เอส แอนด์ พี เริ่มจากขายไอศกรีม ทำร้านอาหาร แล้วมาขาย เบเกอรี

เอส แอนด์ พี เริ่มจากขายไอศกรีม ทำร้านอาหาร แล้วมาขาย เบเกอรี

11 เม.ย. 2023
เอส แอนด์ พี เริ่มจากขายไอศกรีม ทำร้านอาหาร แล้วมาขาย เบเกอรี | BrandCase
หลายคนน่าจะรู้จัก เอส แอนด์ พี แบรนด์ร้านอาหารชื่อดังเจ้าหนึ่งในไทย
รู้ไหมว่า จุดเริ่มต้นของ เอส แอนด์ พี มาจากร้านไอศกรีมเล็ก ๆ
และแม้ภาพลักษณ์จะดูเป็นแบรนด์ร้านอาหาร
แต่ เอส แอนด์ พี มียอดขายเบเกอรีและขนมปัง มากกว่ายอดขายอาหารเสียอีก
เรื่องราวของร้าน เอส แอนด์ พี นี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะมาเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ เอส แอนด์ พี เริ่มต้นจากร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ในซอยประสานมิตร โดยคุณภัทรา ศิลาอ่อน
ในอดีต ครอบครัวของคุณภัทราทำธุรกิจโรงแรมอยู่ จนต่อมาโรงแรมปิดตัวลง
และด้วยความที่ภายในโรงแรมยังมีมีอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวของโรงแรมเหลืออยู่เยอะ คุณภัทราจึงเกิดความคิดที่จะนำมาทำไอศกรีมขาย
แต่ทำไปได้สักพัก เธอมองว่า การขายไอศกรีมเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะสร้างรายได้ให้ธุรกิจเยอะเท่าไร
คุณภัทราจึงเริ่มเพิ่มเมนูอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น
โดยเมนูเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นเมนูที่เธอไปทานจากร้านอาหารอื่น ๆ มา แล้วรู้สึกติดใจ จึงอยากมาทำให้ลูกค้าทาน ทั้งยังมีการปรับปรุงร้านให้ทันสมัย และติดเครื่องปรับอากาศภายในร้าน
ด้วยความที่ราคาอาหารในร้านของคุณภัทรา ราคาไม่สูงมาก ทำให้ลูกค้าหลายรายเริ่มรู้จัก และแวะเวียนมาใช้บริการเรื่อย ๆ
จากร้านอาหารที่เป็นเพียงคูหาเล็ก ๆ เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น คุณภัทราก็เริ่มขยับขยายร้าน จนมีการไปเปิดร้านเอส แอนด์ พี แห่งที่ 2 ที่ย่านสยามสแควร์ ในปี 2523
ก่อนที่จะเข้าไปเปิดอีกสาขาในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในเวลาต่อมา
ที่น่าสนใจคือ นอกจากการทำธุรกิจอาหารแล้ว คุณภัทรายังได้ขยายมาสู่ธุรกิจร้านเบเกอรี เพราะเล็งเห็นว่า เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคต
มีการนำกลยุทธ์การผลิตเค้กแต่งหน้าตามที่ลูกค้าสั่งมาใช้ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่เรียกความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจของบริษัทค่อย ๆ เติบโต จนกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
จนกระทั่งในปี 2532 บริษัทก็เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 9,000 ล้านบาท ในวันนี้
1 ปีหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอส แอนด์ พี ก็ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
โดยเข้าไปเปิดร้านอาหารไทยแห่งแรกที่ประเทศอังกฤษ ภายใต้ชื่อร้าน “ภัทรา” หรือ “Patara Fine Thai Cuisine” ตามชื่อของคุณภัทรา ผู้ก่อตั้ง
ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยร้านอาหารไทยภัทรา ที่ประเทศอังกฤษนั้น มีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 6 สาขา รวมทั้งยังเปิดอยู่ที่ออสเตรีย อีก 1 สาขา
ปัจจุบัน ร้านทั้งหมดของ เอส แอนด์ พี มีสาขารวมกันทั้งหมด 470 สาขา แบ่งเป็น
-สาขาในประเทศ จำนวน 458 สาขา
-สาขาต่างประเทศ จำนวน 12 สาขา
โดยสาขาที่อยู่ต่างประเทศนั้น กระจายอยู่ในประเทศอังกฤษ ออสเตรีย และกัมพูชา
ในปี 2565 สัดส่วนรายได้ของ เอส แอนด์ พี มาจาก
-ธุรกิจเบเกอรี 53%
-ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ 28%
-ธุรกิจอาหารในต่างประเทศ 5%
-อื่น ๆ 14%
จากข้อมูลจะพบว่า ปัจจุบัน แม้ภาพลักษณ์ของ เอส แอนด์ พี จะดูเป็นแบรนด์ร้านอาหาร แต่รายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทนั้น เกิดจากธุรกิจเบเกอรี
โดยผลประกอบการของ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
ปี 2564 รายได้ 4,913 ล้านบาท กำไร 340 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 5,793 ล้านบาท กำไร 460 ล้านบาท
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ใครจะไปคิดว่า มาวันนี้ เอส แอนด์ พี เติบโตจนกลายเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่หลายคนรู้จัก
ทั้งยังขยายธุรกิจไปไกลถึงต่างประเทศ
และนี่คือเรื่องราวของ เอส แอนด์ พี ในบางแง่มุม ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน..
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565, บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/SNP/financial-statement/company-highlights
-https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/383251
-https://nuaijuju.wordpress.com/ประวัติความเป็นมาsp/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.