จจุดแรก ก็ต้องพยายามไปจุดสำเร็จที่ 2, 3, 4.. ไปเรื่อย ๆ
ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ ค่ายเพลง What The Duck ก็กำลังจะเข้าสู่จุดสำเร็จจุดต่อไป
คือการจัดคอนเสิร์ตครบรอบ 9 ปี ของทางค่าย
โดยชื่อคอนเสิร์ตว่า “What The Duck Family & Friends Party”
คอนเสิร์ตใหญ่ที่รวมตัวศิลปินของทั้งค่าย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเก่า ศิลปินใหม่ และศิลปินปัจจุบัน กว่า 35 ศิลปิน
มาจัดคอนเสิร์ตริมทะเลสาบ เมืองทองธานี ในวันที่ 28 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เที่ยงวัน ยาวไปจนถึงเที่ยงคืน
ซึ่งทาง What The Duck บอกว่า ตั้งใจทำให้งานคอนเสิร์ตนี้ เป็นงานรวมตัวของเพื่อน ๆ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ
และแฟนคลับของศิลปินในค่าย What The Duck ที่คอยสนับสนุนค่ายมาตั้งแต่วันแรก
และเพื่อเป็นการขอบคุณทุกคนที่สนับสนุน และอยู่กับ What The Duck มาจนถึงปีที่ 9
ภายในงานจึงมีการทำสินค้าคอลเลกชันพิเศษ ที่มีขายเฉพาะในงานให้กับแฟน ๆ ที่มาร่วมสนุกในงานด้วย
เช่น ไอศกรีม Molto รสชาติเพลงดังของศิลปินในค่าย
หรือเคสโทรศัพท์ AppleSheep คอลเลกชันค่ายเพลง What The Duck
ใครสนใจงานนี้ ลองกดเข้าไปดูรายละเอียดแบบเต็ม ๆ และซื้อบัตรได้ตามลิงก์นี้ https://www.eventpop.me/s/family-friends-party
แล้วนอกจากเรื่องคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้แล้ว
What The Duck มีแผนอะไรที่จะทำให้ธุรกิจค่ายเพลงเติบโตขึ้นอีกบ้าง ?
คุณมอยตอบว่า
“What The Duck ก็คงจะเติบโตขึ้นในแบบของตัวเอง เหมือนที่เป็นอย่างในทุกวันนี้ เรายังคงเป็นพื้นที่อิสระให้ศิลปินได้ปล่อยผลงานในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง นี่คือ DNA ที่จะติดตัวไปตลอด
และในอีก 5 ปี ข้างหน้า เราไม่ได้อยากเป็นแค่ค่ายเพลงในไทย แต่เราอยากเป็นค่ายเพลงในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สุดท้ายแล้ว ถ้าลองสมมติว่า What The Duck เป็นคนคนหนึ่ง จะเป็นคนแบบไหน ?
“เราก็คงจะตอบได้ว่า เราเป็นเด็กศิลป์-คำนวณ ที่ทำธุรกิจแบบ Fact and Feel มีความเป็นตัวเอง แต่ก็ยังเคารพคนอื่น และเรากล้าที่จะสร้างอะไรใหม่ ๆ ให้กับวงการเพลงอยู่ตลอดเวลา..”
Reference
-สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณมอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์​ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง What The Duck
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.